ดัชนีราคาค่าก่อสร้างบ้านมาตรฐาน ไตรมาส 3 ปี 66 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5

ดัชนีราคาค่าก่อสร้างบ้านมาตรฐาน ไตรมาส 3 ปี 2566 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน มีค่าดัชนีเท่ากับ 134.2 ปัจจัยที่สำคัญมาจากค่าตอบแทนในหมวดงานออกแบบก่อสร้างและงานระบบ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 ขณะที่เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กราคาลดลงร้อยละ -9.6

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (REIC) รายงานดัชนีราคาค่าก่อสร้างบ้านมาตรฐาน ไตรมาส 3 ปี 2566 มีค่าดัชนีเท่ากับ 134.2 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2566 (QoQ) และเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) ปัจจัยที่ส่งผลให้ดัชนีราคาเพิ่มขึ้นนั้นมาจากค่าตอบแทนในหมวดงานออกแบบก่อสร้างและงานระบบ ที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดในหมวดงานสถาปัตยกรรมร้อยละ 3.6 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่หมวดงานวิศวกรรมโครงสร้าง ลดลงร้อยละ -2.6 และ หมวดงานระบบสุขาภิบาล ลดลงร้อยละ -1.7 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY)

ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า หมวดราคาวัสดุก่อสร้างที่ลดลงมี 4 รายการ ได้แก่ เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สุขภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์คอนกรีตและอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กที่ลดลงมากที่สุดถึงประมาณร้อยละ -9.6 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี (YoY) โดยเป็นผลมาจากราคาตลาดโลกที่เริ่มมีการปรับตัวลดลงตามอุปสงค์และอุปทานของเหล็ก

เนื่องจากมีปริมาณเหล็กส่วนเกินจากวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ในจีนที่ส่งผลให้อุปสงค์ของเหล็กภายในประเทศจีนลดลง ทำให้มีอุปทานเหล็กส่วนเกินจากจีนบางส่วนมีการระบายสต๊อกมาที่ประเทศไทยมากขึ้น และราคาน้ำมันดีเซลต่ำลง ซึ่งมีผลต่อต้นทุนการผลิตและราคาวัสดุก่อสร้างหมวดต่าง ๆ จึงส่งผลให้ราคาเหล็กในประเทศไทยลดลง ขณะที่ดัชนีราคาหมวดกระเบื้อง ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ และวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ เพิ่มขึ้น เนื่องจากสินค้าวัสดุก่อสร้างส่วนใหญ่มีต้นทุนเพิ่มขึ้นทั้งจาก ราคาวัตถุดิบและค่าดำเนินการที่สูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

ส่วนหมวดแรงงานมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เมื่อพิจารณาจำแนกต้นทุนของงานก่อสร้างในแต่ละหมวด พบว่า

1.หมวดงานออกแบบก่อสร้างและงานระบบ

งานวิศวกรรมโครงสร้าง มีอัตราค่าตอบแทนลดลงร้อยละ -2.6 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) และลดลงร้อยละ -0.9 เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2566 (QoQ) โดยมีสัดส่วนร้อยละ 27.6 ของหมวดงานออกแบบก่อสร้างและงานระบบ

    งานสถาปัตยกรรม มีอัตราค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) และเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2566 (QoQ) โดยมีสัดส่วนร้อยละ 66.1 ของหมวดงานออกแบบก่อสร้างและงานระบบ

    งานระบบสุขาภิบาล มีอัตราค่าตอบแทนลดลงร้อยละ -1.7 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2566 (QoQ) โดยมีสัดส่วนร้อยละ 2.7 ของหมวดงานออกแบบก่อสร้างและงานระบบ

    งานระบบไฟฟ้าและระบบสื่อสาร อัตราค่าตอบแทนลดลงร้อยละ -0.1 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) และลดลงร้อยละ -0.1 เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2566 (QoQ) โดยมีสัดส่วนร้อยละ 3.6 ของหมวดงานออกแบบก่อสร้างและงานระบบ

    2.หมวดวัสดุก่อสร้าง คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 60.3 ของค่าก่อสร้างบ้านมาตรฐาน มีการเปลี่ยนแปลงดังนี้

    ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) และเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2566 (QoQ) โดยมีสัดส่วนร้อยละ 27.9 ของหมวดวัสดุก่อสร้าง

    ผลิตภัณฑ์คอนกรีต ราคาลดลงร้อยละ -1.1 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) และลดลงร้อย -0.4 เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2566 (QoQ) โดยมีสัดส่วนร้อยละ 7.1 ของหมวดวัสดุก่อสร้าง

    เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ราคาลดลงร้อยละ -9.6 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) และลดลงร้อยละ -3.5 เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2566 (QoQ) โดยมีสัดส่วนร้อยละ 8.9 ของหมวดวัสดุก่อสร้าง

      กระเบื้อง ราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.6 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) และเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2566 (QoQ) โดยมีสัดส่วนร้อยละ 5.8 ของหมวดวัสดุก่อสร้าง

      สุขภัณฑ์ ราคาลดลงร้อยละ -8.9 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) และลดลงร้อยละ -8.9 เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2566 (QoQ) โดยมีสัดส่วนร้อยละ 3.0 ของหมวดวัสดุก่อสร้าง

      อุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา ราคาลดลงร้อยละ -1.0 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) และลดลงร้อยละ -0.1 เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2566 (QoQ) โดยมีสัดส่วนร้อยละ 6.1 ของหมวดวัสดุก่อสร้าง

      วัสดุก่อสร้างอื่นๆ ราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) แต่ลดลงร้อยละ -0.1 เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2566 (QoQ) โดยมีสัดส่วน ร้อยละ 41.2 ของหมวดวัสดุก่อสร้าง

      3.หมวดแรงงาน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 39.7 ของค่าก่อสร้างบ้านมาตรฐาน โดยค่าแรงงานมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

      วิธีการจัดทำข้อมูล

      ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ร่วมกับสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน จัดทำดัชนีราคาค่าก่อสร้างบ้านมาตรฐาน เป็นประจำทุกไตรมาส โดยใช้ราคาปี 2553 เป็นปีฐาน

        ในการจัดทำดัชนีนี้ จะใช้แบบบ้าน “ครอบครัวไทยเป็นสุข 5” ของกรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นตัวแบบในการคำนวณราคาค่าก่อสร้าง ซึ่งแบบบ้านดังกล่าว เป็นบ้าน 2 ชั้น พื้นที่ใช้สอย 169 ตารางเมตร โดยใช้สมมติฐานระยะเวลาการก่อสร้างบ้านไว้ประมาณ 180 วัน ราคาค่าก่อสร้างบ้าน จะนับรวมค่าดำเนินการ และภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วแต่ไม่นับรวมราคาที่ดินและค่าใช้จ่ายในการพัฒนาที่ดิน เช่น ค่าใช้จ่ายในการถมดิน และปรับหน้าดิน

        หมวดงานออกแบบก่อสร้างและงานระบบที่นำมาใช้คำนวณดัชนี ได้แก่ งานวิศวกรรมโครงสร้าง งานสถาปัตยกรรม งานระบบสุขาภิบาลงานระบบไฟฟ้าและระบบสื่อสารและงานอื่น ๆ

        ส่วนหมวดวัสดุก่อสร้าง จะใช้ข้อมูลราคาขายส่งวัสดุก่อสร้างในกรุงเทพฯ ของกระทรวงพาณิชย์ และหมวดแรงงาน จะใช้ข้อมูลค่าแรงขั้นต่ำของกระทรวงแรงงานในการจัดทำดัชนี

        ข้อควรระวังในการใช้ข้อมูล
        ดัชนีราคาค่าก่อสร้างบ้านมาตรฐาน จัดทำขึ้นเพื่อใช้วัดความเปลี่ยนแปลงของราคาค่าก่อสร้างบ้านที่ประชาชนจ้างผู้รับเหมาเป็นผู้ก่อสร้างคราวละ 1 หลัง แต่ไม่สามารถใช้วัดความเปลี่ยนแปลงของราคาค่าก่อสร้างบ้านจัดสรรที่สร้างโดยผู้ประกอบการซึ่งจ้างผู้รับเหมาก่อสร้างคราวละหลายๆ หลังได้

        Login

        Welcome! Login in to your account

        Remember me Lost your password?

        Lost Password