ส.อ.ท. ชู นวัตกรรมก่อสร้างอาคารยุคใหม่ เพิ่มโอกาสอุตฯวัสดุก่อสร้างไทย

ส.อ.ท. ชู นวัตกรรมก่อสร้างอาคารยุคใหม่ เพิ่มโอกาสของอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างไทย คาดปี 66-67 มูลค่าลงทุนก่อสร้างขยายตัวเฉลี่ย 4.5-5.5% ต่อปี จากการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับอีอีซี

นายวิกรม วัชระคุปต์ ประธานคลัสเตอร์วัสดุก่อสร้าง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวในงานสัมมนาเรื่อง “ทิศทางและโอกาสของอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างไทย และนวัตกรรมการออกแบบและก่อสร้างอาคารยุคใหม่” ว่า งานสัมมนาครั้งนี้ว่ามีเป้าหมายสำคัญเพื่อส่งเสริมและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) ผ่านความร่วมมือกับทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยมุ่งเน้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี นวัตกรรม และแนวโน้มอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างที่เป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรม

“คลัสเตอร์วัสดุก่อสร้างของ ส.อ.ท. จะช่วยส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง ผ่านการเผยแพร่องค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่ เพื่อเป็นแนวคิดการออกแบบใหม่สำหรับผู้ออกแบบไทย โดยจะคำนึงถึงการออกแบบที่เป็นระบบอุตสาหกรรมมาตรฐานสากล และคำนึงถึงการประกอบติดตั้งที่มีประสิทธิภาพ โดยใช้เทคโนโลยี Building Information Modeling ผ่านช่องทางดิจิทัลเพื่อสร้างการเชื่อมโยงในตัวออกแบบและโครงสร้าง ซึ่งไม่เพียงเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงานเท่านั้น แต่ยังช่วยลดปัญหาขยะที่เกิดจากการก่อสร้าง และการใช้พลังงานสิ้นเปลือง ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”

นอกจากนี้ คลัสเตอร์วัสดุก่อสร้างของ ส.อ.ท. ยังสะท้อนแนวโน้มอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างที่เป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากอุตสาหกรรมก่อสร้าง ถือเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่มีส่วนในการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ด้วยสัดส่วนเฉลี่ย 8.1% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ซึ่งมีผลต่อการจ้างงานและมีความเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมต่อเนื่องเป็นวงกว้าง โดยภาพรวมอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างของไทยในปัจจุบันถือว่ายังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปี พ.ศ.2566-2567 นี้ คาดการณ์ว่าจะเติบโตตามมูลค่าการลงทุนก่อสร้างโดยรวมที่คาดว่าจะขยายตัวเฉลี่ย 4.5-5.5% ต่อปี

โดยปัจจัยขับเคลื่อนหลักมาจากการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridors: EEC) ขณะที่การลงทุนก่อสร้างภาคเอกชนทั้งโครงการที่อยู่อาศัยและอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ มีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวตามกำลังซื้อที่น่าจะปรับตัวดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานที่คืบหน้ามากขึ้น” นายวิกรม กล่าวเสริม

ด้านนายวิวรรธน์ เหมมณฑารพ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เน้นย้ำถึงความร่วมมือระหว่างคลัสเตอร์วัสดุก่อสร้าง ส.อ.ท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ภาครัฐและภาคเอกชนตระหนักถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างที่มีความเกี่ยวเนื่องกับผู้ประกอบการในหลายธุรกิจ ซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องติดตามทิศทางการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมอย่างใกล้ชิด รวมถึงความท้าทายของอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

“สำหรับทิศทางธุรกิจของผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างและผู้รับเหมาก่อสร้างไทย เป็นเรื่องสำคัญของผู้ประกอบการรวมถึงผู้ที่สนใจในอุตสาหกรรมก่อสร้างควรรับทราบ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือ วางแผนสำหรับการประกอบธุรกิจอย่างมีคุณภาพ รวมทั้งปรับตัวอย่างทันท่วงทีต่อสถานการณ์ที่ในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งในระดับประเทศไทยและระดับภูมิภาค”

“นอกเหนือจากความท้าทายจากปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจทั้งภายในและต่างประเทศ ผู้ประกอบการจะต้องเตรียมความพร้อมกับมาตรการการค้าระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม อาทิ มาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) ของสหภาพยุโรป ที่จะส่งผลต่อการผลิตและการพัฒนาวัสดุให้สอดคล้องกับมาตรการ อีกทั้งยังต้องประสบกับความต้องการของลูกค้าทั้งในตลาดภาครัฐและภาคเอกชนที่จะเน้นการก่อสร้าง และโครงสร้างอาคารที่จะมุ่งสู่ Green Building ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวร่วมกันตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) ตั้งแต่นักอุตสาหกรรม นักออกแบบ และผู้รับเหมา” นายวิวรรธน์ กล่าว

ทั้งนี้ ส.อ.ท.สนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนคลัสเตอร์วัสดุก่อสร้าง ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มกันของกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับผู้ผลิต 13 กลุ่ม อาทิ แก้วและกระจก แกรนิตและหินอ่อน เคมี เซรามิก เทคโนโลยีชีวภาพ ปูนซีเมนต์ พลาสติก ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ไม้อัดไม้บางและวัสดุแผ่น โรงเลื่อยและโรงอบไม้ เหล็ก หลังคาและอุปกรณ์ อะลูมิเนียม เป็นต้น

รวมทั้งยังมีสภาอุตสาหกรรมจังหวัด 5 ภูมิภาค และมีการบูรณาการร่วมกันอย่างครอบคลุมและรอบด้าน ทั้งในเชิงอุตสาหกรรมและในเชิงพื้นที่ โดย ส.อ.ท. มีนโยบาย One FTI ที่จะมุ่งเน้นอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (Next-GEN Industries) ในโครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรอัจฉริยะ หรือ SAI (Smart Agricultural Industry) หรือโครงการความร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมจังหวัดที่ต้องการยกระดับพื้นที่สู่ Smart City จากการดำเนินโครงการดังกล่าว จึงจะต้องอาศัยความร่วมมือจากคลัสเตอร์วัสดุก่อสร้าง เพื่ออุตสาหกรรมไทยเติบโตทั้งระบบให้ยั่งยืน

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password