กกร. ระบุ เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงเติบโต ต่ำลง
กกร. ระบุ แนวโน้ม เศรษฐกิจไทยเติบโต 2.8-3.3% มีความเสี่ยงเติบโต ต่ำลง จากปัญหาเชิงโครงสร้างไม่สามารถส่งออกได้เต็มศักยภาพ SME เข้าไม่ถึงสินเชื่อ เสนอรัฐบาลพิจารณาเพิ่มกลไกในการสนับสนุนผู้ประกอบการให้เข้ามาอยู่ในระบบ เพื่อสร้างฐานข้อมูลสำหรับประกอบการพิจารณาสินเชื่อตามกลไกตลาด
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) โดยมีนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ร่วมในการแถลงข่าว ประจำเดือน เมษายน 2567 โดยระบุว่า
สัญญาณเศรษฐกิจโลกปรับตัวดีขึ้น โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯยังมีแนวโน้มเติบโตได้ต่อเนื่อง และเศรษฐกิจจีนเริ่มมีสัญญาณบวกที่หนุนการทยอยฟื้นตัว นอกจากนี้ทิศทางนโยบายการเงินของประเทศหลัก เช่น อังกฤษ และยุโรป มีแนวโน้มที่จะลดดอกเบี้ยเพื่อประคองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่การดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อาจไม่ได้รีบลดดอกเบี้ยเร็วและแรงเหมือนที่นักวิเคราะห์เคยคาดไว้ส่งผลให้ค่าเงินบาทมีทิศทางผันผวนอ่อนค่า
เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตได้ในกรอบประมาณการที่ 2.8-3.3% แต่ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงสูง และข้อจำกัดเชิงโครงสร้างของไทยที่ทำให้การส่งออกฟื้นตัวได้ช้าและไม่ทั่วถึง อีกทั้งอุปสงค์ภายในประเทศยังอ่อนแอ เศรษฐกิจไทยจึงต้องการแรงกระตุ้นเพิ่มเติมจากทั้งนโยบายการคลังในการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณและมาตรการกระตุ้นอื่นๆ และนโยบายการเงินซึ่งจะเป็นในรูปของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรือการปรับลดค่าธรรมเนียม FIDF อย่างที่เคยทำในอดีต ซึ่งจะช่วยลดภาระทางการเงินให้กับภาคครัวเรือนและธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว
เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงเติบโตได้ต่ำลงจากปัญหาเชิงโครงสร้างที่กระทบต่อการผลิตและการส่งออก การผลิตภาคอุตสาหกรรมซึ่งมีขนาด 1 ใน 4 ของเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญปัญหาและไม่สามารถส่งออกได้เต็มศักยภาพ สินค้าส่งออกสำคัญของไทยหลายรายการ เช่น รถยนต์สันดาป Hard Disk Drive (HDD) และผลิตภัณฑ์พลาสติก ชะลอตัวลงจากปัจจัยทั้งระยะสั้นและระยะยาว ในขณะที่สินค้าที่ส่งออกได้ดีเป็นสินค้าที่มีความซับซ้อนต่ำ เช่น ยางรถยนต์ และเนื้อสัตว์แปรรูปนอกจากนี้สินค้าบางประเภทเผชิญการแข่งขันจากสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ ดังนั้นภาคการผลิตไทยจำเป็นต้องเร่งปรับตัวให้สอดรับกับกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงไป และบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น
กรอบประมาณการเศรษฐกิจปี 2567 ของ กกร.
(ณ ก.พ. 67) ปี 2567
GDP 2.8 ถึง 3.3
ส่งออก 2.0 ถึง 3.0
เงินเฟ้อ 0.7 ถึง 1.2
(ณ มี.ค. 67) ปี 2567
GDP 2.8 ถึง 3.3
ส่งออก 2.0 ถึง 3.0
เงินเฟ้อ 0.7 ถึง 1.2
(ณ เม.ย. 67) ปี 2567
GDP 2.8 ถึง 3.3
ส่งออก 2.0 ถึง 3.0
เงินเฟ้อ 0.7 ถึง 1.2
ปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์มีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้นในระยะข้างหน้า โดยประเทศที่แบ่งขั้วชัดเจนจะหันมาค้ากับประเทศที่มีจุดยืนทางภูมิรัฐศาสตร์ไม่ขัดแย้งกัน ดังนั้น ประเทศไทยจะต้องหาโอกาสสร้างความได้เปรียบทางการค้า โดยเลือกกลยุทธ์ที่เฉพาะ “เจาะจง” กับบริบทของแต่ละภาคการผลิตในแต่ละตลาดส่งออก ซึ่งขึ้นอยู่กับความสามารถในการผลิตและความเข้มข้นในการแข่งขันในแต่ละอุตสาหกรรม
กกร.ตระหนักถึงปัญหาของผู้ประกอบการ SME ที่มีศักยภาพแต่ยังเข้าไม่ถึงสินเชื่อในระบบ จึงเสนอให้รัฐบาลพิจารณาเพิ่มกลไกในการสนับสนุนผู้ประกอบการให้เข้ามาอยู่ในระบบ เพื่อสร้างฐานข้อมูลสำหรับประกอบการพิจารณาสินเชื่อตามกลไกตลาด โดยส่งเสริมให้จดทะเบียนนิติบุคคล โดยยกเว้นการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลให้ 5-7 ปี เพื่อให้ผู้ประกอบการมีเวลาในการปรับตัว พร้อมปรับเงื่อนไขและเพิ่มทรัพยากรของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และเกิดความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้มากขึ้น
กกร.ขอขอบคุณรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาสินค้าด้อยคุณภาพที่เข้ามาทุ่มตลาดในประเทศไทย ซึ่งกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างพิจารณามาตรการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สำหรับการซื้อสินค้านำเข้าออนไลน์ที่ไม่เกิน 1,500 บาท เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมในการแข่งขันของผู้ประกอบการภายในประเทศ
อย่างไรก็ตามเพื่อให้เกิดการบูรณาการในการแก้ไขสินค้าไม่มีคุณภาพทั้งระบบ ภาครัฐควรพิจารณาปรับเงื่อนไขการใช้สิทธิประโยชน์เขตปลอดอากร (Free Zone) รวมทั้ง เพิ่มความเข้มงวดการตรวจจับสินค้าสำแดงเท็จที่นำเข้าผ่านด่านศุลกากร โดยสนับสนุนเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการตรวจสแกนสินค้า ตลอดจนเร่งประชาสัมพันธ์สร้างความตระหนักให้ประชาชนทราบถึงผลกระทบของการใช้สินค้าที่ไม่ได้คุณภาพ