กทม. นัด BTS ถกสางปมหนี้สายสีเขียว รอลุ้น ‘สภา กทม.’ เคาะจ่าย 2 หมื่นล้าน

‘ชัชชาติ’ นัด ‘คีรี’ ถกปมสายสีเขียว เล็งชงสภา กทม.ต้นเดือน ก.ค.นี้ เคาะจ่ายหนี้ 2 หมื่นล้านบาท งานติดตั้งระบบ รับเห็นใจเอกชน ส่วนข้อเสนอสัมปทานแลกหนี้ โยนรัฐบาลตัดสินคำสั่ง ม.44 ด้าน ‘คีรี’ มั่นใจสัญญาจ้างถูกกฎหมาย

12 มิ.ย.2566 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังหารือแนวทางแก้ไขปัญหาภาระหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว ร่วมกับ นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ว่า วันนี้บีทีเอสได้มาหารือเรื่องกรณีค่าจ้างการติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ (E&M) ของรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย 2 ที่ครบกำหนดชำระ ประมาณ 20,000 ล้านบาท จริงๆ แล้วกทม. ได้เตรียมตัวอยู่แล้ว

ทั้งนี้เนื่องจากที่ผ่านมากระบวนการในการดำเนินการตรงนี้มีอยู่ 2 ขั้นตอนที่ต้องไปดำเนินการต่อ คือ 1. เรื่องที่กรุงเทพธนาคม (เคที) ไปจ้างบีทีเอสเดินรถ ซึ่งขณะนั้น กทม. มอบหมายให้เคทีเป็นผู้ดำเนินการ ขั้นตอนต่อไปที่จะดำเนินการได้คือต้องให้สภากทม. อนุมัติก่อน และเรื่องที่ 2 คือ หากจะชำระเงินก็ต้องเอาเงินที่เป็นสะสมจ่ายขาด ซึ่งในสภากทม. ก็ต้องพิจารณาเหมือนกันทั้ง 2 เรื่องนี้คือเรื่องที่ต้องเอาเข้าสภากทม.

“ที่ผ่านมาที่ดำเนินการไปได้มีการคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาเรื่องนี้ เนื่องจากเป็นเรื่องที่มีรายละเอียดเยอะ คณะกรรมการวิสามัญก็ได้ศึกษาเรื่องนี้มีการประชุมแล้ว 5 ครั้ง ในเรื่องรายละเอียดต่างๆ คาดว่าเปิดการประชุมสภากทม. สมัยหน้า ก็สามารถนำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของสภากทม.ได้ว่าจะดำเนินการต่ออย่างไร เรื่องการชำระเงินดังกล่าว จะปฏิบัติตามเงื่อนไขสัญญาอย่างไรให้มันถูกต้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ด้วยความรอบคอบ”นายชัชชาติ กล่าว

ทั้งนี้ กทม. จะดำเนินการพร้อมกันใน 2 ทาง 1. เอาเรื่องเข้าสภากทม. เกี่ยวกับการชำระหนี้คาดว่าสมัยการประชุมนี้น่าจะพร้อม เนื่องจากศึกษากันมาพอสมควร 2. ติดตามเร่งรัดทางรัฐบาลอีกทางหนึ่ง จริงๆ แล้วเราทำหนังสือไปถึงกระทรวงมหาดไทยใน หลายประเด็น ประเด็นแรก อยากให้การสนับสนุนจากรัฐบาลสําหรับโครงสร้างพื้นฐานกับค่าติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ (E&M) เนื่องจากเมื่อครั้งที่ ม.44 มอบหมายให้กรุงเทพมหานครเป็นผู้รับผิดชอบ ไม่ได้ให้ค่าใช้จ่ายมาด้วย เรื่องที่ 2 คือ เรื่องที่ค้างอยู่ตาม ม. 44 จริงๆ แล้วตัวมูลหนี้ของ E&M อยู่ในเงื่อนไขสัญญาสัมปทานใหม่ที่เราส่งไปให้มหาดไทยเพื่อให้ค.ร.ม.พิจารณามติมูลหนี้ ถ้าเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ จะถูกหักลบด้วยสัญญาสัมปทาน ซึ่งตอนนี้เรื่องยังค้างอยู่ในค.ร.ม. ยังไม่มีข้อยุติ คงต้องสอบถามและเร่งรัดทางค.ร.ม. ด้วยว่าจะพิจารณาอย่างไร

“เราก็เห็นใจทางเอกชนเพราะมีภาระหนี้ที่เยอะ บีทีเอสก็เป็นตัวสำคัญที่ช่วยบรรเทาเรื่องการเดินทาง แต่ว่าเป็นระเบียบปฏิบัติซึ่งทั้งฝ่ายบริหารกับทางสภากทม. ก็เข้ามาหลังจากที่มีการดำเนินการไปแล้วนั้น ทำอย่างไรให้ทุกอย่างมันเป็นไปตามในกรอบระเบียบที่กำหนด” นายชัชชาติ กล่าว

ด้านนายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS กล่าวว่า จากการเจรจาครั้งนี้ทำให้บีทีเอสและ กทม.เข้าใจกันมากขึ้น ซึ่งเชื่อว่าผู้ว่าฯ กทม.จะพยายามแก้ไขปัญหา นำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมสภา กทม.เพื่อจะผลักดันเรื่องให้มีการใช้จ่าย และบีทีเอสมั่นใจว่าจะได้รับเงินก้อนใหญ่ 2 หมื่นล้านบาท จากการจ้าง E&M ซึ่งจะทำให้บีทีเอสสามารถนำเงินไปให้บริการผู้โดยสารได้ต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามส่วนปัญหาหนี้จากงาน O&M หรือค่าเดินรถและซ่อมบำรุงประมาณ 30,000 ล้านบาท ปัจจุบันยังอยู่ในกระบวนการศาลปกครองพิจารณา และเรื่องนี้อยู่ในคำสั่งเดิมของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ตามมาตรา 44 ซึ่งยอมรับว่า ขณะนี้ไม่ทราบว่าทาง ครม.รักษาการณ์นี้จะทำอะไรได้บ้าง เพราะเรื่องดังกล่าวไม่ได้ผ่านในชุดรัฐบาลที่แล้วแม้จะมีการนำเรื่องเข้าออกการประชุม ครม.ประมาณ 3-4 เที่ยว แล้ว.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password