ปตท.สผ.-จุฬาฯ พัฒนางานวิจัยและสร้างบุคลากร ด้านสำรวจและผลิตปิโตรเลียม
ปตท.สผ. ร่วมกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนางานวิจัยทางวิชาการ ทั้งด้านธรณีศาสตร์ วิศวกรรมปิโตรเลียม และสร้างบุคลากรด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม เพื่อเป็นกำลังหลักในการแสวงหาแหล่งพลังงาน สร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ ต่อยอดองค์ความรู้สำหรับการพัฒนาเทคโนโลยี CCS
นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า ปตท.สผ. ได้ริเริ่มโครงการ PTTEP Subsurface University Energy Connect ซึ่งเป็นความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในประเทศไทย เพื่อศึกษา พัฒนางานวิจัย แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และสร้างบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในหลากหลายสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง เช่น ธรณีศาสตร์ วิศวกรรมปิโตรเลียม เป็นต้น เนื่องจากปิโตรเลียมยังคงเป็นแหล่งพลังงานหลักที่มีความสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ขณะเดียวกัน องค์ความรู้ในด้านธรณีศาสตร์ ทั้งธรณีวิทยาและธรณีฟิสิกส์ สามารถนำมาใช้ในการพัฒนากระบวนการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ CCS (Carbon Capture and Storage) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่สำคัญในการนำมาใช้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ เพื่อช่วยขับเคลื่อนเป้าหมายของประเทศไทยในการลดปัญหาภาวะโลกร้อน
ล่าสุด ปตท.สผ. ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MoU) กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้ความร่วมมือในโครงการ PTTEP Subsurface University Energy Connect โดยเน้นการให้ความสำคัญกับการศึกษาและวิจัยที่เกี่ยวข้องกับงานธรณีศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยี CCS ร่วมกัน
นายมนตรี กล่าวว่า “สถาบันการศึกษา เป็นอีกภาคส่วนสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนการพัฒนาการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ความร่วมมือระหว่าง ปตท.สผ. และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการผลิตและพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถในด้านธรณีศาสตร์และวิศวกรรมปิโตรเลียม ในครั้งนี้ จะช่วยส่งเสริมการสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพให้กับอุตสาหกรรมพลังงาน ซึ่งเป็นการสนับสนุนประเทศไทยทั้งด้านการสร้างความมั่นคงทางพลังงาน และการขับเคลื่อนประเทศไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำอีกด้วย”
ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีพันธกิจมุ่งผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพออกไปเป็นผู้นำแห่งอนาคต ตลอดจนสร้างสรรค์องค์ความรู้และนวัตกรรม เพื่อสร้างเสริมสังคมสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่ผ่านมาจุฬาฯ ได้รับการสนับสนุนด้านทุนวิจัยและการพัฒนาหลักสูตรทางด้านปิโตรเลียมจาก ปตท.สผ. ซึ่งช่วยเพิ่มศักยภาพทางด้านงานวิจัย วิชาการของจุฬาฯ ในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวหน้า สำหรับความร่วมมือทางวิชาการระหว่างจุฬาฯ กับ ปตท.สผ. ภายใต้โครงการ PTTEP Subsurface University Energy Connect ในครั้งนี้ จะช่วยต่อยอดงานวิจัยและความร่วมมือทางวิชาการระหว่างทั้งสององค์กร รวมไปถึงการเพิ่มองค์ความรู้ใหม่ทางด้านงานธรณีศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ซึ่งจะมีส่วนร่วมผลักดันประเทศไทยให้ก้าวเข้าสู่สังคมที่มีความยั่งยืนทางพลังงานและสิ่งแวดล้อม”
ที่ผ่านมา ภายใต้โครงการ PTTEP Subsurface University Energy Connect ปตท.สผ. ได้ลงนามความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมีเป้าหมายจะขยายความร่วมมือดังกล่าวไปยังมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ต่อไป