“พิมพ์ภัทรา” สั่ง กนอ. สำรวจความพร้อมรับมือ น้ำท่วม-น้ำแล้งในนิคมฯ

“พิมพ์ภัทรา” สั่งการ กนอ. ติดตามสถานการณ์น้ำใกล้ชิด ต้องไม่กระทบจากน้ำท่วม-น้ำแล้ง ด้าน “วีริศ” เด้งรับนโยบาย ย้ำวางแผนรับมือน้ำแล้งอีอีซีแล้ว ขณะที่นิคมฯ พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมมั่นใจรอดแน่

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ การนิคมอุตสาหกรรม (กนอ.) เตรียมมาตรการป้องกันน้ำท่วม – น้ำแล้ง โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยง เพื่อลดผลกระทบจากความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ประกอบการและประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะสถานการณ์น้ำท่วมที่ปัจจุบันส่งผลกระทบไปแล้วหลายจังหวัด อาทิ ตาก สุโขทัย กาฬสินธุ์ ยโสธร อุบลราชธานี และปราจีนบุรี

รวมทั้งขอให้กำชับไปยังนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 68 แห่งทั่วประเทศ ให้ติดตามและเฝ้าระวังการเกิดน้ำท่วมฉับพลัน โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความเสี่ยง เช่น นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า (ไฮเทค) และนิคมอุตสาหกรรมนครหลวง ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นพื้นที่ราบลุ่มต่ำและติดแม่น้ำเจ้าพระยา รวมถึงนิคมอุตสาหกรรมบางปู จังหวัดสมุทรปราการ หากเกิดน้ำทะเลหนุนร่วมกับปริมาณฝนในพื้นที่มาก ซึ่งอาจจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดการระบายน้ำได้ช้า รวมทั้งยังอยู่ใกล้กับชุมชนอีกด้วย อย่างไรก็ตาม สำหรับสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่อีอีซีนั้น ได้รับรายงานว่า กนอ.มีมาตรการเตรียมรับมือเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ด้านนายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า กนอ. พร้อมดำเนินการตามนโยบายของ นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ทันที โดยความกังวลเรื่องสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมนั้น ขณะนี้ยังมีความเสี่ยงยังอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ เนื่องจากนิคมอุตสาหกรรมเกือบทุกแห่งมีเขื่อนกั้นน้ำและระบบสูบน้ำที่ดี มีการก่อสร้างเขื่อนและปรับปรุงระบบระบายน้ำในนิคมอุตสาหกรรมทุกแห่ง เพื่อป้องกันการเกิดน้ำท่วมซ้ำซาก และไม่ให้กระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ

นอกจากนี้ ได้สั่งการให้ทุกนิคมฯ เข้าช่วยเหลือชุมชนในการขุดลอกคูคลอง กำจัดวัชพืช เตรียมเครื่องสูบน้ำ และประสานงานกับหน่วยงานในท้องถิ่นด้วย อย่างไรก็ตาม ในส่วนของนิคมอุตสาหกรรมบางปู ที่คาดการณ์ว่าจะสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมแล้วเสร็จในปี 2567 นั้น ได้สั่งการให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดหากมีฝนตกหนัก เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นจากการระบายน้ำไม่ทัน

ขณะนี้ ได้สั่งการทุกนิคมอุตสาหกรรมให้ดำเนินการตามแนวทางการบริหารจัดการปัญหาน้ำท่วมในนิคมอุตสาหกรรมอย่างเคร่งครัด คือ 1.ติดตามสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด 2.คาดการณ์ปริมาณฝนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง 3.ตรวจสอบและซ่อมแซมบำรุงรักษาเครื่องสูบน้ำ รวมถึงเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองที่มีอยู่ให้ใช้งานได้ 100 เปอร์เซ็นต์ 4.พร่องน้ำภายในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมฯ ให้อยู่ในระดับต่ำสุด เพื่อเป็นพื้นที่แก้มลิงรองรับน้ำ 5.ประสานจัดเตรียมเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่สำรองจากภายนอก ทั้งแบบใช้น้ำมันและแบบใช้ไฟฟ้า เข้ามาสนับสนุนทันทีที่มีการร้องขอ 6.สื่อสารให้ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม รวมทั้งผู้เกี่ยวข้อง ทราบถึงสถานการณ์ล่าสุดอย่างต่อเนื่อง 7.กำหนดให้ทุกนิคมอุตสาหกรรมซ้อมแผนฉุกเฉินรองรับอุทกภัยเป็นประจำ และ 8.กรณีที่มีความเสี่ยงว่าจะเกิดอุทกภัย ให้รีบรายงานผู้ว่าการ กนอ. และผู้บริหาร กนอ. ทราบอย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะยุติ

“มั่นใจว่ามาตรการทั้งหมดของ กนอ. จะรับมือสถานการณ์ฝนตกหนักได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการในนิคมฯ ทุกแห่ง รวมทั้งชุมชนโดยรอบได้ ขณะที่สถานการณ์ภัยแล้งจากปรากฏการณ์เอลนีโญ กนอ. ยังคงติดตามสถานการณ์น้ำในภาคตะวันออกอย่างใกล้ชิด ซึ่งจากรายงานสถานการณ์ล่าสุดนั้น ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำหลักที่สำคัญในพื้นที่จังหวัดระยอง 3 อ่าง ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำดอกกราย อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล และอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ ปริมาณน้ำยังมีเพียงพอ ขณะเดียวกันช่วงที่ผ่านมามีฝนตกบ่อยครั้ง ทำให้มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นอีกด้วย อย่างไรก็ตาม กนอ. ยังจัดหาแหล่งน้ำสำรองเพื่อเตรียมไว้สำหรับใช้ในนิคมอุตสาหกรรมอีกด้วย โดยหารือร่วมกับภาคเอกชน เพื่อวางแผนรับมือภัยแล้งในพื้นที่อีอีซีไว้แล้ว” ผู้ว่าการ กนอ. กล่าว

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password