กรมพัฒนาธุรกิจฯ หนุนแฟรนไชส์สู่แหล่งสร้างงาน/อาชีพ/รายได้ แนะศึกษาเลือกดีลธุรกิจอิงธรรมาภิบาล

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า หนุนธุรกิจแฟรนไชส์ ดันเป็นแหล่งสร้างงาน สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ พร้อมส่งเสริม “นักลงทุนหน้าใหม่” เข้าสู่ธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ชี้! หัวใจสำคัญต้องยึดธรรมาภิบาล เตือนประชาชน!! ก่อนตัดสินใจลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์ ต้องศึกษารายละเอียดอย่างรอบคอบ เผย! เช็คแฟรนไชส์มาตรฐานเครือข่ายกรมฯ มีให้เลือก 545 แบรนด์

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า แฟรนไชส์เป็นธุรกิจเป้าหมายของรัฐบาลที่ รมว.พาณิชย์ (นายพิชัย นริพทะพันธุ์) และ รมช.พาณิชย์ (นายนภินทร ศรีสรรพางค์) ให้ความสำคัญเป็นลำดับต้น และได้มอบแนวทางปฏิบัติให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าดำเนินงานเพื่อสร้างความเข้มแข็งและขยายโอกาสทางธุรกิจด้วยการส่งเสริมให้นักลงทุนและประชาชนใช้เป็นทางเลือกนำไปลงทุนประกอบธุรกิจเพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ สร้างความเข้มแข็งต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

โดย “แฟรนไชส์” เป็นธุรกิจสำเร็จรูปที่ช่วยให้นักลงทุนหน้าใหม่ก้าวสู่ความสำเร็จได้ไม่ยาก ไม่จำเป็นต้องลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง มีพี่เลี้ยงคอยให้คำปรึกษาแนะนำตลอดระยะเวลาการประกอบธุรกิจ สามารถเลือกลงทุนได้ตามความถนัด/ความชอบ ธุรกิจมีให้เลือกลงทุนหลากหลายขนาดตั้งแต่หลักพันจนถึงหลักล้านบาท ด้วยความที่แฟรนไชส์เป็นระบบที่มีจุดแข็งและผู้สนใจมักจะคิดถึงแฟรนไชส์เป็นลำดับต้นๆ ในการเลือกลงทุนประกอบธุรกิจ ทำให้มีผู้ไม่หวังดีนำระบบแฟรนไชส์ไปหลอกลวงนักลงทุน/ประชาชนให้หลงเชื่อและนำเงินมาร่วมลงทุนในธุรกิจ

“ขอเตือนนักลงทุนและประชาชนที่ต้องการสร้างงาน สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ ผ่านระบบแฟรนไชส์ ต้องศึกษารายละเอียดของธุรกิจให้ดีก่อนการตัดสินใจลงทุน ควรตรวจสอบความมีตัวตนของธุรกิจว่ามีอยู่จริง มีความน่าเชื่อถือ รวมทั้งไม่หลงเชื่อคำโฆษณาหรือคำชวนเชื่อของคู่ค้าเรื่องผลประโยชน์/ผลตอบแทนที่สูงเกินจริง โดยต้องพิจารณาโอกาสความเป็นไปได้ของผลประโยชน์ที่จะได้รับอย่างรอบคอบที่สุด ทั้งนี้ กรมฯ สนับสนุนให้ทุกธุรกิจประกอบกิจการอย่างมีธรรมาภิบาล ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน ยืนอยู่บนเวทีธุรกิจด้วยความสง่างาม เป็นที่เชื่อถือเชื่อมั่นต่อผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้ที่กำลังตัดสินใจร่วมลงทุนด้วยในอนาคต ส่งผลดีต่อธุรกิจในระยะยาว” อธิบดีฯอรมน กล่าว
สำหรับ นักลงทุนและประชาชนที่สนใจลงทุนในระบบแฟรนไชส์ สามารถค้นหาธุรกิจแฟรนไชส์ในเครือข่ายของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าที่ผ่านการพัฒนาจากกรมฯ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 545 แบรนด์ ที่พร้อมให้นักลงทุนและประชาชนที่สนใจสร้างอาชีพเลือกลงทุนได้ตามความชอบ ได้ทาง https://franchise.dbd.go.th/th หรือขอคำปรึกษาได้ที่ ส่วนส่งเสริมธุรกิจเฟรนไชส์ กองส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ สายด่วน 1570 โทรศัพท์หมายเลข 0 2547 5953 e-Mail: franchisedbd@gmail.com

