‘พาณิชย์’ ชี้! โอกาสไทยเจาะตลาด ‘ผู้สูงอายุจีน’ หลังวัย 60 อัพพุ่งเกิน 310 ล.คน มูลค่าตลาด 7 ลล.หยวน

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เผย! ผลสำรวจเทรนด์อุตสาหกรรมผู้สูงอายุในจีน มูลค่ากว่า 7 ล้านล้านหยวน ชี้! รัฐบาลรุกหนัก วางแผนดูแล ทั้งการเงินเพื่อการเกษียณ อสังหาริมทรัพย์เพื่อผู้สูงอายุ บริการดูแล ระบบสาธารณสุข เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อผู้สูงอายุรวม ถึงด้านไลฟ์สไตล์ ย้ำ! ไทยมีโอกาสขายสินค้าอาหาร อุปกรณ์ที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน ขยายตลาดบริการเพื่อผู้สูงอายุ ทั้งเข้าไปลงทุนและดึงมาใช้บริการในไทย

น.ส.สุนันทา กังวาลกุลกิจ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมฯมอบนโยบาย “ทูตพาณิชย์” ที่ประจำอยู่ในประเทศต่าง ๆ ทำการสำรวจลู่ทางการค้า และโอกาสการส่งออกสินค้าไทยไปยังประเทศที่ประจำอยู่ ตามนโยบาย นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ ล่าสุดได้รับรายงานจาก น.ส.นันท์นภัส งามแม้น ผอ.สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน สาธารณรัฐประชาชนจีน ถึงการสำรวจเทรนด์ในอุตสาหกรรมผู้สูงอายุของจีน ในปี 2025 และโอกาสในการขยายการส่งออกสินค้าสำหรับผู้สูงอายุ และบริการดูแลผู้สูงอายุ ทั้งการเข้าไปลงทุนให้บริการและการดึงให้ผู้สูงอายุเข้ามาใช้บริการในไทย
“ทูตพาณิชย์” รายงานว่า ประเทศจีนกำลังก้าวเข้าสู่ยุคสังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว โดยปี 2024 ประชากรจีนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีจำนวนถึง 310 ล้านคน คิดเป็น 22% ของประชากรทั้งหมด ขนาดของเศรษฐกิจมีมูลค่าทะลุ 7 ล้านล้านหยวน คิดเป็นประมาณ 6% ของ GDP ซึ่งกลายเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมบริการเพื่อผู้สูงอายุ ที่มีความหลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น ครอบคลุมตั้งแต่การเงิน อสังหาริมทรัพย์ เทคโนโลยีสุขภาพ ไปจนถึงวัฒนธรรมและกฎหมาย โดย อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสำหรับผู้สูงอายุ มีจำนวน 6 หมวด ได้แก่…
1.การเงินเพื่อการเกษียณ คือ หนึ่งในรากฐานหลักของระบบนิเวศเศรษฐกิจสีเงิน ซึ่งครอบคลุมผลิตภัณฑ์ประกันบำนาญ กองทุนบำนาญ และเงินออมประเภทต่าง ๆ โดยยังอยู่ในช่วงพัฒนา โดยเฉพาะบำนาญเสาหลักที่สาม (ภาคสมัครใจ) ที่รัฐผลักดันให้เกิดขึ้นเพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างมีเสถียรภาพ

