ยอดผลิตเครื่องปรับอากาศพุ่งสูงสุดรอบ 8 ปี ส่งออกอันดับ 2 ของโลก
สศอ. เผย อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศ ปี 2566 ขยายตัวโดดเด่น รับฤดูร้อน หลังอุณหภูมิพุ่ง ปัญหาฝุ่น PM 2.5 หนุนความต้องการใช้เพิ่มขึ้น ส่งผลยอดการผลิตเครื่องปรับอากาศสูงสุดในรอบ 8 ปี ดันส่งออกเครื่องปรับอากาศขยับขึ้นอันดับ 2 ของโลก รองจากประเทศจีน
นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ฤดูร้อนในปี 2566 นี้ ส่งผลให้อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศได้รับอานิสงส์ขยายตัวโดดเด่น จากสภาพอากาศที่ร้อนจัดและสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ที่ปรับสูงขึ้นในช่วง 2 – 3 เดือนที่ผ่านมา โดยในเดือนมีนาคม 2566 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ของอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศ อยู่ที่ระดับ 144.39 ขยายตัวที่ร้อยละ 7.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการผลิตเครื่องปรับอากาศสูงสุดในรอบ 8 ปี ส่งผลให้ประเทศไทยขยับขึ้นเป็นผู้ส่งออกเครื่องปรับอากาศอันดับ 2 ของโลก รองจากประเทศจีน ทั้งนี้ คาดการณ์คำสั่งซื้อในระยะข้างหน้ายังคงได้รับอานิสงส์อย่างต่อเนื่อง
สำหรับปัจจัยสนับสนุนการผลิต ได้แก่ สภาพอากาศร้อน โดยเฉพาะภาวะโลกร้อนในปัจจุบันทำให้อุณหภูมิทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงประเทศไทยโดยเฉพาะเดือนเมษายนของทุกปีที่คาดการณ์อุณหภูมิจะปรับขึ้นสูงสุด ซึ่งในปีนี้อุณหภูมิในบางพื้นที่สูงกว่า 50 องศาเซลเซียส เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ที่มีความสามารถในการดักจับฝุ่น PM 2.5 กรองละอองสารพิษ แก้ไขปัญหาฝุ่นควันทั้งในกรุงเทพมหานครและเขตภาคเหนือ ควบคู่กับการประหยัดพลังงาน รวมทั้งการนำ AI เข้ามาใช้การควบคุมอุณหภูมิห้องหรือรับคำสั่งผ่านระบบอัจฉริยะ ตอบสนองพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป การระมัดระวังในการใช้จ่ายและเลือกซื้อสินค้าที่มีคุณสมบัติช่วยประหยัดไฟ ราคาย่อมเยา ผลิตในประเทศ และตลาดอสังหาริมทรัพย์ภายในประเทศมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง เช่น โครงการ คอนโดมิเนียม และบ้านเดี่ยว โดยมีอสังหาริมทรัพย์เปิดใหม่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ปี 2566 จำนวน 8,336 หน่วย ขยายตัวร้อยละ 95.7 จากเดือนก่อน
ขณะเดียวกัน การส่งออกเครื่องปรับอากาศเดือนมีนาคม 2566 มีมูลค่าสูงถึง 849.60 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 16.67 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ภาพรวมการส่งออก 3 เดือนแรก ปี 2566 มีมูลค่า 2,272.89 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 12.85 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยตลาดส่งออกหลักของเครื่องปรับอากาศไทย ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป อาเซียน ตะวันออกกลาง และอินเดีย คิดเป็นสัดส่วนรวมร้อยละ 80 ของมูลค่าการส่งออกเครื่องปรับอากาศทั้งหมดของไทย ทั้งนี้ สัดส่วนการผลิตเครื่องปรับอากาศของไทย แบ่งเป็นการผลิตเพื่อส่งออกประมาณร้อยละ 75 และผลิตเพื่อจำหน่ายภายในประเทศประมาณร้อยละ 25
“ในช่วงที่ประเทศไทยมีสภาพอากาศร้อนจัด ส่งผลให้อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศมีทิศทางและแนวโน้มเติบโตอย่างโดดเด่น จึงทำให้ความต้องการใช้เครื่องปรับอากาศเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ประกอบกับปัจจัยสนับสนุนต่าง ๆ ทั้งด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ที่สามารถช่วยแก้ปัญหา PM 2.5 รวมไปถึงอสังหาริมทรัพย์ที่มีการก่อสร้างใหม่ที่ทำให้ความต้องการซื้อเพื่อนำไปใช้ส่งเสริมการขาย สะท้อนให้เห็นว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมให้อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศยังเดินหน้าต่อไปได้ดี ขณะที่การส่งออกไปต่างประเทศมองว่าไทยยังคงยืนหนึ่ง และมีความสามารถในการแข่งขันสูง” นางวรวรรณ กล่าว