ทั้งนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้าให้การส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจแฟรนไชส์มาอย่างต่อเนื่อง โดยการให้ความรู้เพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถประกอบกิจการได้อย่างมั่นคงราบรื่น แบ่งออกเป็น 2 กิจกรรม 2 ระดับ คือ
1) กิจกรรม สัมมนาเชิงปฏิบัติการ ‘การบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์ (B2B Franchise)’ หลักสูตรนี้สร้างให้ผู้ประกอบธุรกิจมีความรู้สามารถเริ่มต้นธุรกิจแฟรนไชส์ได้อย่างถูกต้อง สามารถนำระบบแฟรนไชส์ไปขยายธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ พัฒนาศักยภาพองค์กร ขยายโอกาสทางการตลาดธุรกิจในระบบแฟรนไชส์ได้อย่างกว้างขวางและเกิดความเข้มแข็ง ผ่านหลักสูตร 4 Module คือ 1.1) การบริหารจัดการธุรกิจ 1.2) การวางแผนกลยุทธ์ธุรกิจ 1.3) กลยุทธ์ทางการตลาดธุรกิจ และ 1.4) การสร้างคู่มือ แผนธุรกิจ และสัญญาแฟรนไชส์ เมื่อจบหลักสูตรแล้วธุรกิจจะมีคู่มือปฏิบัติงานแฟรนไชส์ (Operation Manual) พัฒนาร้านค้าต้นแบบและมีกลยุทธ์ที่เหมาะสมกับธุรกิจของตนเองเพื่อใช้ในการขยายสาขาต่อไป ซึ่งรุ่นที่ 28 ประจำปี 2568 ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว จะเปิดรับสมัครรุ่นต่อไปอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน 2568

2) กิจกรรม ‘ยกระดับธุรกิจสู่เกณฑ์มาตรฐานคุณภาพการบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์ (Franchise Standard)’ โดยจะมีผู้เชี่ยวชาญด้านแฟรนไชส์ลงพื้นที่ให้คำปรึกษา ณ สถานประกอบการในลักษณะ On the job Training ในการพัฒนาธุรกิจเข้าสู่เกณฑ์มาตรฐานคุณภาพที่กรมฯ จัดทำขึ้นตามระบบ Thailand Quality Award (TQA) และตามแนวทางมาตรฐานคุณภาพแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (Malcolm Baldrige National Quality Award – MBNQA) ซึ่งเป็นที่ยอมรับและมีการนำไปใช้กว่า 70 ประเทศทั่วโลก ก่อนเข้ารับการตรวจประเมิน 7 ด้าน คือ…
1) การนำองค์กร ผู้บริหารสามารถสร้างความสำเร็จในธุรกิจ มีจริยธรรม มีความรับผิดชอบต่อกฎหมาย และต้องตอบแทนสังคม
2) กลยุทธ์ มีการจัดทำกลยุทธ์ให้ธุรกิจนำไปปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีตัวชี้วัดที่ชัดเจน
3) ลูกค้าและแฟรนไชส์ซี การสร้างความผูกพันกับลูกค้าและแฟรนไชส์ซี พร้อมตอบสนองต่อความต้องการและความคาดหวังของลูกค้าอย่างเหมาะสม

