วงถกปลัดคลังฯฉลุย! จับตา “รัสเซีย-ยูเครน” หวั่นกระทบอ้อมถึงไทย

“อาคม” สั่ง ก.คลังจับตาสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน หวั่นน้ำมันแพงส่งผลกระทบวงกว้างต่อต้นทุนสินค้าและภาพรวมเศรษฐกิจ “เงินเฟ้อ-ทองคำ-ตลาดหุ้น”  เชื่อไม่ยืดเยื้อแค่ระยะสั้น ส่วนผลประชุมปลัดคลังฯเอเปคประสบผลสำเร็จด้วยดี ด้าน รมว.คลังเริ่มแล้ว ประชุม Regional Action Group for ASEAN พร้อมถก “การเตรียมตัวของอาเซียนในยุคหลังโควิด-19 โดยมุ่งเน้นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคอาเซียน”

เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2565 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ร่วมการประชุม Regional Action Group for ASEAN ในหัวข้อ “การเตรียมตัวของอาเซียนในยุคหลังโควิด-19 โดยมุ่งเน้นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคอาเซียน (Preparing for ASEAN’s Post COVID Era: Public-Private Collaborations on ASEAN Digital Economy)” จัดโดย World Economic Forum ผ่านระบบ Video Conference เพื่อผลักดันประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลและประสานความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนที่เป็นเจ้าภาพการประชุมระหว่างประเทศในปี 2565 ได้แก่ ประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพการประชุมเอเปค ราชอาณาจักรกัมพูชาในฐานะเจ้าภาพการประชุมอาเซียน และสาธารณรัฐอินโดนีเซียในฐานะเจ้าภาพการประชุม G20 โดยมี นายวโรทัย โกศลพิศิษฐ์กุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ร่วมการประชุม ณ ห้องประชุมป๋วยอึ๊งภากรณ์ ชั้น 7 สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง

ทั้งนี้ “โฆษกกระทรวงการคลัง” นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) แถลงว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้เข้าร่วมการประชุม Regional Action Group for ASEAN ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ร่วมกับ นาย Kao Kim Hourn รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ราชอาณาจักรกัมพูชา และ นาย Edi Prio Pambudi รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการประสานงานด้านเศรษฐกิจ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย และภาคธุรกิจในภูมิภาคอาเซียน ภายใต้หัวข้อ “การเตรียมตัวของอาเซียนในยุคหลังโควิด-19 โดยมุ่งเน้นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคอาเซียน” (Preparing for ASEAN’s Post COVID Era: Public-Private Collaborations on ASEAN Digital Economy) เพื่อผลักดันประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลและประสานความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนที่เป็นเจ้าภาพการประชุมระหว่างประเทศในปี 2565 ได้แก่ ประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพการประชุมเอเปค ราชอาณาจักรกัมพูชาในฐานะเจ้าภาพการประชุมอาเซียน และสาธารณรัฐอินโดนีเซียในฐานะเจ้าภาพการประชุม G20

ในการนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้กล่าวปาฐกถา โดยหยิบยกแนวคิดของการประชุมกรอบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค ปี 2565 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการใช้เครื่องมือดิจิทัลเพื่อการดำเนินงานด้านการเงินการคลัง ทั้งที่เกี่ยวกับการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการพัฒนาการจัดเก็บภาษี รวมทั้งการใช้เครื่องมือดิจิทัลเพื่อการชำระเงินข้ามพรมแดนและการพัฒนากรอบการกำกับดูแลสำหรับสินทรัพย์ดิจิทัลและผลิตภัณฑ์ทางการเงินดิจิทัลอื่น ๆ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อพัฒนานวัตกรรมดังกล่าวและออกแบบกรอบการกำกับดูแลที่เหมาะสม เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้เครื่องมือดิจิทัลได้ปลอดภัยและเกิดประโยชน์สูงสุด

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคอาเซียน เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล การพัฒนายุทธศาสตร์เศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียน การจัดทำความตกลงด้านเศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียน การพัฒนาการเข้าถึงบริการด้านการเงิน (Financial Inclusion) การเข้าถึงเครื่องมือดิจิทัล (Digital Inclusion) การพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล (Digital Literacy) และ การใช้เครื่องมือดิจิทัลในระบบศุลกากร ภาคการสาธารณสุข และภาคการเงิน โดยเฉพาะการพัฒนาระบบการชำระเงินภายในประเทศและระหว่างประเทศ เป็นต้น

