บีโอไอ โรดโชว์ดึงยักษ์ใหญ่สหรัฐลงทุนในประเทศไทย
บีโอไอ เผยความสำเร็จโรดโชว์ใหญ่ครั้งแรกผนึก ผู้แทนการค้าไทย – ผู้แทนหน่วยงานไทย ดึงการลงทุนบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของสหรัฐอเมริกา ย้ำมาตรการสนับสนุน อุตสาหกรรมดิจิทัล และอิเล็กทรอนิกส์ ตามยุทธศาสตร์ใหม่ บริษัทชั้นนำสหรัฐฯ ลั่นพร้อมเดินหน้าลงทุนในประเทศไทย
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ เปิดเผยภายหลังการเดินสายโรดโชว์ครั้งแรกของปี 2566 ณ นครซีแอตเติล และนครซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริการะหว่างวันที่ 1 – 3 กุมภาพันธ์ 2566 นำโดย หม่อมหลวงชโยทิต กฤดากร ผู้แทนการค้าไทย ซึ่งคณะประกอบด้วย เอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน กงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส ผู้แทนจากสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยได้เข้าพบหารือกับผู้บริหารของบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมดิจิทัลและอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ บริษัท Amazon Web Services (AWS) ที่ได้ประกาศลงทุนในประเทศไทยด้วยเงินลงทุนกว่า 1.9 แสนล้านบาท บริษัท Google ที่ประกาศจัดตั้ง Google Cloud Region ในประเทศไทย บริษัท Microsoft ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์รายใหญ่ของโลกที่ทำธุรกิจในไทยมายาวนาน บริษัท Western Digital ผู้ผลิตฮาร์ดดิสก์รายใหญ่ของโลก ซึ่งมีฐานการผลิตที่ใหญ่ที่สุดของบริษัทอยู่ในประเทศไทย และบริษัท Analog Devices ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์และ IC อันดับต้นของโลก ซึ่งได้ลงทุนและขยายฐานการประกอบและทดสอบเซมิคอนดัคเตอร์ในไทยอย่างต่อเนื่อง
ในการหารือกับสหรัฐฯ ผู้แทนการค้าไทยได้นำเสนอทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ทั้งการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้าถึงร้อยละ 50 การกำหนดเป้าหมายและแผนปฏิบัติในการลดการปล่อยคาร์บอน รวมทั้งการส่งเสริมเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS) อีกทั้งยังได้ชูนโยบายมุ่งเป้าใน 3 อุตสาหกรรมสำคัญ ได้แก่
1.อุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายเปลี่ยนผ่านไปสู่การผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคที่ออกมาตรการสนับสนุนแบบครบวงจร โดยเฉพาะการให้เงินอุดหนุนการซื้อรถยนต์ EV เพื่อสร้างตลาดในประเทศ และจะก่อให้เกิดการขยายตัวของอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องตามมา โดยเฉพาะการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และการพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มต่าง ๆ สำหรับ EV
2.อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนการยกระดับไปสู่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ต้นน้ำ เช่น การผลิตเวเฟอร์ (Wafer Fabrication) การออกแบบทางอิเล็กทรอนิกส์ การวิจัยและพัฒนานอกเหนือจากการประกอบและทดสอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ซึ่งประเทศไทยมีบริษัทรายใหญ่ตั้งฐานการผลิตอยู่แล้ว
3.อุตสาหกรรมดิจิทัล เพื่อส่งเสริมการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เช่น ดาต้าเซ็นเตอร์ขนาดใหญ่ บริการคลาวด์ที่มีคุณภาพสูง เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล
นอกจากนี้ คณะผู้แทนประเทศไทยยังได้นเสนอมาตรการส่งเสริมการลงทุนต่าง ๆ รวมทั้งการอำนวยความสะดวกผ่าน Long Term Resident (LTR) Visa อีกทั้งบริษัทได้สอบถามและหารือในประเด็นอื่น ๆ เช่น กลไกการจัดหาพลังงานหมุนเวียนสำหรับภาคอุตสาหกรรม แนวทางการลดผลกระทบจากข้อกำหนด Global Minimum Tax การพัฒนาบุคลากรและระบบนิเวศเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย และความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ที่มีกับประเทศต่าง ๆ
นายนฤตม์ กล่าว จากการที่บีโอไอได้ประกาศยุทธศาสตร์ใหม่ โดยมุ่งเน้นการลงทุนใน 5 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ BCG ยานยนต์ไฟฟ้า สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ ดิจิทัล และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ โรดโชว์ครั้งแรกของปีนี้ จึงได้เจาะไปที่สหรัฐอเมริกา เนื่องจากเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมดิจิทัลและอิเล็กทรอนิกส์ โดยทีมประเทศไทยได้ชูจุดเด่นทั้งในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพ ซัพพลายเชนครบวงจร รวมทั้งความสามารถในการจัดหาพลังงานหมุนเวียนสำหรับภาคอุตสาหกรรม ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของบริษัทชั้นนำ
นอกจากนี้ บีโอไอยังมีมาตรการใหม่ ๆ หลายเรื่องที่เป็นประโยชน์กับนักลงทุนสหรัฐฯ เช่น มาตรการรักษาและขยายฐานการผลิตเดิม มาตรการส่งเสริมการย้ายฐานธุรกิจแบบครบวงจร มาตรการส่งเสริมการพัฒนาบุคลากร และมาตรการยกระดับอุตสาหกรรมไปสู่ Smart and Sustainable Industry ทำให้ได้รับการตอบรับที่ดีจากบริษัทรายใหญ่ของสหรัฐฯ ซึ่งได้ยืนยันขยายฐานธุรกิจในไทยระยะยาว
ทั้งนี้ ในปี 2565 มีคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากสหรัฐอเมริกา จำนวน 33 โครงการ เงินลงทุนรวม 50,296 ล้านบาท สูงเป็นอันดับ 3 ของการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมด ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมดิจิทัล