พาณิชย์ สำรวจ ธุรกิจส่งออกผักผลไม้ สินค้าทะเลแช่แข็ง สร้างรายได้เฉียด4หมื่นล้าน Q1ปี65

พาณิชย์ เผยภาพรวมธุรกิจส่งออก ผัก ผลไม้ และ อาหารทะเลแช่งแข็ง มีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง ไตรมาสแรกของปี65 มีมูลค่า 3.82 หมื่นล้านบาท

นายสินิตย์ เลิศไกร รมช.พาณิชย์ กล่าวถึงธุรกิจการส่งออกผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ และอาหารทะเลแช่แข็ง ของไทยในช่วงปี 2563-2564 มีมูลค่า 2.10 แสนล้านบาทและ 2.78 แสนล้านบาท ตามลำดับรวมทั้ง ไตรมาสแรกของปี 2565 (มกราคม -มีนาคม) มีมูลค่า 3.82 หมื่นล้านบาท โดยตัวเลขการส่งออกสินค้าดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้น ช่วยผลักดันให้ธุรกิจขนส่งและคลังสินค้าแช่แข็งของไทยเติบโตขึ้นตามไปด้วย โดยภาพรวมมีรายได้สูงขึ้นเกิน 1 หมื่นล้านบาท ต่อเนื่องกัน 3 ปี คือ ปี 2561 มีรายได้รวม 1.04 หมื่นล้านบาท (กำไรสุทธิ 5.88 ร้อยล้านบาท) ปี 2562 จำนวน 1.19 หมื่นล้านบาท (เพิ่มขึ้น 14.76%) (กำไรสุทธิ 6.09 ร้อยล้านบาท) และ ปี 2563 จำนวน 1.25 หมื่นล้านบาท (เพิ่มขึ้น 4.53%) (กำไรสุทธิ 7.98ร้อยล้านบาท)

ปัจจุบัน ข้อมูล ณ วันที่ 30 เมษายน 2565 มีธุรกิจขนส่งและคลังสินค้าแช่แข็งที่ดำเนินกิจการอยู่ จำนวนทั้งสิ้น 376 ราย คิดเป็น 0.05% ของธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินการอยู่ มูลค่าทุน 1.18 หมื่นล้านบาทคิดเป็น 0.06% ของธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินการอยู่ในประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดเล็ก (S) มากที่สุด จำนวน 322 ราย(85.63%) ธุรกิจขนาดกลาง (M) จำนวน 48 ราย (12.77%) และธุรกิจขนาดใหญ่ (L) จำนวน 6 ราย (1.60%)

ธุรกิจขนส่งและคลังสินค้าแช่แข็ง ถือเป็นหนึ่งในธุรกิจที่เติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นผลมาจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป การทำงานที่บ้าน (Work from Home) ส่งผลให้ผู้บริโภคหันมาเลือกซื้ออาหารแช่แข็งเพื่อนำไปปรุงอาหารรับประทานที่บ้านมากขึ้น เนื่องจากสะดวก สามารถเก็บรักษาได้นาน และลดความเสี่ยงจากการไปซื้อของสดในพื้นที่แออัด อีกทั้งผู้ประกอบการหลายรายหันมาออกผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง หรืออาหารแช่แข็งพร้อมทานมากขึ้น เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป สะท้อนให้เห็นถึงโอกาส ความท้าทาย และความต้องการบริการในด้านการขนส่งและคลังสินค้าแช่แข็ง

อย่างไรก็ตามขอเตือนผู้ประกอบการในธุรกิจว่าต้องมีการควบคุมอุณหภูมิ กลิ่นปนเปื้อน และรักษาสภาพของสินค้าให้อยู่สภาพดีเมื่อส่งถึงมือผู้บริโภค รวมถึงรักษามาตรฐานคุณภาพการบริการที่ดีให้คงที่หรือดียิ่งขึ้นไป จะเป็นการช่วยสร้างฐานความมั่นคงและเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจได้ในระยะยาว.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password