5 มาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่เกิดจากอุตสาหกรรมอ้อย

สอน. เผย 5 มาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่เกิดจากอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ฤดูการผลิตปี 66/67 พร้อมจับมือ 4 หน่วยงานเครือข่าย ลงนาม MOU ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายให้เติบโตอย่างยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

นายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า สอน. มุ่งเน้นนโยบายในการลดฝุ่น PM 2.5 ที่เกิดจากอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย จึงได้กำหนดมาตรการการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่เกิดจากอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ฤดูการผลิตปี 2566/2567 ดังนี้

1.มาตรการช่วยเหลือชาวไร่อ้อยที่ดูแลพื้นที่เพาะปลูกอ้อยโดยไม่มีการเผาอ้อย ส่งเสริมสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อเข้าถึงเครื่องจักรกลการเกษตรในไร่อ้อย และการบริหารจัดการน้ำในไร่อ้อย ร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และส่งเสริมให้ชาวไร่อ้อยจำหน่ายใบอ้อยและยอดอ้อยให้กับโรงงานเพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้น

2. มาตรการช่วยเหลือโรงงานน้ำตาลที่ไม่รับอ้อยเผาเข้าหีบ ส่งเสริมสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับโรงงานน้ำตาลในการซื้อเครื่องจักรกลการเกษตรในไร่อ้อยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อย และแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ส่งเสริมและให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการได้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อเสริมสภาพคล่องในการดำเนินกิจการและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรที่ผลิตในประเทศเพื่อซื้อในราคาที่เหมาะสม กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมภาคการผลิตภายในประเทศ

3. มาตรการทางกฎหมาย กำกับติดตามทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการลักลอบเผาอ้อย ร่วมกับกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และโรงงานน้ำตาลที่จัดตั้งขึ้นใหม่จะต้องมีแผนการตัดอ้อยสดคุณภาพดีและแนวทางการรับอ้อยเข้าสู่โรงงานของชาวไร่อ้อยคู่สัญญา ส่วนโรงงานน้ำตาลที่ตั้งอยู่เดิมจะต้องมีการจัดทำแผนดังกล่าวภายใน 2 ปี พร้อมการนำกฎหมายอื่นมากำหนดชนิดและแหล่งที่มาของวัตถุดิบในการผลิตน้ำตาลและผลิตภัณฑ์อื่น

4. มาตรการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ร่วมกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Development Bank) เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 และร่วมกับ ธ.ก.ส. ในการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการเสริมสภาพคล่องระยะสั้นในช่วงการเก็บเกี่ยวอ้อยให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อย

5. มาตรการ Burning Tax (Carbon Tax) หารือร่วมกับกรมสรรพสามิตในการกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาการลักลอบเผาอ้อยและปัญหาฝุ่น PM 2.5 ด้วยมาตรการ Burning Tax (Carbon Tax) ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวและจิตสำนึกในการใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม และผลักดันมาตรการคาร์บอนเครดิต และการซื้อ-ขายคาร์บอน ในกระบวนการผลิตอ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อสร้างรายได้เพิ่มให้แก่ระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย

นอกจากนี้ สอน. ยังได้กำหนดยุทธศาสตร์การบริหารจัดการอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) เพื่อบริหารจัดการอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมนำนโยบาย BCG มาใช้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อย น้ำตาลทราย และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และการปรับโครงสร้างการบริหารจัดการอุตสาหกรรมนี้เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง

ทั้งนี้ เพื่อให้การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ สอน. จึงได้บูรณาการการทำงานร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในรูปแบบการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับกรมส่งเสริมการเกษตร สถาบันอาหาร บริษัท น้ำตาลราชบุรี จำกัด และบริษัท เคทิส วิจัยและพัฒนา จำกัด โดยอาศัยความเชี่ยวชาญของแต่ละหน่วยงานมาสนับสนุนและส่งเสริมให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเติบโตอย่างยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

    Login

    Welcome! Login in to your account

    Remember me Lost your password?

    Lost Password