สนพ. เผย ผลสำรวจการนำระบบ NZE Microgrid ใช้ในหน่วยงานราชการ

สนพ. เผยผลสำรวจ ศึกษา การนำระบบ NZE Microgrid ใช้ในหน่วยงานราชการ หวังเป็นต้นแบบลดค่าไฟฟ้า และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ต้องมีการออกแบบและจัดเตรียมระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ให้มีความสอดคล้องกับปริมาณดังกล่าวควบคู่กันไปด้วย

นายสาร์รัฐ ประกอบชาติ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน เปิดเผยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศ เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) สนพ. จึงได้ปรับแผนพลังงานชาติเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายดังกล่าวให้ได้ภายในปี ค.ศ. 2065 โดยวิธีหนึ่งที่จะช่วยลดการใช้พลังงานนั้นคือการใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Energy; NZE) หรือการใช้พลังงานสมดุลกับปริมาณการผลิตพลังงานจากพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดในบริเวณพื้นที่ที่กำหนด

ปัจจุบันเทคโนโลยีเพื่อการอนุรักษ์พลังงานรวมทั้งการผลิตพลังงานทดแทนมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงเทคโนโลยีการบริหารจัดการพลังงานรูปแบบใหม่ภายใต้แนวคิดของโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็กแบบมีการใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ ซึ่งเป็นการรวมระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดพร้อมด้วยระบบกักเก็บพลังงาน ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และระบบควบคุมอัตโนมัติเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อรองรับการใช้ไฟฟ้าในบริเวณพื้นที่ที่กำหนดไว้

หน่วยงานราชการถือเป็นต้นแบบที่ดีในการส่งเสริมการใช้ระบบ NZE Microgrid เนื่องจากมีการกระจายตัวของหน่วยงานครอบคลุมทั่วประเทศ อีกทั้งมีศักยภาพสูงในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน และมีช่วงเวลาการใช้ไฟฟ้าตรงกับช่วงเวลาการทำงานของเซลล์แสงอาทิตย์ที่ปัจจุบันมีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่ำ ในขณะที่ช่วงนอกเวลาราชการจะมีปริมาณการใช้พลังงานไฟฟ้าต่ำ ซึ่งหน่วยงานราชการสามารถนำพลังงานส่วนเกินที่ผลิตได้จากระบบเซลล์แสงอาทิตย์ในช่วงกลางวันที่สะสมไว้ในระบบกักเก็บพลังงาน (Battery Energy Storage System: BESS) มาใช้งานในช่วงเวลาดังกล่าวได้

สนพ. จึงให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการพลังงานรูปแบบใหม่ภายใต้แนวคิดของโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็กแบบมีการใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ในพื้นที่ส่วนราชการ จึงได้นำร่องศึกษาระบบ NZE Microgrid เพื่อให้เกิดการใช้งานในประเทศ โดยได้คัดเลือกพร้อมทั้งลงพื้นที่สำรวจหน่วยงานราชการที่มีศักยภาพและมีความพร้อม จำนวน 29 แห่ง เพื่อวิเคราะห์ความเป็นไปได้ ความเหมาะสม และความคุ้มค่าของการใช้งานระบบ NZE Microgrid และพบว่าอาคารของหน่วยราชการแต่ละแห่งมีความแตกต่างกันทั้งในเชิงกายภาพและพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้า ได้แก่ อายุของอาคาร ตำแหน่งที่ตั้ง พื้นที่และรูปทรงหลังคา รูปแบบ ปริมาณการใช้ไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการออกแบบระบบ NZE Microgrid นอกจากนี้อาคารบางแห่งยังจำเป็นต้องมีการกักเก็บไฟฟ้าสำรองไว้เพื่อรองรับโหลดวิกฤต (Critical Load) ตลอดเวลา ดังนั้น จึงต้องมีการออกแบบและจัดเตรียมระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ให้มีความสอดคล้องกับปริมาณดังกล่าวควบคู่กันไปด้วย

ผลจากการศึกษาและสำรวจพบว่า หน่วยงานราชการทั้ง 29 แห่ง มีศักยภาพและสามารถผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองและสร้างการพึ่งพาตนเองในรูปแบบ NZE Microgrid ได้ ซึ่งหากประสบผลสำเร็จจะสามารถจัดทำแผนการผลักดันให้มีการขยายการส่งเสริมการใช้ระบบ NZE Microgrid ในพื้นที่ส่วนราชการ โดยในระยะสั้นจะนำร่องการใช้งาน NZE Microgrid ในกลุ่มสถาบันการศึกษา สำนักงานพลังงานจังหวัด หรือหน่วยงานราชการที่มีลักษณะเป็นโครงข่ายไฟฟ้าส่วนบุคคล (Private Wire) ต่อมาจะขยายผลการใช้งาน NZE Microgrid กับประเภทส่วนราชการที่มีความคุ้มค่าทางด้านเศรษฐศาสตร์ และในระยะยาวจะขยายผลไปยังส่วนราชการทุกประเภท ซึ่งการส่งเสริมการใช้ระบบ NZE Microgrid จะช่วยลดค่าไฟฟ้าในระยะยาวและยกระดับความมั่นคงให้แก่ระบบไฟฟ้าของหน่วยงานไปพร้อมกันด้วย

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password