2 ค่ายรถจีนรับอานิสงส์ ‘ม.หนุนใช้รถ EV’ ในงานมอเตอร์โชว์

กรมสรรพสามิต เซ็น MOU มาตรการหนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าสูงสุด 1.5 แสน/คัน กับ 2  ค่ายรถไฟฟ้าจีน “GWM – MG” ที่นำมาขายในงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ เผย! “วิน-วิน-วิน” ทุกฝ่าย ทั้งผู้ประกอบการ ผู้ซื้อ และเจ้าของงานอีเว้นท์ฯ ย้ำ! หากขายรถ EV 2 พันคันหมด จะทำให้ภาครัฐจ่ายเงินสนับสนุนมาตรการราว 300 ล้าน จากทั้งหมดที่รัฐบาลตั้งไว้ 3 พันล้าน  มั่นใจมาตรการนี้ส่งให้ไทยก้าวขึ้นเป็น ศก.ผลิตรถ EV ของอาเซียนได้แน่ ด้าน “โฆษกสรรพสามิต” ลั่น! พร้อมส่งเสริม รง.ผลิตแบตเตอรี่ หวังลดต้นทุนผลิต กดราคาขายลงมา หนุนอุตฯ-ยอดขายรถ EV ในไทย

นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยภายหลัง พิธีลงนามข้อตกลงตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ตามที่คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติเสนอ ซึ่งเป็นไปตามมติตามมติคณะรัฐมนตรี (เมื่อวันที่15 กุมภาพันธ์ 2565) โดย ผู้ประกอบอุตสาหกรรมรถยนต์ที่เข้าร่วมมาตรการจะได้สิทธิประโยชน์จากการนำเข้าและผลิตรถยนต์แบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle: BEV) ทั้งภาษีศุลกากร ภาษีสรรพสามิตและ เงินอุดหนุนจำนวน 70,000 หรือ 150,000 บาทต่อคัน ขึ้นอยู่กับขนาดของแบตเตอรี่ ซึ่งพิธีลงนามดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่าง กรมสรรพสามิตกับบริษัท เกรท วอลล์ มอเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด และบริษัทเอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด โดยย้ำว่า มาตรการดังกล่าวจะทำให้ราคาของรถยนต์ไฟฟ้าลดลง และประชาชนสามารถเข้าถึงการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากการปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ มาตรการดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมให้เกิดการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศเพิ่มขึ้น เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย

ทั้งนี้ เมื่อได้ลงนามในข้อตกลงแล้ว ผู้ประกอบอุตสาหกรรมทั้ง 2 ราย จะได้รับสิทธิในการรับเงินอุดหนุนจากการจำหน่าย รถยนต์ BEV โดยในงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ครั้งนี้ กล่าวคือ ในส่วนของ บริษัท เกรท วอลล์ มอเตอร์ฯ ได้นำรถยนต์ BEV มาจำหน่าย 3 รุ่น ได้แก่ ORA GOOD CAT 500 ultra , ORA GOOD CAT 400 Tech และ ORA GOOD CAT 400 Pro ส่วน บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพีฯ และบริษัทเอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย)ฯ ได้นำรถยนต์ BEV มาจำหน่าย 3 รุ่นเช่นกัน คือ MG ZS EV, MG EP และ MG EP PLUS ซึ่งราคาที่แสดงในงานมอเตอร์โชว์ครั้งนี้จะเป็นราคาขายปลีกแนะนำที่ได้รับเงินอุดหนุนตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าแล้ว และคาดว่าจะมีผู้ประกอบอุตสาหกรรมและ  ผู้นำเข้ารถยนต์และรถจักรยานยนต์รายอื่น ๆ เข้าร่วมลงนามข้อตกลงในอนาคตอันใกล้นี้ต่อไป

“นอกจากนี้ ยังมีรายที่ 3 คือ กลุ่มเนต้า (NATA) จากประเทศจีน ที่ร่วมทุนกับบริษัทในเครือของ ปตท. นำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยในระยะแรก ได้เข้ามาพูดคุยกับกรมสรรพสามิต รวมถึงรายที่ 4 รายที่ 5 และรายต่อๆ ไป ซึ่งกรมสรรพสามิตเปิดช่องให้เสนอโครงสร้างราคารถยนต์มาเพื่อขอรับตามมาตรการสนับสนุนฯในครั้งนี้ โดยแต่ละรายจะใช้เวลาในการพิจารณาไม่นานนัก หากแล้วเสร็จได้ทันก็สามารถจะเข้าร่วมมาตรการดังกล่าวภายในงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ฯในปีนี้ได้เลย ซึ่งกรมสรรพสามิตพร้อมให้โอกาสผู้ประกอบการและนำเข้าฯทุกราย ขอเพียงดำเนินการภายใต้เงื่อนไขที่ภาครัฐกำหนดไว้ และหากไม่สามารถดำเนินการได้ตามที่ตกลงกันไว้ ก็จะมีแนวทางการดำเนินการเอาผิดได้เช่นกัน อธิบดีกรมสรรพสามิต ย้ำและว่า