2.อสังหาริมทรัพย์เพื่อผู้สูงอายุ ก็เริ่มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ผ่านการพัฒนาชุมชนและที่อยู่อาศัยเฉพาะกลุ่ม เช่น อพาร์ตเมนต์ดูแลสุขภาพ ชุมชนสูงวัย พร้อมบริการทางการแพทย์และกิจกรรมทางสังคมควบคู่
3.บริการดูแลผู้สูงอายุ ทั้งในบ้าน ชุมชน และแบบสถาบัน โดยมีรูปแบบบริการที่หลากหลาย ตั้งแต่พยาบาลเยี่ยมบ้าน การฟื้นฟูสมรรถภาพไปจนถึงบ้านพักคนชราเอกชน ซึ่งยังมีช่องว่างในการพัฒนาทั้งในด้านบุคลากร มาตรฐาน และระบบบริการ
4.การบูรณาการระหว่างบริการดูแลกับระบบสาธารณสุขเพื่อผู้สูงอายุ เริ่มกลายเป็นแนวโน้มใหม่ที่สำคัญ ผ่านโมเดลการดูแลสุขภาพแบบผสมผสาน (Medical-Elderly Integration) เพื่อรองรับความต้องการที่ซับซ้อนมากขึ้นของผู้สูงอายุในระยะยาว
5.เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อผู้สูงอายุ กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญ ทั้งในรูปแบบของการดูแลอัจฉริยะที่ใช้ IoT, AI และ Big Data เข้ามาเสริมในการติดตามสุขภาพและความปลอดภัย ตลอดจนตลาดอุปกรณ์ฟื้นฟูที่มีแนวโน้มพัฒนาไปสู่ผลิตภัณฑ์เฉพาะบุคคลและอัจฉริยะมากขึ้น
และ 6.ด้านไลฟ์สไตล์ อุตสาหกรรมท่องเที่ยว การศึกษา และวัฒนธรรมสำหรับผู้สูงอายุ ก็กำลังเติบโตอย่างน่าสนใจ ด้วยแนวโน้มผู้สูงอายุรุ่นใหม่ที่ยังคงแสวงหาความรู้ ความบันเทิง และคุณภาพชีวิตอย่างเต็มที่ จึงเกิดเป็นการออกแบบทัวร์พิเศษ มหาวิทยาลัยผู้สูงอายุ และกิจกรรมเชิงวัฒนธรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะกลุ่ม

นอกจากนี้ ยังมีบริการเฉพาะทางอื่น ๆ ที่มีบทบาทสำคัญ เช่น บริการอาหารเพื่อสุขภาพ บริการแม่บ้านสำหรับผู้สูงอายุ สื่อมวลชนเฉพาะกลุ่ม และการให้คำปรึกษาด้านกฎหมายที่มุ่งเน้นสิทธิของผู้สูงวัยโดยตรง แม้หลายภาคส่วนยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นหรือพัฒนา แต่ระบบการบริการผู้สูงอายุในจีนถือว่ากำลังขยายตัวอย่างชัดเจนและมีศักยภาพทางเศรษฐกิจมหาศาล ทั้งจากการสนับสนุนของภาครัฐ การลงทุนจากเอกชน และแรงขับจากความต้องการในสังคมที่เปลี่ยนไป โดยคาดว่าภายในปี 2035 ขนาดตลาดผู้สูงอายุ จะขยายตัวถึง 30 ล้านล้านหยวน และคิดเป็น 10% ของ GDP
น.ส.สุนันทา กล่าวอีกว่า จากเทรนด์ที่จีนกำลังเป็นสังคมผู้สูงอายุ ส่งผลให้ “เศรษฐกิจมีเงิน” กลายเป็นทั้งความท้าทายและโอกาสที่สำคัญยิ่งต่อทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในทศวรรษหน้า สิ่งที่น่าสนใจ คือ จีนไม่ได้มองเศรษฐกิจผู้สูงอายุเพียงแค่ในมิติของการดูแลเท่านั้น แต่กำลังผลักดันให้กลายเป็นกลไกเศรษฐกิจใหม่ ผ่านการพัฒนาอย่างเป็นระบบ แนวโน้มการขับเคลื่อนนี้ เห็นได้ชัดจากการสนับสนุนของภาครัฐ เช่น นโยบายระดับชาติ การบูรณาการ AI และเทคโนโลยีแห่งอนาคต ในการดูแลผู้สูงวัย แม้หลายส่วนยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้น คือ โครงสร้างพื้นฐาน ที่สร้างขึ้นมารองรับการเปลี่ยนแปลงของสังคมจีนในระยะยาว เศรษฐกิจผู้สูงอายุจึงไม่ใช่เพียงภาคบริการ แต่คือโครงสร้างยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจและสังคม ที่สามารถต่อยอดได้ทั้งในและนอกประเทศ โดยเฉพาะกับประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ที่กำลังเผชิญสังคมสูงวัยเช่นเดียวกัน
สำหรับไทย มีโอกาสในการผลักดันการส่งออกสินค้าที่ป้อนความต้องการผู้สูงอายุ ทั้งอาหาร อุปกรณ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น เตียง เก้าอี้ ที่ช่วยพยุงตัว รถเข็นวิลแชร์ เป็นต้น และบริการด้านสุขภาพ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ธุรกิจความงาม ซึ่งไทยมีโอกาสทั้งการเข้าไปลงทุน และดึงดูดผู้สูงอายุให้เข้ามาใช้บริการในไทย
ผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th หรือสายตรงการค้าระหว่างประเทศ โทร 1169.
