หลังวิกฤติ COVID-19 ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เทรนด์ใหม่ ที่ได้รับความนิยมปี 2565

สสว. เผยผลการศึกษาธุรกิจท่องเที่ยวหลังวิกฤติ COVID-19 พบ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและวิถีชุมชุมชน เป็นเทรนด์ใหม่ที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวสูงสุดในปี 2565 ด้วยตัวเลขเติบโตสูงถึง 155% สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 220 ล้านบาท สามารถสร้างงาน สร้างอาชีพและรายได้สู่ชุมชน ลดความยากจน และความเข้มแข็งยั่งยืนของเศรษฐกิจในพื้นที่

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่าตามที่ สสว. มีบทบาทเป็นผู้จัดทำนโยบาย และชี้นำการส่งเสริมและเพิ่มศักยภาพ SME ให้เติบโตอย่างเข้มแข็งและยั่งยื่น ได้เล็งเห็นว่าหลังวิกฤติ COVID-19 เป็นต้นมา ธุรกิจที่มีแนวโน้มได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องคือกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวชุมชน ด้วยเหตุนี้ สสว. จึงได้ทำการศึกษาผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและสังคมจากการท่องเที่ยวชุมชนสู่ความยั่งยืน โดยมุ่งเน้นงานศึกษาในเชิงชุมชน เพื่อให้ทราบถึงผลกระทบ ปัจจัยความสำเร็จสู่ความยั่งยืนของชุมชน และกลไกการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวชุมชนเพื่อกำหนดมาตรการส่งเสริม โดยเลือกตัวอย่างการท่องเที่ยวชุมชน 3 พื้นที่ ได้แก่ 1.ชุมชนตลาดโรงพักเก่าสรรพยา จ.ชัยนาท 2.ชุมชนวัฒนธรรมมอญเกาะเกร็ด จ.นนทบุรี 3.ชุมแม่กำปอง จ.เชียงใหม่ ทำการศึกษาในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม 2566 ผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลที่รวบรวมจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน รวมถึงประชาชนในพื้นที่

โดยผลการศึกษา พบว่า การท่องเที่ยวสัมผัสวัฒนธรรมชนบทหรือท่องเที่ยวชุมชน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมหลายมิติ ทั้งด้านรายได้ที่เพิ่มขึ้น หนี้สินที่ลดลง และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนในชุมชน สามารถลดความยากจนในพื้นที่ และสร้างเป้าหมายในการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะธุรกิจที่พักสัมผัสวัฒนธรรมชนบทมีการฟื้นตัวด้านรายได้เพิ่มขึ้นถึง 155% เมื่อเทียบกับปีก่อน

โดยปี 2565 มีรายได้เฉลี่ย 30,500 บาท/เดือน หรือคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจรวม 220 ล้านบาท ขณะที่ ก่อนสถานการณ์ COVID-19 ธุรกิจดังกล่าวสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ถึง 1.9 พันล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 13% ของมูลค่าทางเศรษฐกิจในธุรกิจที่พักแรมทั้งหมด เมื่อพิจารณาภาพรวมในต้นปี 2566 รายได้ที่เกิดจากนักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนใหญ่เป็นชาวเอเชีย และนักท่องเที่ยวชาวไทยส่วนใหญ่ เป็นคนรุ่นใหม่ ซึ่งส่งผลดีต่อธุรกิจที่พักสัมผัสวัฒนธรรมชนบทในชุมชน

โดยธุรกิจดังกล่าวทั้งหมดเป็น ผู้ประกอบการ SME ส่วนใหญ่กระจายตัวอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ เลย สมุทรสงคราม เชียงราย และกาญจนบุรี