เชื่อว่าจากนี้ไปจะมีผู้ประกอบการและผู้นำเข้าเข้าร่วมมาตรการเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงรถยนต์ไฟฟ้าในราคาที่ถูกลง เพราะรัฐบาลได้ตั้งงบประมาณสำหรับปีนี้เอาไว้ 3,000 ล้านบาท โดยในปีต่อๆ ไป กรมสรรพสามิตจะได้หารือถึงตัวเลขความเหมาะสมและแหล่งที่มาของเงินสนับสนุนตามมาตรการนี้ ร่วมกับสภาพัฒน์ต่อไป ขณะเดียวกัน มาตรการดังกล่าวยังจะช่วยส่งเสริมให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาคอาเซียน โดยคาดว่า ภายในปี ค.ศ.2030 สัดส่วนรถยนต์ไฟฟ้าในไทยจะขยับขึ้นเป็น 30% ของปริมาณรถยนต์ทั้งระบบ

ด้าน นายณัฐกร อุเทนสุต ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาระบบควบคุมทางสรรพสามิต ในฐานะ โฆษกกรมสรรพสามิต กล่าวเสริมว่า มีรถยนต์ไฟฟ้าของ 2 บริษัทฯที่นำมาจำหน่ายภายในงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ฯ ราว 2,000 คัน เป็นของ บริษัท เกรท วอลล์ มอเตอร์ฯ ประมาณ 1,500 คัน และของ บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพีฯ และบริษัทเอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย)ฯ อีก 500 คัน (หมายเหตุ : หากขายหมดภายในงานฯ จะทำให้กรมสรรพสามิต ใช้จ่ายเงินเพื่อสนับสนุนมาตรการดังกล่าวราว 300 ล้านบาท / เฉลี่ยที่คันละ 150,000 บาท) ทั้งนี้ กรมสรรพสามิตเชื่อว่า มาตรการดังกล่าวจะทำให้ประชาชนหันมาสนใจกับการเลือกใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากยิ่งขึ้น

ส่วนแนวทาง การส่งเสริมแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งมีต้นทุนเกือบ 50% ของราคารถยนต์ไฟฟ้า นั้น โฆษกกรมสรรพสามิต ระบุว่า กรมสรรพสามิตเองก็มีมาตรการส่งเสริมสนับสนุนให้มีการตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าอยู่แล้ว ซึ่งบริษัทในเครือ ปตท. ได้มาหารือถึงแนวทางดังกล่าว โดยกรมสรรพสามิตมีแผนจะลดภาษีในการตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าจากเดิม 8% เหลือแค่ 1% และหากประชาชนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น เชื่อว่าราคาของแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าจะต่ำลงอย่างแน่นอน

ส่วน นายจาตุรนต์ โกมลมิศร์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการด้านการตลาดและการขาย บริษัทกรังด์ปรีซ์ฯ และรองประธานจัดงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ กล่าวว่า แม้ว่าการเซ็น MOU จะเกิดขึ้นในวันนี้ แต่ยังต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่าหนึ่งสัปดาห์ กว่าที่เรื่องจะผ่านกระบวนการตามกฎหมาย เช่นกันกว่าที่ผู้ซื้อจะได้รับรถยนต์ไฟฟ้าและส่วนลดจากมาตรการก็น่าจะตรงกับช่วงเวลาที่ MOU มีผลในทางกฎหมาย อย่างไรก็ตาม รถยนต์ไฟฟ้าทั้งของค่ายเกรทวอล มอเตอร์ และค่ายเอ็มจี ที่นำมาจำหน่ายภายในงานฯ ยังคงเป็นการชำระภาษีทั้งอากรขาเข้าและภาษีสรรพสามิตในอัตราเดิม ซึ่งคงต้องรอดูนโยบายของทั้ง 2 ค่ายว่าจะพิจารณาในเรื่องนี้อย่างไร ส่วนตัวเชื่อว่า น่าจะมีการยอดตัดขาดทุนฯ เพื่อให้รถยนต์ไฟฟ้าเหล่านี้จำหน่ายออกไปให้เร็วที่สุด เนื่องจากจะมีรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ของค่ายตนเอง ซึ่งได้รับประโยชน์จากมาตรการข้างต้น ออกมาในตลาด เช่นเดียวกับแบรนด์อื่นๆ ที่จะเข้ามาเล่นในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยเช่นกัน

“ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ภาครัฐจะมีมาตรการดีๆ เช่นนี้ ส่วนตัวไม่คิดว่า งานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์จะได้ประโยชน์แต่เพียงฝ่ายเดียว แต่ทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิต ผู้นำเข้า แม้กระทั่ง ภาคประชาชน ต่างก็จะได้รับประโยชน์เช่นกัน โดยเฉพาะผู้ซื้อที่จะได้รถยนต์ไฟฟ้าในราคาที่ถูกลงอย่างมาก”นายจาตุรนต์ ระบุ.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password