‘อาคม’ อ้าแขนรับโตโยต้า หนุนแผนดันไทยขึ้นแท่นศก.ผลิต EV อาเซียน

“อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” นำทีมภาครัฐไทย ร่วมเอ็มโอยูดึงค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ระดับโลก “โตโยต้า” ร่วมมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า หวังดันแผนยกไทยขึ้นชั้นศูนย์กลางผลิตรถ EV ของภูมิภาคอาเซียน ด้าน อธิบดีกรมสรรพสามิต เผย! มีอีกหลายค่ายรอเข้าร่วมมาตรการนี้ ย้ำ! ต้องหนุนทั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่และสถานีชาร์จไฟฟ้าเติบโตครบวงจร

เมื่อยักษ์ใหญ่…ค่ายรถยนต์ระดับโลก และเป็นเบอร์ 1 ในไทย อย่าง “โตโยต้า”…ขยับเข้าร่วมมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าของภาครัฐ 

จึงไม่แปลก! ที่ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะเข้าร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามข้อตกลงระหว่าง…กรมสรรพสามิตกับบริษัทรถยนต์ค่ายนี้ ณ กรมสรรพสามิตเมื่อช่วงสายวันที่ 29 เมษายน 2565 

แม้พิธีการข้างต้นจะใช้เวลาเพียงสั้นๆ แต่มันสำคัญมากพอที่คนระดับ “รัฐมนตรี” ต้องไม่พลาดด้วยประการทั้งปวง! 

เพราะการมาของโตโยต้า ย่อมส่งผลสะเทือนต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ EV ในไทยและในภูมิภาคอาเซียน

ที่สำคัญ ยังจะตอบโจทย์ในเชิงยุทธศาสตร์ของรัฐบาลชุดนี้อีกด้วย!!!

ก่อนหน้านี้…ท่าทีของผู้บริหารระดับสูงจากค่ายโตโยต้า มอเตอร์ประเทศไทย สอดรับกับ “บริษัทแม่” ที่ญี่ปุ่น กล่าวคือ…นิ่งเฉยต่อภาพอนาคตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) อย่างน้อยมุมมองของยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่น ยังคงมองเห็นความสำคัญของรถยนต์ไฮบริดจ์ และรถยนต์พลังงานไฮโดรเจน ที่พวกเขากำลังทุ่มสรรพกำลังในการสร้างนวัตกรรมยานยนต์รูปแบบใหม่

ต่างไปจากรถยนต์ EV ซึ่งรัฐบาลไทยพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะส่งเสริมและสนับสนุน เพื่อให้อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ EV ในไทย “ขึ้นชั้น” เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน ดึงดูดค่ายรถยนต์ EV จากทั่วโลกมาตั้งโรงงานผลิตในไทย ตามแผนยุทธศาสตร์ 20 ปีของรัฐบาลประยุทธ์

ควบคู่กันไป รัฐบาลโดยกระทรวงการคลัง ยังมุ่งส่งเสริมให้อุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ EV เกิดขึ้นคู่ขนานไปกับโรงงานผลิตรถยนต์ EV โดยใช้พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นฐานดึงดูดความสนใจ ผ่านมาตรการส่งเสริมการลงทุนครบวงจร

หากดึงค่ายยักษ์ใหญ่ระดับโลกมาเข้าร่วมมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าฯ โอกาสแห่งความสำเร็จที่ผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ EV ของภูมิภาคก็ย่อมมีสูง!

นั่นจึงเป็นเหตุผลให้ นายอาคม ไม่พลาดที่จะเข้าร่วมพิธีลงนามในครั้งนี้

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้เหตุผลว่า…การมาของค่ายโตโยต้าน่าจะกระตุ้นให้รถยนต์ค่ายอื่นๆ ตื่นตัวและเข้าร่วมมาตรการ หลังจาก 2 ค่ายรถยนต์จีน อย่าง…บริษัท  เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด/บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท เกรท วอลล์ มอเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ได้เข้าร่วมมาตรการไปแล้วก่อนหน้านี้

กระทั่ง ยอดจองซื้อรถยนต์ไฟฟ้าในงาน…บางกอก อินเตอร์แนล มอเตอร์โชว์ เมื่อปลายเดือนมีนาคม ต่อเนื่องต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ถล่มทลาย! เฉพาะ 2 ค่ายรถยนต์จีน รวมกันมากกว่า 5,000 คัน หากนับรวมค่ายอื่นๆ ทั้งจากเอเชียและยุโรป รวมถึงมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ยอดจองพุ่งทะลุราว 6,000 คัน เลยทีเดียว

