กลุ่ม GPSC จับมือ มทส. เปิดโครงการนวัตกรรมพลังงานอัจฉริยะ

CHPP และ Nuovo Plus บริษัทในกลุ่ม GPSC ผนึก มทส. เปิดตัวโครงการนวัตกรรมพลังงานอัจฉริยะในสถาบันอุดมศึกษาของประเทศไทย ต้นแบบแหล่งเรียนรู้การบริหารจัดการพลังงานเพื่อความยั่งยืน สู่ Smart Grid ร่วมขับเคลื่อนโคราชสู่ Smart City ในอนาคต

นางรสยา เธียรวรรณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่พัฒนาธุรกิจ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC เปิดเผยว่า GPSC ได้เปิดโครงการนวัตกรรมพลังงานอัจฉริยะแห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง บริษัทในกลุ่ม GPSC ได้แก่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าและพลังงานร่วม จำกัด หรือ CHPP ซึ่ง GPSC ถือหุ้น 100% และบริษัท นูออโว พลัส จำกัด หรือ Nuovo Plus ซึ่ง GPSC ถือหุ้น 49% กับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) เพื่อส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) ภายในอาคารของมหาวิทยาลัยฯ เพื่อร่วมมือในการวิจัยพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์ และยังเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมพลังงานหมุนเวียนที่สำคัญของประเทศไทย

โครงการดังกล่าว มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 6 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์บนหลังคา (Solar Rooftop) ขนาดกำลังการผลิต 1.72 เมกะวัตต์ และการติดตั้งโซลาร์ลอยน้ำ (Floating Solar) ขนาดกำลังการผลิต 4.28 เมกะวัตต์ โดยได้นำระบบดิจิทัลเพื่อการบริหารจัดการการใช้พลังงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด ควบคู่กับการติดตั้งระบบกักเก็บพลังงาน (Battery Energy Storage System: BESS) เพื่อเป็นโครงข่ายนวัตกรรมพลังงานหมุนเวียนอัจฉริยะในสถาบันอุดมศึกษาของประเทศไทย และเป็นสถาบันการศึกษาต้นแบบของระบบการบริหารจัดการไฟฟ้าอัจฉริยะหรือ Smart Grid ที่สามารถต่อยอดไปสู่การพัฒนาไปสู่เมืองอัจฉริยะหรือ Smart City ได้ในอนาคตของจังหวัดนครราชสีมา

“การพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนดังกล่าว มหาวิทยาลัยฯ สามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดได้ถึง 8.5 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมงต่อปี ซึ่งจะสามารถลดค่าไฟฟ้าของมหาวิทยาลัยฯ ได้ถึง 510 ล้านบาทตลอดอายุโครงการ 25 ปี และลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ถึง 115,000 ตัน ส่วนการติดตั้ง Floating Solar จะช่วยลดการระเหยน้ำในอ่างเก็บน้ำมากกว่า 30,000 ลูกบาศก็เมตรต่อปี ซึ่งเป็นการเพิ่มศักยภาพพลังงานหมุนเวียนให้มีประสิทธิภาพ และเป็นศูนย์การเรียนรู้แห่งใหม่ด้านพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อชุมชนที่มีส่วนสำคัญต่อการอนุรักษ์พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน” นางรสยากล่าว

ทั้งนี้ การพัฒนาโครงการดังกล่าว ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ ปี 2564 และสามารถดำเนินการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบของมหาวิทยาลัยตั้งแต่ต้นปี 2566 เป็นต้นมา โดยรายละเอียดของการดำเนินงานได้ติดตั้งระบบไฟฟ้าเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย ส่วนที่ 1. Solar Rooftop บริเวณหลังคาของ 5 อาคาร ขนาดกำลังไฟฟ้ารวมประมาณ 1.66 เมกะวัตต์ ใช้แผงเซลล์แสงอาทิตย์แบบ Mono PERC Half-Cell Module ที่มีคุณสมบัติพิเศษผลิตจากซิลิกอน เซลล์ขนาดเล็กที่มีประสิทธิภาพการทำงานสูง อายุการใช้งานที่ยาวนาน ส่วนที่ 2. Solar Rooftop บริเวณหลังคาทางเดินอาคารเรียนรวม 1 ขนาดกำลังติดตั้ง 0.06 เมกะวัตต์ เป็นแผงเซลล์แสงอาทิตย์แบบ Bifacial Cells มีความโดดเด่นด้านการออกแบบเพื่อให้แสงส่องผ่านได้ทั้ง 2 ด้านเพื่อประสิทธิภาพสูงสุด ส่วนที่ 3. Floating Solar บริเวณอ่างเก็บน้ำสุระ 1 ขนาดกำลังติดตั้งรวมประมาณ 4.28 เมกะวัตต์ ด้วยทุ่นลอยน้ำ G Float ซึ่งเป็นเทคโนโลยีของ CHPP ที่ใช้วัตถุดิบ (Raw Material) เป็นเม็ดพลาสติกโพลิเอทิลีนเกรดพิเศษที่ผสมสารกันแสง UV มีคุณสมบัติคงทนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และยังสามารถนำกลับไปสู่กระบวนการรีไซเคิลได้หลังจากสิ้นสุดอายุการใช้งานอีกด้วย

นอกจากนี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานให้สามารถรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานสะอาดได้อย่างต่อเนื่อง และเป็นต้นแบบในด้านการซื้อขายไฟฟ้าแบบ Peer to Peer Trading พร้อมกับสามารถรายงานผลการซื้อขายได้แบบ Real-time จึงได้ติดตั้งระบบ BESS ขนาด 100 กิโลวัตต์/200 กิโลวัตต์-ชั่วโมง โดยใช้ระบบ Monitoring Platform ซึ่งเป็นระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อทำการวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าในแต่ละช่วงเวลาให้สอดรับกับการผลิตกระแสไฟฟ้า นับเป็นการพัฒนาแพลตฟอร์มการซื้อขายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Trading Platform) ที่จะเป็นการรองรับการจัดการพลังงานแบบครบวงจรอย่างมีประสิทธิภาพ

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password