สศค.ระบุ! คนไทยมีหนี้ครึ่งประเทศ 16% คืนเงินกู้ไม่ได้

ผอ.สศค. ถอดบทเรียนจากเวทีสัมมนาวิชาการสร้างความรู้ความเข้าใจ เรื่องการคุ้มครองเงินฝากและการคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ครั้งที่ 1/2565 เผย! พบคนไทยกว่า 30 ล้านคนมีภาระหนี้ ขณะที่ 16% ไม่สามารถคืนหนี้เงินกู้ได้ เหตุ “อายุน้อย – สัดส่วนหนี้ต่อรายได้สูง” ย้ำ! องค์ความรู้จากเวทีนี้ ช่วยให้ประชาชนเกิดความมั่นใจในระบบเศรษฐกิจภาพรวมมากขึ้น

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยผล การสัมมนาวิชาการสร้างความรู้ความเข้าใจ เรื่องการคุ้มครองเงินฝากและการคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ครั้งที่ 1/2565 ที่จัดขึ้นผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 21 เมษายน 2565 เวลา 08.00 – 16.00 น. โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องการคุ้มครองเงินฝาก และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ฝากเงินและผู้ใช้บริการทางการเงิน ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมสัมมนาและประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี มีผู้เข้าร่วมการสัมมนาจำนวน 295 คน ประกอบด้วย ประชาชน ภาครัฐ ภาคธุรกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในจังหวัดสระบุรี ลพบุรี และสิงห์บุรี

โดยมีที่เขาเป็นผู้กล่าวเปิดการสัมมนาในหัวข้อ บทบาทของกระทรวงการคลังกับนโยบายระบบการคุ้มครองผลประโยชน์ทางการเงิน ซึ่งมีสาระสำคัญเกี่ยวกับ ภาพรวมสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศไทยในปัจจุบัน บทบาทของกระทรวงการคลังในการดำเนินนโยบายการเงินการคลังของภาครัฐเพื่อฟื้นฟูและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันและในอนาคต เช่น มาตรการรักษาระดับการบริโภคภายในประเทศ มาตรการทางภาษีเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะยาว เป็นต้น รวมถึงการดำเนินนโยบายด้านการคุ้มครองผลประโยชน์ทางการเงินเพื่อเสริมความมั่นคงให้แก่ระบบการเงินของประเทศ ทั้งในด้านการคุ้มครองเงินฝาก การดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา และการกำกับดูแลระบบการประกันภัย

ส่วน การสัมมนาภาคเช้า หัวข้อ “คุ้มครองการเงินไทยในยุค Next Normal” ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย นายสมชาย เลิศลาภวศิน ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายส่งเสริมความรู้ทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)  นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) และ นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด โดยมีเจ้าหน้าที่สำนักนโยบายระบบการคุ้มครองผลประโยชน์ทางการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการ สาระสำคัญของการสัมมนาในภาคเช้า ประกอบด้วย…

1) การรู้เท่าทันภัยทางการเงิน ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับสถิติและภัยการเงินสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กลโกงทางโทรศัพท์ในรูปแบบแก๊งคอลเซนเตอร์ การหลอกลวงผ่านโลกออนไลน์ การหลอกลวงให้ลงทุนในรูปแบบแชร์ลูกโซ่ เงินกู้นอกระบบ และการรับจ้างเปิดบัญชี พร้อมทั้งได้แนะนำวิธีป้องกันและรับมือกับภัยทางการเงินดังกล่าว ได้แก่ การเช็คตัวตนและหน่วยงานโดยถามถึงหลักฐาน การปรึกษาหาคำแนะนำจากหน่วยงานหรือสถาบันการเงิน และหากมีการโอนเงินไปแล้วให้รีบติดต่อธนาคารเพื่อขอระงับธุรกรรม พร้อมทั้งให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกระบวนการรับจ้างเปิดบัญชีปลอม (บัญชีม้า) ว่า มิจฉาชีพจะลวงให้ผู้เสียหายเปิดบัญชีในนามของตน แล้วนำบัญชีดังกล่าวไปทำธุรกรรมทุจริต ซึ่งผู้เสียหายอาจต้องโทษกระทำความผิดฐานฟอกเงินได้ รวมทั้งย้ำว่าสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทคริปโตเคอเรนซีในปัจจุบันยังไม่สามารถใช้เป็นเงินชำระหนี้ตามกฎหมาย

