“คมนาคม” แจงงบฯปี 66 กระตุ้นเม็ดเงินที่เป็นผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ 1.34 ล้านล้าน

“ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” แจงงบปี 66 กระทรวงคมนาคม คำนึงถึงประชาชนเป็นลำดับแรก ย้ำลงทุนบก ราง น้ำ อากาศ ได้รับจัดสรรลงในพื้นที่ มีการกระจายตัวครอบคลุมทุกภูมิภาคสร้างเม็ดเงินที่เป็นผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ 1.34 ล้านล้าน

วันที่ 4 มิ.ย.2565 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ได้ตอบชี้แจงข้อซักถามสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เรื่องการประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 สภาผู้แทนราษฎร วาระ 1 เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.ที่ผ่านมา ตามที่ได้มีการประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 สภาผู้แทนราษฎร วาระ 1 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายท่านได้อภิปรายและให้คำแนะนำเกี่ยวกับงาน ในความรับผิดชอบของกระทรวงคมนาคม

เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน กระทรวงคมนาคมจึงขอชี้แจงว่า กระทรวงคมนาคมคำนึงถึงพี่น้องประชาชน เป็นลำดับแรก โดยมีแนวคิดและแผนการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ เพื่อตอบสนองความต้องการในการแก้ปัญหาทั้งในอดีตและปัจจุบันที่พี่น้องประชาชนเผชิญอยู่รวมไปถึงการสร้างโอกาสในการเพิ่มความขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ทั้งนี้โดยมีการดำเนินการที่ยึดถึงหลัก 3 ข้อ คือถูกต้องตามมติคณะรัฐมนตรี ถูกต้องตามระเบียบและกฎหมาย และถูกต้องตามหลักธรรมาภิบาล ยึดถึงประโยชน์ของพี่น้องประชาชนและประเทศชาติเป็นศูนย์กลาง ยึดประโยชน์ของพี่น้องประชาชนเป็นสำคัญ การจัดสรรงบประมาณในทุกมิติของกระทรวงจะคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือนร้อนของพี่น้องประชาชน สร้างโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับพี่น้องประชาชน และมอบความปลอดภัยในการเดินทางให้กับพี่น้องประชาชน

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า การกระจายตัวของงบประมาณ ของกระทรวงคมนาคมประจำปี 2566 พบว่างบประมาณภาพรวมในทุกมิติของรูปแบบการคมนาคมขนส่งทั้งถนน ราง น้ำ อากาศ ได้รับจัดสรรลงในพื้นที่ มีการกระจายตัวครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศ เช่น ด้านการขนส่งทางถนน การกระจายตัวของงบประมาณสอดคล้องกับการกระจายตัวของประชากรในแต่ละภูมิภาค โดยภาคกลางมีการจัดสรรงบประมาณสูงสุด ประมาณ 32.3% เนื่องจาก ภาคกลางมีประชากรอยู่ประมาณ 30% ของทั้งประเทศ ส่วนภาคเหนือมีการจัดสรรงบประมาณเพียง 9.94% ของทั้งประเทศ เพราะมีประชากร 9.55%ของประเทศ เป็นต้น แสดงให้เห็นว่าการจัดสรรงบประมาณของกระทรวงคมนาคมสอดคล้องกับความจำเป็นที่ต้องใช้ และความต้องการของประชาชนในแต่ละพื้นที่อย่างแท้จริง

สำหรับผลงานจากการใช้จ่ายงบประมาณในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อพี่น้องประชาชน ตลอดระยะเวลา 2 ปีกว่าที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคม ได้ดำเนินการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคู่ขนานกัน ทั้งทางถนน ทางราง ทางน้ำและทางอากาศ เพื่อให้เกิดโครงข่ายคมนาคมที่สมบูรณ์ในประเทศไทย ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อคนไทย และสร้างมูลค่าเพิ่มต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งแต่ละโครงการมีความคืบหน้าไปค่อนข้างมาก ขณะที่หลายโครงการเป็นการลงทุนต่อเนื่อง ต้องใช้เวลาในการดำเนินการ นอกจากนี้กระทรวงคมนาคมมีแผนที่จะลงทุนในอนาคต ทั้งที่เป็นแผนระยะกลางและแผนระยะยาว

ทั้งนี้ในการบริหารจัดการถนนระหว่างส่วนกลางกับท้องถิ่น โครงข่ายถนนในประเทศไทยกว่า 700,000 กว่ากิโลเมตร อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงคมนาคม ประมาณ 100,000 กิโลเมตร โดยมีหน่วยงานรับผิดชอบ คือ กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย และอีกกว่า 600,000 กิโลเมตรนั้น อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทย โดยกรุงเทพมหานคร และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งในส่วนของกระทรวงคมนาคมได้พิจารณาจัดสรรงบประมาณตามมาตรฐานของถนนแต่ละประเภท

โดยขึ้นอยู่กับปริมาณจราจร และการรับน้ำหนักบรรทุก ซึ่งถนนมาตรฐานสูง เช่น มอเตอร์เวย์ ทางหลวง 4 ช่องจราจร ก็จะใช้งบประมาณในการซ่อมบำรุงที่สูงกว่า เมื่อเทียบกับถนนท้องถิ่นที่เป็นถนนลูกรังที่ใช้งบประมาณที่น้อยกว่า จึงจะเห็นได้ว่ามาตรฐานชั้นทางที่ต่างกัน การรับปริมาณจราจร และปริมาณรถบรรทุกก็ต่างกัน ทำให้งบประมาณในการซ่อมบำรุงต่อกิโลเมตร จึงแตกต่างกันตามประเภทของถนน

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า การใช้โครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่และที่จะจัดสร้างขึ้นเพื่อสร้างรายได้และความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ จากนโยบายการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว กระทรวงคมนาคมได้เตรียมความพร้อม ในทุกมิติของการเดินทางเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว โดยในปี 2565 คาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทาง เข้ามาประเทศไทยประมาณ 22 ล้านคน และปริมาณผู้โดยสารระหว่างประเทศต่อเดือนของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจะเติบโตขึ้นถึง 295% ก่อให้เกิดเม็ดเงินที่เป็นผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจต่อประเทศสูงถึง 326,645 ล้านบาท และจะเพิ่มเป็น 565,450 ล้านบาท ในปี 2566 ซึ่งจะทำให้เกิดผลประโยชน์ทวีคูณทางเศรษฐกิจถึง 1.34 ล้านล้านบาท.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password