ด้าน นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชน ในประเด็นผลการประชุมระดับปลัดกระทรวงการคลังและรองผู้ว่าการธนาคารกลางเอเปค (APEC Finance and Central Bank Deputies’ Meeting: FCBDM) เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2565 โดย กระทรวงการคลังเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ระหว่างวันที่ 16 – 17 มีนาคม 2565 ในรูปแบบการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และมี ปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน พร้อมด้วย นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย และมีผู้แทนสมาชิกเอเปคในระดับปลัดกระทรวงการคลังและรองผู้ว่าการธนาคารกลางและผู้แทนระดับสูงจากสมาชิกเอเปค ผู้แทนจากองค์กรระหว่างประเทศ อาทิ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development: OECD) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) กลุ่มธนาคารโลก (World Bank Group) ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank) เป็นต้น และ ผู้แทนภาคเอกชนจากสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (APEC Business Advisory Council: ABAC) เข้าร่วมการประชุม ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ 1 กระทรวงการคลัง

ปลัดกระทรวงการคลัง ระบุว่า การประชุมระดับปลัดกระทรวงการคลังและรองผู้ว่าการธนาคารกลางเอเปคถือว่าประสบผลสำเร็จด้วยดี สมาชิกในที่ประชุมฯเห็นพ้องกับข้อเสนอของไทย โดยเฉพาะประเด็น การเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Finance) ด้วยการระดมทุนผ่านการออกพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งเชื่อว่าจะมีบทบาทสำคัญต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจภายหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รวมถึงการได้แลกเปลี่ยนการใช้เครื่องมือทางด้านการเงินและการคลัง ที่จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายลดการผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ตามความตกลงปารีส (Paris Agreement) และอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 (UN Climate Change Conference of the Parties: COP26) เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs)

รวมถึงประเด็นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อมุ่งสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล (Digitalization for Digital Economy) เพื่อดำเนินนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ การเชื่อมโยงการชำระเงินในภาคการเงิน รวมทั้งการระดมทุนและเข้าถึงแหล่งเงินทุนของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises: SMEs) ในด้านตลาดทุน เช่น Crowdfunding และ Initial Coin Offering เพื่อมุ่งสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาคเอเปค ซึ่งประเทศไทย ได้นำเสนอความสำเร็จในการนำเทคโนโลยีมาใช้ดำเนินมาตรการสนับสนุนเศรษฐกิจและช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผ่านการใช้แอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” และ “ถุงเงิน” เช่น โครงการเราชนะ โดยมีแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” เป็นช่องทางหนึ่งในการรับวงเงินช่วยเหลือ โครงการคนละครึ่ง ที่ประชาชนสามารถใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” และร้านค้ารายย่อยสามารถรับชำระเงินผ่านแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” เป็นต้น การดำเนินมาตรการข้างต้นถือเป็นจุดเริ่มต้นในการขับเคลื่อนไทยเข้าสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล และกระจายผลประโยชน์สู่เศรษฐกิจระดับฐานราก รวมถึงสนับสนุนการเติบโตอย่างครอบคลุมต่อไป 

ส่วนประเด็นที่หลายฝ่ายเป็นกังวล โดยเฉพาะ ปัญหาความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครน นั้น ทาง นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สั่งให้จับตาและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ในประเด็นที่มีผลกระทบโดยตรง โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นอาจกระทบกับอัตราเงินเฟ้อ รวมถึงผลกระทบต่อความผันผวนในตลาดหุ้น และราคาทองคำ อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวเชื่อว่าปัญหาดังกล่าวจะเป็นผลกระทบในระยะสั้น และไม่น่าจะมีผลกระทบกับไทยโดยตรงมากมาก เนื่องจากการค้าระหว่างไทยกับรัสเซียมีไม่มาก กระนั้น กระทรวงการคลังจะติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะผลกระทบกับอัตราเงินเฟ้อและราคาสินค้าที่อาจปรับตัวสูงขึ้นจากราคาพลังงานในตลาดโลกที่จะปรับตัวสูงขึ้นตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password