คลังชงรัฐหยุดใช้จ่ายไร้จำเป็น พ่วงเพิ่มจัดเก็บรายได้กู้วิกฤตความเสี่ยง

คลังแจงความเสี่ยงทางการคลังให้ ครม.รับทราบ ยอมรับสัดส่วนรายได้ต่อ GDP ลดลง เสนอลดมาตรการ/โครงการแจกเงินไร้ประสิทธิภาพ หวังลดรายจ่ายที่ไม่ก่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ พ่วงเพิ่มขีดความสามารถจัดเก็บรายได้ พร้อมเปิดช่องจัดงบขาดดุลเพื่อฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจ

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะ โฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีในคราวการประชุมวันที่ 29 มีนาคม 2565 ได้มีมติรับทราบรายงานความเสี่ยงทางการคลังประจำปีงบประมาณ 2564 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมาตรา 78 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ที่กำหนดให้ภายในเดือนมีนาคมของทุกปีให้กระทรวงการคลังจัดทำรายงานความเสี่ยงทางการคลังประจำปี และเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ ทั้งนี้ รายงานความเสี่ยงทางการคลังประจำปีงบประมาณ 2564 ได้มีการวิเคราะห์ความเสี่ยงในภาคงบประมาณ รวมถึงภาระผูกพันและความเสี่ยงจากการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐ โดยมีข้อเสนอแนะประกอบการพิจารณาดำเนินการและกำหนดนโยบายการคลังที่เกี่ยวข้องในอนาคต สรุปประเด็นสำคัญได้ ดังนี้

รัฐบาลยังมีพื้นที่ทางการคลังสำหรับดำเนินนโยบายการคลังแบบขาดดุลได้ในกรณีที่จำเป็นภายใต้ความระมัดระวังที่เพิ่มขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับแผนการคลังระยะปานกลาง ปีงบประมาณ 2566 – 2569 ที่กำหนดให้รัฐบาลดำเนินนโยบายการคลังแบบขาดดุลอย่างต่อเนื่องตามความจำเป็นในการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจ และมีการส่งสัญญาณการทยอยลดสัดส่วนขาดดุลต่อ GDP ในอีก 5 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ รัฐบาลจะต้องพิจารณาแนวทางในการเพิ่มความสามารถในการจัดเก็บรายได้ รวมถึงการลดทอนรายจ่ายต่าง ๆ ที่ไม่จำเป็นลง ควบคู่ไปกับการดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อลดสัดส่วนการขาดดุลงบประมาณต่อ GDP ในระยะยาวต่อไป

ประมาณการสัดส่วนภาระดอกเบี้ยต่อรายได้ในอนาคตมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยยังมี ปัจจัยเสี่ยงจากแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น ทั้งนี้ ในระยะสั้นถึงปานกลาง คาดว่า ภาระดอกเบี้ยต่อรายได้จะยังอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ภายใต้การวิเคราะห์ติดตามอย่างใกล้ชิด ในขณะที่ในระยะยาว รัฐบาลควรเพิ่มความสามารถในการจัดเก็บรายได้เพื่อให้สัดส่วนภาระดอกเบี้ยต่อรายได้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และต้องจัดสรรงบประมาณรายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ภาครัฐอย่างพอเพียง

ประมาณการสัดส่วนรายได้รัฐบาลสุทธิต่อ GDP ยังคงมีแนวโน้มลดลง ดังนั้น รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการพิจารณาทบทวนมาตรการยกเว้นภาษีและมาตรการลดหย่อนต่าง ๆ ที่ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ควบคู่ไปกับการพิจารณาผลักดันแนวทางในการเพิ่มความสามารถในการจัดเก็บรายได้รัฐบาลให้มีผลในทางปฏิบัติอย่างจริงจัง โดยคำนึงให้ สอดคล้องตามความเหมาะสมและสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมในระยะต่อไป นอกจากนี้ รัฐบาลต้องพิจารณาบริหารจัดการด้านรายจ่ายให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด รวมถึงรัฐบาลจำเป็นต้องพิจารณาขับเคลื่อนโครงการลงทุนภาครัฐนอกเหนือจากภาคงบประมาณ และเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อให้เม็ดเงินลงทุนของภาครัฐยังสามารถเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password