บิ๊ก’เอสซีจี ชี้! เศรษฐกิจโลกผันผวน กระทบเอกชน จี้ทุกฝ่ายเร่งรับมือปัญหา ‘ดบ.ขาขึ้น – ภัยแล้ง – PM 2.5’

 “รุ่งโรจน์  รังสิโยภาส” ระบุ! เศรษฐกิจโลก ตั้งแต่สหรัฐ อียู ยันชาติอาเซียน ตกอยู่ในภาวะผันผวน จากภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น เป็นเหตุให้รัฐบาลหลายประเทศ เร่งปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยหวังสะกดเงินเฟ้อ แต่ฉุดอำนาจซื้อและหลายธุรกิจทรุดตาม โดยเฉพาะกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ อาจสะเทือนเป้าเติบโตของยอดขาย 10% ในปีนี้ เผย! 3 ปัจจัยเสี่ยง “ดบ.ขาขึ้น – ภัยแล้ง – ฝุ่น PM 2.5” เป็นเรื่องที่ภาครัฐและเอกชน รวมถึงเกษตรกรต้องวางแผนรับมือในช่วง 2-3 ปีนับจากนี้

นายรุ่งโรจน์  รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวถึง แนวโน้มสถานการณ์เศรษฐกิจของโลกในปี 2566 ว่า จะยังคงผันผวนจากหลายปัญหาที่ประเทศยักษ์ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา กลุ่มยุโรป (อียู) รวมถึงกลุ่มประเทศอาเซียน ที่ต่างต้องประสบกับปัญหาเงินเฟ้อ ทำให้ธนาคารกลางของหลายประเทศจำต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ส่งผลกระทบต่อภาระหนี้ของหลายธุรกิจ รวมถึงลดกำลังซื้อของประชาชนลง ทั้งนี้ ปัญหาอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงสินค้าที่เกี่ยวกับวัสดุก่อสร้างและสินค้าต่อเนื่องอื่นๆ ซึ่งกว่าร้อยละ 40 นั้น กลุ่มเอสซีจีได้เข้าไปลงทุนในต่างประเทศ และได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าวตามไปด้วย

ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจของไทย ตนเชื่อว่า ยังมีการขยายตัวในอัตราที่น่าพอใจ โดยได้รับประโยชน์จากการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งไตรมาสแรกของปีนี้ พบว่ามีมากกว่า 6 ล้านคนที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย คาดว่าทั้งปี น่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 25 ล้านคน เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยตามที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดหวังไว้

อย่างไรก็ตาม กลุ่มเอสซีจียังมีข้อกังวลเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นตามมา ทั้งในระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว ในช่วง 2-3 ปีนับจากนี้ โดยเฉพาะ ความเสี่ยงด้านราคาพลังงาน ที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และจะไปเพิ่มต้นทุนการดำเนินงานและการผลิต รวมถึงค่าไฟฟ้าซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิตของหลายๆ อุตสาหกรรม

รวมถึงข้อกังวลในเรื่อง ภัยแล้งที่จะนำปัญหาการขาดแคลนน้ำ ทั้งในภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมการผลิตตามมาได้ ทั้งนี้ แม้ปริมาณน้ำสำรองของไทยจะมีใช้จนถึงต้นปีหน้า แต่จากภาวะที่โลกกำลังประสบปัญหาเอลนิญโญ่ที่จะมีต่อเนื่องจากนี้ไปอีก 2-3 ปี ทำให้เกิดความกังวัลใจในปัญหาการขาดแคลนน้ำ ดังนั้น ทุกฝ่ายจึงต้องเตรียมการรับมือตั้งแต่วันนี้ไป ซึ่งในส่วนของเอสซีจีเองได้ปรับตัวและปรับปรุงระบบการใช้น้ำเพื่อการผลิตในหลายอุตสาหกรรมแล้ว จึงอยากให้ผู้ประกอบการรายอื่นๆ ทั้งรายเล็ก กลางและใหญ่ รวมถึงภาคการเกษตรที่จะต้องใช้น้ำเพื่อการผลิตฯ ต้องวางแผนรับมือเสียแต่เนิ่นๆ ในส่วนของภาครัฐก็เช่นกัน ควรจะวางแผนจัดการตั้งแต่บัดนี้เป็นไปต้น

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นปัญหา ฝุ่น PM 2.5 ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องให้ต้องเป็นห่วง เพราะหากปัญหาฝุ่นฯยังคงมีอยู่ อาจกระทบต่อการตัดสินใจเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยของนักท่องเที่ยวต่างชาติ กระทั่ง อาจส่งผลกระทบต่อคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวของไทยในปีนี้ได้

“ไตรมาสแรกของปีนี้ กลุ่มเอสซีจีมีกำไร 4,516 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนถึง 3,446 ล้านบาท จากยอดขายที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มธุรกิจ ส่วนหนึ่งได้รับผลพวงมากจากภาวะเศรษฐกิจของไทยที่ยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง หลังธุรกิจท่องเที่ยวกลับมาบูม ทำให้ธุรกิจต่อเนื่อง เช่น โรงแรม ที่พักอาศัย ร้านอาหาร ฯลฯ ต่างลงทุนเพื่อการปรับปรุงสถานที่ เป็นผลทำให้ยอดขายสินค้ามีเพิ่มขึ้น” นายรุ่งโรจน์ กล่าวและยอมรับว่า เป้าหมายเดิมที่คาดหวังจะเห็นการเติบโตของยอดขายรวมในปีนี้ราว 10% จากปัญหาเศรษฐกิจโลกและอาเซียน  ทำให้เอสซีจีต้องจับตาดูถึงผลการดำเนินงานอย่างใกล้ชิด โดยในช่วงครึ่งปีหลังนี้ จะทำการปรับประมาณการตัวเลขการเติบโตของกลุ่มบริษัทกันใหม่อีกครั้ง.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password