ภาคเอกชน ยัน! พร้อมทำงานทุกขั้ว วอน เพื่อไทย เร่งจัดตั้งรัฐบาล
ประธานสภาหอการค้าไทย แจงพร้อมทำงานกับทุกขั้ว วอนตั้งรัฐบาลใหม่เร็วที่สุด หวั่นยืดเยื้อกระทบเศรษฐกิจ ทุบท่องเที่ยว กางภารกิจเร่งด่วนติดเครื่องจัดทำงบประมาณ-มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจดึงลงทุนใน-นอกประเทศ
วันที่ 5 ส.ค. 2566 นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญเลื่อนการพิจารณาคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ขอให้พิจารณากรณีรัฐสภามีมติไม่เห็นชอบกับการเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ และกำหนดวันนัดพิจารณาคำร้องในวันที่ 16 ส.ค. จากเดิมวันที่ 3 ส.ค. ว่า ประเด็นดังกล่าวถือเป็นเรื่องสำคัญและเป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ทำให้ศาลต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญ โดยการเลือกนายกรัฐมนตรี และการฟอร์มคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ ยังอยู่ในช่วงเวลาที่เคยประเมินไว้ ซึ่งยังไม่ถือว่าล่าช้าจนเกินไป
ทั้งนี้ หากศาลมีคำสั่งว่ากรณีดังกล่าวไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เชื่อว่าหลังจากนั้น รัฐสภาคงจะดำเนินการให้มีการเลือกนายกรัฐมนตรีโดยเร็วที่สุดต่อไป ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าอาจจะเป็นวันที่ 17-18 ส.ค. 2566ดังนั้นอาจจะได้ ครม.ชุดใหม่ ช่วงปลายเดือน ส.ค.- กลางเดือน ก.ย. หากไทม์ไลน์เป็นเช่นนี้ ภารกิจเร่งด่วนของรัฐบาลชุดใหม่ คงจะต้องเร่งจัดทำงบประมาณประเทศ รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อดึงกำลังซื้อและความเชื่อมั่นจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ
ส่วนกรณีหากศาลมีคำสั่งว่าการดำเนินการของรัฐสภาขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ก็คงต้องรอความชัดเจนว่า จะส่งผลให้การเลือกนายกรัฐมนตรีจะมีทิศทางเป็นอย่างไร และมีช่วงเวลานานมากน้อยแค่ไหน ซึ่งต้องมาประเมินสถานการณ์กันอีกครั้ง แต่เชื่อมั่นว่าศาลจะมีการพิจารณาประเด็นต่าง ๆ ด้วยความรอบคอบและรวดเร็วที่สุด เพราะการมีรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศเร็ว เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นมากในสถานการณ์เช่นนี้
สำหรับกรณีที่พรรคเพื่อไทย (พท.) จะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเองนั้น นายสนั่น มองว่า ส่วนนี้เป็นหน้าที่ของพรรคการเมืองที่จะต้องดำเนินกระบวนการตามกรอบของกฎหมายและรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ และหาก พท. เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลจนสำเร็จ ก็เชื่อว่าน่าจะสามารถเร่งดำเนินนโยบายที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจได้ทันที เพราะ พท. เคยมีประสบการณ์ในด้านการบริหารประเทศมาก่อนหน้านี้ และหลายนโยบายในสมัยที่เป็นรัฐบาลก็สามารถดำเนินการจนประสบความสำเร็จ
อย่างไรก็ดี ในส่วนประเด็นความเห็นต่างและการชุมนุมที่เกิดขึ้น ถือเป็นสิทธิของประชาชนที่จะแสดงออกตามระบอบประชาธิปไตย โดยหากไม่มีการชุมชนที่ยืดเยื้อ หรือสถานการณ์ที่รุนแรง ก็เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว
“ภาคเอกชนนั้น ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาลก็พร้อมทำงานร่วมกัน โดยที่ผ่านมาได้ส่งสัญญาณต่อเนื่องว่า สิ่งสำคัญคือการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ให้เร็วที่สุด เพราะยิ่งล่าช้ายิ่งไม่เป็นผลดีต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจประเทศ” ประธานสภาหอการค้าไทย กล่าว.