อุตฯ จยย.โตสวนทาง MPl 6 เดือนแรกปี66 หดตัวร้อยละ 4.60

สศอ. เผย ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม เดือนมิถุนายน ปี 2566 อยู่ที่ระดับ 92.53 ลดลงร้อยละ 5.24 สำหรับ 6 เดือนแรก ปี 2566 เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 95.73 ลดลงร้อยละ 4.60 จากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ขณะที่อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์เติบโตต่อเนื่อง คาดปีนี้ผลิตทะลุ 2,100,000 คัน

นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนมิถุนายน ปี 2566 อยู่ที่ระดับ 92.53 ลดลงร้อยละ 5.24 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกัน ของปีก่อน อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 59.12 ด้าน MPI ไตรมาส 2 ปี 2556 เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 90.14 ลดลงร้อยละ 5.59 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยสำคัญจากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมยังคงชะลอตัวจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ยังคงอ่อนแอ รวมถึงรายได้เกษตรกรในเดือนมิถุนายน 2566 ลดลงร้อยละ 5.99 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่สองติดต่อกัน สะท้อนกำลังซื้อจากภาคเกษตรที่ยังคงเปราะบาง อย่างไรก็ดี การขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว ยังคงทำให้ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม อาทิ น้ำตาล ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ เครื่องปรุงรส เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ สุรา กาแฟ

สำหรับดัชนี MPI 6 เดือนแรก ปี 2566 เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 95.73 ลดลงร้อยละ 4.60 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และอัตราการใช้กำลังการผลิต 6 เดือนแรกปี 2566 เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 60.72 อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมที่ยังคงขยายตัวในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ ยานยนต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.23 จากการผลิตรถยนต์นั่งเป็นหลัก รวมทั้งตลาดส่งออกยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง น้ำตาล ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.76 เนื่องจากปีนี้มีปริมาณอ้อยเข้าหีบมากกว่าปีก่อน ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.88 เป็นผลจากการเปิดรับนักท่องเที่ยวอย่างเต็มรูปแบบ น้ำมันปาล์ม ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.61 เนื่องจากความต้องการใช้ที่มากขึ้นในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และจักรยานยนต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.96 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ

“สำหรับประเด็นที่น่าติดตามในช่วงนี้ คือ อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ ที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถจักรยานยนต์ที่สำคัญของโลก การส่งออกรถจักรยานยนต์ของไทย เป็นอันดับ 4 ของโลก มีมูลค่าการส่งออก 2,974 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยตลาดส่งออกหลัก 5 อันดับแรก คือ เบลเยี่ยม จีน สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และญี่ปุ่น ทั้งนี้ ปัจจัยสนับสนุนที่ส่งผลให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิต ได้แก่ ตลาดในประเทศมีขนาดใหญ่ มีกําลังซื้ออย่างต่อเนื่อง นโยบายการส่งเสริมการลงทุน โดยให้การส่งเสริมการลงทุนประเภทกิจการรถจักรยานยนต์ที่มีความจุกระบอกสูบมากกว่า 248 ซีซี. ของบริษัทรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่ของต่างชาติที่เข้ามาตั้งโรงงานในประเทศไทย นอกจากนี้ ประเทศไทยมี Supply Chain ตลอดห่วงโซ่ และแรงงานในประเทศที่มีทักษะฝีมือในด้านการผลิต และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยมีการคาดการณ์ ในปี 2566 ว่าจะมีการผลิตรถจักรยานยนต์ 2,100,000 คัน แบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 1,750,000 คัน และผลิตเพื่อการส่งออก 350,000 คัน” นางวรวรรณ กล่าว

สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกต่อดัชนีผลผลิตในเดือนมิถุนายน 2566 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่

ยานยนต์ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.37 จากรถยนต์นั่งขนาดกลางและรถยนต์นั่งขนาดเล็ก เป็นหลัก ตามการขยายตัวของตลาดส่งออกสำคัญ เช่น เอเชีย โอเชียเนีย และยุโรป เป็นต้น

พลาสติกและยางสังเคราะห์ขั้นต้น ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.64 จากผลิตภัณฑ์ Polyethylene resin, Ethylene และ Benzen เป็นหลัก จากการเร่งผลิตชดเชยหลังการหยุดซ่อมบำรุงในช่วงเดือนก่อนหน้า รวมถึงการหยุดผลิตเพื่อปรับเปลี่ยนอุปกรณ์และหยุดซ่อมบำรุงเครื่องจักรของผู้ผลิตบางรายในปีก่อน

จักรยานยนต์ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 21.88 เ นื่องจากการขยายตัวของตลาดในประเทศและตลาดส่งออก

ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.64 จากน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 และน้ำมันเครื่องบิน เป็นหลัก เนื่องจากความต้องการใช้หลังการท่องเที่ยวเติบโตต่อเนื่อง และราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงจากปีก่อนกระตุ้นให้เกิดการบริโภคมากขึ้น

น้ำตาล ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.35 จากผลิตภัณฑ์น้ำตาลทรายขาวและกากน้ำตาล เป็นหลัก เนื่องจากการปิดหีบเร็วกว่าปีก่อนทำให้สามารถละลายน้ำตาลทรายดิบเป็นน้ำตาลทรายชนิดต่าง ๆ เพื่อส่งมอบได้มากกว่าปีก่อน

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password