4) การวัด วิเคราะห์ และจัดการความรู้ มีการใช้ข้อมูลสารสนเทศเพื่อติดตามการปฏิบัติงานประจำวันและผลการดำเนินงานโดยรวมขององค์กร พร้อมให้เกิดวัฒนธรรมของการเรียนรู้และการบริหารจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ ตลอดจนการใช้ผลที่ได้เพื่อการทบทวนและปรับปรุงการดำเนินงานของกิจการ
5) บุคลากร มีสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดี มีความผูกพันในองค์กร
6) การปฏิบัติการ ประเมินจากการออกแบบการดำเนินงาน การปรับปรุงพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ กระบวนการทำงาน การจัดทำคู่มือและวิธีการบริหารจัดการต่างๆ
และ 7) ผลลัพธ์ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานของกิจการ เป็นสิ่งสะท้อนถึงประสิทธิภาพในด้านที่สำคัญของกิจการ โดยประเมินผลด้วยการเปรียบเทียบ พิจารณาแนวโน้มและการวัดเชิงบูรณาการ โดยผู้ผ่านเกณฑ์การประเมินฯ จะได้รับประกาศนียบัตรพร้อมเครื่องหมาย Franchise Standard การันตีคุณภาพธุรกิจ โดยกรมฯ ได้มีการพัฒนาและทบทวนเกณฑ์มาตรฐานฯ ทุก 2 ปี เพื่อให้เกณฑ์มาตรฐานการบริหารจัดการและกระบวนการตรวจประเมินมีมาตรฐานเทียบเคียงระดับสากล จะมีการเปิดตัวกิจกรรมในวันที่ 19 พฤษภาคม 2568 ซึ่งปีนี้กรมฯ เน้นให้ความสำคัญกับการสร้างแฟรนไชส์ไทยให้มีมาตรฐาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับสากล โดยมีเป้าหมายรับสมัครแบรนด์แฟรนไชส์เข้าร่วมกิจกรรมเพิ่มขึ้นมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา

อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ย้ำว่า นอกจากการให้ความรู้กับผู้ขายแฟรนไชส์หรือแฟรนไชส์ซอร์แล้ว กรมฯ ยังให้ความรู้แก่ผู้ต้องการลงทุนหรือผู้ซื้อแฟรนไชส์ (Franchisee) อีกด้วย ซึ่งจะดำเนินการอบรมในวันที่ 14 พ.ค.2568 ภายในงานมีผู้เชี่ยวชาญด้านแฟรนไชส์ ประกอบกับแฟรนไชส์แบรนด์ดังมาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ เพื่อสร้างให้แฟรนไชส์ซีรุ่นใหม่สามารถเริ่มต้นสร้างธุรกิจด้วยแฟรนไชส์อย่างถูกต้อง ขณะนี้กำลังเปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการ โดยสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.dbd.go.th หัวข้อข่าวประชาสัมพันธ์ และหัวข้ออบรมสัมมนา
ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 4 เมษายน 2568) มีธุรกิจที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพการบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์ (Franchise Standard) จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า จำนวน 545 ราย แบ่งเป็น 5 ประเภทธุรกิจ คือ อาหาร 248 ราย เครื่องดื่ม 106 ราย การศึกษา 68 ราย บริการ 66 ราย ค้าปลีก 33 ราย ความงามและสปา 24 ราย ผู้สนใจสามารถเลือกลงทุนได้ตามความชอบและเงินลงทุนที่มี
“สุดท้ายกรมฯ ขอเตือนว่า การลงทุนทุกประเภทมีความเสี่ยง ขอให้ผู้ลงทุนศึกษารูปแบบและรายละเอียดธุรกิจที่จะลงทุนอย่างละเอียดรอบคอบ เตรียมตัวเองให้พร้อมก่อนเข้าสู่แวดวงธุรกิจ แล้วความสำเร็จที่หวังไว้ก็จะอยู่ใกล้แค่เอื้อม” อธิบดีฯอรมน กล่าวทิ้งท้าย
#SuperDBD #กรมพัฒนาธุรกิจการค้า #กระทรวงพาณิชย์.