SCG ชูนวัตกรรมไอที 3D ผุด ‘หนุมานนิมิตกาย’ ป้องปะการังใต้ทะเล

เอสซีจี พร้อมพันธมิตร ร่วมกันสร้างนวัตกรรมในการช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเล ภายใต้โครงการ “มหัศจรรย์ประติมากรรมใต้ท้องทะเล” “หนุมานนิมิตกาย” บ้านปะการังใต้สมุทร ด้วยเทคโนโลยีจาก SCG 3D Printing

ครั้งแรกของการถ่ายทอดแนวคิดจากวรรณคดีไทยสู่ชิ้นงานประติมากรรมชิ้นเอก “หนุมานนิมิตกาย” เป็นเหมือนบ้านปะการัง ขนาดกว้าง 19.5 เมตร ยาว 20.5 เมตร สูง 6.4 เมตร พาวิลเลียนใต้ท้องสมุทร ขึ้นรูปด้วยเทคโนโลยี SCG 3D Printing เพื่อเป็นวัสดุฐานลงเกาะของตัวอ่อนปะการัง โดยผลงานชิ้นนี้ จัดแสดงที่สี่แยกธนาคารชาร์เตอร์ด จ.ภูเก็ต ตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม – 5 เมษายน 2568 เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ชื่นชมความงดงาม สร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ก่อนนำลงติดตั้งที่อ่าวสยาม เกาะราชา แหล่งเพาะพันธุ์ปะการังและสัตว์น้ำ อีกทั้งยังกลายเป็นแลนด์มาร์กใต้ทะเลแห่งใหม่ให้นักดำน้ำและผู้หลงใหลในธรรมชาติได้สัมผัสความมหัศจรรย์ของศิลปะที่ผสานเทคโนโลยีล้ำสมัย ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลของไทย

นางสาวกัลยา วรุณโณ New Business Development & Growth Director ธุรกิจซีเมนต์และกรีนโซลูชันส์ ในเอสซีจี เผยว่า “ที่ผ่านมา เอสซีจี เรามีความมุ่งมั่นฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลมาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้โครงการ “รักษ์ทะเล” ซึ่งครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่เอสซีจี ได้รับโจทย์ให้ถ่ายทอดแนวคิดวรรณคดีไทยสู่ประติมากรรมชิ้นเอก “หนุมานนิมิตกาย” ตัวละครในวรรณคดีอันทรงคุณค่าซึ่งเป็นที่กล่าวขานไปทั่วโลกโดยเริ่มต้นออกแบบด้วยเทคโนโลยี SCG 3D Printing และพิมพ์ขึ้นรูปด้วยปูนมอร์ตาร์ สูตร Low Carbonลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO 2 ) ได้ถึง 1,040 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ เอสซีจี ได้มีการศึกษาร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งและสถาบันการศึกษาทางวิชาการ มีผลการศึกษาเชิงประจักษ์ที่พิสูจน์ได้ว่าเทคโนโลยี 3D Printing จาก เอสซีจี เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเล และช่วยเอื้อต่อการลงเกาะของตัวอ่อนปะการังได้จริง”

จุดเด่นของเทคโนโลยี SCG 3D Printing ที่นอกจากจะเป็นนวัตกรรมก่อสร้างที่สามารถออกแบบทุกชิ้นงานที่มีความยากและซับซ้อน ผ่านรูปทรงและเส้นสายความโค้งได้อย่างอิสระแล้ว ยังเป็นส่วนสำคัญในการช่วยฟื้นฟูทะเลไทย ผ่านการออกแบบที่เกิดขึ้นจากการวิจัยและพัฒนาการขึ้นรูปชิ้นงาน 3 มิติ โดยสามารถปรับแต่งแสงและเงาให้เข้ากับพื้นที่ รองรับการเติบโตของปะการังแต่ละสายพันธุ์ได้อย่างเหมาะสม รวมถึงพัฒนาคุณสมบัติโดยเฉพาะหินปูนในเนื้อปูนซีเมนต์ให้มีค่าความเป็นกรดด่างใกล้เคียงกับค่าของน้ำทะเล ซึ่งมีความแข็งแรง ทนทาน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มประสิทธิภาพการลงเกาะและการเติบโตของตัวอ่อนปะการัง เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง จึงเป็นที่มาของการต่อยอดนวัตกรรม ที่ผนึกความร่วมมือ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน นำโดย สมาคมศิลป์ภูเก็จ,กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต และสโมสรโรตารีเหมืองแร่ภูเก็ต ในการขยายต่อโครงการฟื้นฟูปะการังผ่านเรื่องราว จากวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ ภายใต้ชื่อ “รายา” เพื่อบูรณาการศิลปะให้เข้ากับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล พร้อมส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์อย่างยั่งยืน โดยมอบหมายให้ เอสซีจี เป็นผู้ผลิตชิ้นงาน “ทศกัณฑ์” ต่อจาก “หนุมานนิมิตกาย” ที่นับเป็นประตูเปิดทางในการขับเคลื่อนเมืองแห่งศิลปวัฒนธรรม ภูเก็ต โดยคาดว่าจะเสร็จภายในปี 2025 นี้.