2) นโยบายการคุ้มครองเงินฝากในภาพรวม อำนาจหน้าที่ พันธกิจ บทบาทของ สคฝ. ในการดำเนินนโยบายด้านการคุ้มครองเงินฝาก ประโยชน์ของการคุ้มครองเงินฝากเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของระบบสถาบันการเงิน ความรู้ด้านการบริหารจัดการทรัพย์สินเพื่อกระจายความเสี่ยงและเพิ่มผลตอบแทน ปัจจุบันสถานการณ์ภาพรวมของธนาคารพาณิชย์ไทยมีความมั่นคงแข็งแรง ระบบการจ่ายคืนของ สคฝ. จะรับข้อมูลผู้ฝากเงินจากสถาบันการเงินที่อยู่ในความคุ้มครองและมีการจ่ายเงินให้กับผู้ฝากเงินทางพร้อมเพย์เป็นหลัก ส่วนที่เหลือจะคืนเงินโดยส่งเช็คทางไปรษณีย์ตามที่อยู่ในบัตรประชาชนให้แก่ผู้ฝากที่ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ ผู้ฝากเงินสามารถดำเนินการผูกพร้อมเพย์ผ่านทางหมายเลขบัตรประชาชนหรือหมายเลขโทรศัพท์มือถือกับสถาบันการเงิน พร้อมทั้งแนะนำว่าการผูกพร้อมเพย์จะทำให้ได้รับคืนเงินรวดเร็วกว่า โดยผู้ฝากเงินไม่มีขั้นตอนและเอกสารใดเพราะมีข้อมูลอยู่ในฐานข้อมูลสำหรับการนี้รวมทั้งได้เน้นย้ำถึงช่องทางการติดต่อ สคฝ. เช่น สายด่วน Call Center 1158 และ Line Chat เป็นต้น

3) การสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความเป็นมาของการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิตในประเทศไทย บทบาทองค์กร การดำเนินงานและกลไกการกำกับดูแลของ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ประกอบด้วย การทำความเข้าใจพื้นฐานและข้อมูลที่ใช้พิจารณาการกู้เงิน ตลอดจนตอบคำถามเกี่ยวกับเครดิตบูโรที่พบได้บ่อย เช่น เครดิตบูโรเก็บข้อมูลตามจริงที่สถาบันการเงินส่งให้โดยไม่มีหน้าที่ขึ้นแบล็คลิสต์ เป็นต้น

ทั้งนี้ จากฐานข้อมูลเครดิตในปัจจุบันของผู้ที่มีภาระหนี้กว่า 30 ล้านคน ผู้มีภาระหนี้ 16 ราย ใน 100 รายไม่สามารถชำระหนี้ได้ โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีอายุน้อย และความสามารถในการชำระหนี้ซึ่งคำนวณจากสัดส่วนภาระหนี้ทั้งหมดต่อเดือนต่อรายได้ ควรอยู่ที่ระดับร้อยละ 40 ถึง 70 และหากมากกว่าร้อยละ 70 ควรเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ต่อไป

การสัมมนาภาคบ่าย เป็นการสัมมนาหัวข้อ “คุ้มครองการเงินไทยในยุค Next  Normal” ต่อจากภาคเช้า ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย นายกิตติพัฒน์ แสนทวีสุข วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ นางนวพร วิริยานุพงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการออมและการลงทุน สศค. สาระสำคัญของการสัมมนาในภาคบ่าย ประกอบด้วย

1) การรู้เท่าทันหนี้ การสร้างหนี้อย่างไรให้ถูกวิธี หนี้ที่อาจก่อให้เกิดปัญหา การคิดคำนวณอัตราดอกเบี้ยจากการสร้างหนี้ และมีการอธิบายเรื่องการปรับปรุงการคิดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมแบบใหม่ ตามมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด 19 ของ ธปท. และขั้นตอนในการปลดหนี้ เช่น การสรุปหนี้ที่มีอยู่ทั้งหมด การวางแผนการชำระคืนหนี้ การหาที่ปรึกษา และการเจรจาต่อรองกับเจ้าหนี้ เป็นต้น และได้แนะนำให้นำทรัพย์สินมาพยายามไกล่เกลี่ยกับเจ้าหนี้ก่อน เพราะการบริหารหนี้ผ่านกระบวนการยุติธรรมเป็นการเสียเวลาเพิ่มขึ้น และหากต้องไปขึ้นศาลควรไปตามที่ศาลนัดทุกครั้ง เพื่อให้ศาลไม่ต้องตามสืบทรัพย์เพื่อทำการยึดทรัพย์

2) การออมเพื่อการเกษียณ โดยชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการออมเงินเพื่อการเกษียณในยุค Next Normal ตลอดจนระบบโครงสร้างของบำเหน็จบำนาญของประเทศไทย และสาระความรู้เกี่ยวกับออมในรูปแบบภาคบังคับและภาคสมัครใจ เช่น กองทุนประกันสังคม กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้อธิบายถึงแนวนโยบายของรัฐด้านการออมเพื่อการเกษียณซึ่งมีเป้าหมายหลัก 3 ด้าน คือ ครอบคลุม เพียงพอ และยั่งยืน ในช่วงท้ายได้แนะนำว่าหากมีการเปลี่ยนสายงานจากราชการเป็นเอกชน ควรนำเงินบำเหน็จที่ได้จากการทำงานราชการไปลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพื่อการออมอย่างต่อเนื่อง

นายพรชัย ย้ำว่า โดยสรุป การสัมมนาทั้งภาคเช้าและภาคบ่าย เป็นการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผลประโยชน์ทางการเงิน อันจะสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนและระบบเศรษฐกิจในภาพรวม.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password