“เท่าที่กรมสรรพสามิตรายงานมาเห็นว่ายังจะมีรถยนต์ไฟฟ้าและมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าอีกหลายค่าย เตรียมจะเข้ามาหารือถึงการเข้าร่วมมาตรการข้างต้น ขณะที่หลายค่ายอยู่ระหว่างการตัดสินใจ คาดว่าจะมีค่ายรถยนต์ไฟฟ้าอีกหลายบริษัทตัดสินใจเข้าร่วมมาตรการของรัฐ ที่ประชาชนได้ประโยชน์ทั้งจากมาตรการภาษี ที่จะมีการลดภาษีศุลกากร (นำเข้า) ภาษีสรรพสามิต (ภาษีรถยนต์) และเงินอุดหนุนซื้อยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจให้แก่ผู้บริโภคให้สามารถเลือกซื้อรถยนต์ไฟฟ้าในราคาที่จับต้องได้

ซึ่งทำให้ไทยเข้าใกล้เป้าหมายที่จะเป็นศูนย์การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาค นายอาคม ระบุ

ด้าน นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต เสริมว่า ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 เห็นชอบมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ตามที่คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติเสนอ โดยมีวัตถุประสงค์ของการดำเนินมาตรการฯ ดังนี้ 

1) ส่งเสริมให้เกิดการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ โดยการใช้มาตรการทางภาษี ได้แก่ การลดภาษีสรรพสามิต และการลดอากรศุลกากร และมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี ได้แก่ การให้เงินอุดหนุน (มาตรการระยะสั้น ปี 2565 ถึง 2568) 

2) สนับสนุนให้ราคาของรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า มีราคาลดลงใกล้เคียงกับรถยนต์และรถจักรยานยนต์ประเภทเครื่องยนต์สันดาปภายใน

3) สร้างแรงจูงใจให้มีการผลิตรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน 

4) ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะการเกิดภาวะโลกร้อน 

สำหรับ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด มีแผนงานที่จะจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า รุ่น bZ4X โดยจะได้รับสิทธิการลดอากรศุลกากร การลดภาษีสรรพสามิต และการรับเงินอุดหนุน เพื่อสร้างแรงจูงใจให้แก่ผู้บริโภคตามที่ได้กล่าวข้างต้น ทั้งนี้ คาดว่าภายในปี 2565 จะมีบริษัทผู้ประกอบอุตสาหกรรมและผู้นำเข้ารถยนต์และรถจักรยานยนต์ BEV เข้าร่วมลงนามในข้อตกลงเข้าร่วมมาตรการฯ กับกรมสรรพสามิตอีกไม่น้อยกว่า 5 ราย 

“การที่รัฐบาลมีมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศครั้งนี้ คาดว่าจะส่งผลให้เกิดเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ก่อให้เกิดอุปสงค์ในการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด รวมทั้งเกิดการลงทุน การจ้างงาน และการถ่ายทอดเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคตต่อไป” อธิบดีกรมสรรพสามิต ระบุและว่า…

กรมสรรพสามิตและกระทรวงการคลังมองภาพรวม ว่า จะต้องทำคู่ขนานกันไป ทั้งการส่งเสริมให้มีการตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ การจัดตั้งสถานีชาร์จ ซึ่งภาคเอกชนและหน่วยงานบางแห่งของรัฐ ได้ดำเนินการจัดสร้างรองรับการชาร์จในภาวะฉุกเฉิน กรณีพลังงานไฟฟ้าในแบตเตอรี่หมดระหว่างทาง รวมถึงส่งเสริมให้มีการตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ ซึ่งขณะนี้ มีการขออนุมัติจัดตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่มาบ้างแล้ว ซึ่งหากเป็นการผลิตที่มีนวัตกรรมขั้นสูงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะมีระบบการทำลายแบตเตอรี่ที่หมดอายุแล้ว โดยไม่ก่อปัญหาใดๆ กับสิ่งแวดล้อม ก็จะได้รับอัตราภาษีสรรพสามิตที่ต่ำ แต่หากตรงกันข้าม ก็จะต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงขึ้น ปัจจุบัน กรมสรรพสามิตจัดเก็บภาษีแบตเตอรี่อยู่ที่อัตราร้อยละ 0-8 

ส่วนเงินอุดหนุนที่ภาครัฐเตรียมไว้ 3,000 ล้านบาทนั้น สามารถรองรับการจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้ามากถึง 20,000 คัน ซึ่งถึงวันนี้มีการจองไปแล้วกว่า 6,000 คัน เชื่อว่าภายในสิ้นปีนี้ เม็ดเงินสนับสนุนดังกล่าวน่าจะเพียงพอต่อความต้องการซื้อรถยนต์ไฟฟ้าของคนในประเทศได้อย่างแน่นอน

ด้าน ผู้บริหารระดับสูงของ ค่ายโตโยต้า มอเตอร์ประเทศไทย อย่าง…มร. โนริอากิ ยามาชิตะ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า บริษัทฯจะพยายามเร่งดำเนินการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า รุ่น bZ4X ให้เร็วที่สุด คาดว่าภายในปีนี้จะสามารถนำออกสู่ตลาดในประเทศไทยได้อย่างแน่นอน ส่วนราคาจำหน่ายยังไม่สามารถบอกได้ในตอนนี้ คงต้องรอให้รถยนต์รุ่นดังกล่าวออกมาเสียก่อน.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password