สำหรับผลกระทบในด้านเศรษฐกิจ พบว่า การท่องเที่ยวฯ สามารถสร้างรายได้โดยตรงจากการเดินทางเยี่ยมชมและพักแรม รวมทั้งสินค้าชุมชนและบริการชุมชนยังสามารถต่อยอดธุรกิจ คนในชุมชนสร้างอาชีพหลักและมีอาชีพเสริม หลายแหล่งท่องเที่ยวจากการศึกษาครั้งนี้ พบว่า แหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมสูง คนในชุมชนสามารถสร้างรายได้และลดภาระหนี้สิน รวมทั้งผลกระทบเชิงสังคมที่เกิดขึ้นในพื้นที่ เช่น การกลับบ้านเกิดของคนรุ่นใหม่ ลดการย้ายถิ่นจากชนบทเข้าสู่เมือง และสร้างโอกาสในการดูแลผู้สูงอายุในครอบครัว อีกทั้งความเป็นชุมชนบ้านเกิดทำให้เกิดการต่อยอดในการพัฒนาชุมชนตนเอง การรักษาทรัพยากรธรรมชาติของถิ่นกำเนิด การถ่ายทอดองค์ความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นให้กับคนรุ่นหลัง การส่งเสริมคุณภาพชีวิตในด้านการศึกษา การรักษาพยาบาล รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น

ขณะที่การท่องเที่ยวในลักษณะของการสัมผัสถึงวัฒนธรรมชนบทหรือการท่องเที่ยวชุมชนได้รับความนิยมสูงขึ้นนั้น ธุรกิจนี้จึงดึงดูดการลงทุนจากคนภายนอกชุมชน และทุนเอกชนรายใหญ่ ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อความยั่งยืนของชุมชนหากขาดข้อตกลงหรือกฏเกณฑ์ที่เป็นความเห็นร่วมกันของคนในชุมชน การขาดการเตรียมการรับมือกับการเปลี่ยนตัวผู้นำชุมชน

รวมถึงการกระจายผลประโยชน์อย่างยุติธรรมให้กับทั้งคนในชุมชนและชุมชนโดยรอบพื้นที่ ดังนั้น ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนให้การท่องเที่ยวสัมผัสวัฒนธรรมชนบทหรือท่องเที่ยวชุมชนประสบความสำเร็จจะประกอบด้วย ผู้นำชุมชน องค์การบริหารส่วนตำบล และคนในชุมชน ซึ่งต้องอาศัยการทำงานเชิงรุก การรับฟังความคิดเห็น และการกระจายผลประโยชน์ เป็นหลัก

โดยรัฐควรสนับสนุนองค์ความรู้กับผู้นำชุมชน ผ่านสถาบันการศึกษาในพื้นที่ ขณะที่การส่งเสริมการท่องเที่ยวฯ ให้เกิดความยั่งยืนมีคนรุ่นใหม่เป็นตัวแปรสำคัญ ดังนั้นภาครัฐควรให้ความสำคัญกับการวางรากฐาน หรือส่งต่อไปยังคนรุ่นใหม่ไปพร้อมกันด้วย สรุปได้ว่า การส่งเสริมการท่องเที่ยวฯ มี “ทรัพยากรมนุษย์” เป็นสิ่งสำคัญ เพราะเป็นองค์ประกอบในการขับเคลื่อนและส่งเสริมทุกมิติ

อย่างไรก็ดี ในปี 2566 สสว. ได้ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ดำเนินโครงการ SME Restart 2566 โดยการพัฒนาผู้ประกอบการกลุ่มท่องเที่ยว 5 กลุ่มธุรกิจหลัก ใน 10 พื้นที่ คือ นครราชสีมา อุดรธานี ชลบุรี เชียงใหม่ พิษณุโลก นครศรีธรรมราช กระบี่ ภูเก็ต ประจวบคีรีขันธ์ และกรุงเทพฯ รวมจำนวนกว่า 30 ชุมชน ให้มีศักยภาพในด้านต่าง ๆ เพิ่มขึ้น เช่น การปรับรูปแบบธุรกิจ (Business Model) การพัฒนาการเล่าเรื่อง (Storytelling) การสร้าง Digital Content การประสานเครือข่ายธุรกิจแบบ B2B และการท่องเทียวบนโลกเสมือน (Virtual Tour) เพื่อเตรียมพร้อมผู้ประกอบการ SME สู่การท่องเที่ยววิถีใหม่ เชื่อมโยงชุมชนสร้างรายได้แบบยั่งยืน

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password