สตง.พบทุจริตแหล่งเที่ยวกระจกสกายวอล์ค สั่งแก้ไขพร้อมรายงานกลับ

ผงะ! สตง.ตรวจสอบพบทุจริตบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวพื้นกระจกสกายวอล์ค หลังได้รับร้องเรียนเชิงลึก เหตุมีกลุ่มบุคคลเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่โดยไม่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย เป็นเหตุให้รัฐสูญเงินรายได้หลายล้านบาท ด้าน ผู้ว่าฯสตง. ยื่นข้อเสนอแนะการดำเนินงาน พร้อมส่งผลกลับตามกรอบเวลาที่กำหนด

นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เปิดเผยว่า สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดแห่งหนึ่ง ซึ่งรัฐได้จัดสรรงบประมาณวงเงินเกือบ 30 ล้านบาท ในการดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจของจังหวัดและเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มีรายได้เพิ่มขึ้น โดยอนุญาตให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งหนึ่งใช้ประโยชน์ในพื้นที่และสิ่งปลูกสร้าง พร้อมบริหารจัดการให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจและเป็นสถานที่ท่องเที่ยว  แต่ปรากฏว่ามีกลุ่มบุคคลในพื้นที่ซึ่งเคยบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวดังกล่าวมาก่อนที่รัฐจะดำเนินโครงการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ ได้เข้ามาบริหารจัดการและหาประโยชน์ในพื้นที่โดยไม่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย อีกทั้งยังไม่นำส่งเงินรายได้ให้กับทางราชการรวมเป็นเงินนับล้านบาท

จากการตรวจสอบของ สตง. พบว่า กลุ่มบุคคลดังกล่าวมีรายได้จากการค่าบริการรับ-ส่งนักท่องเที่ยว ระหว่างเดือนกรกฎาคม 2563 ถึงเดือนมกราคม 2564  (คนละ 20 บาท) รวมเป็นจำนวนเงินมากกว่า 11 ล้านบาท โดยมีการแบ่งให้เจ้าของรถ ร้อยละ 60  คณะกรรมการกลุ่มฯ ร้อยละ 25 เจ้าของที่ดินเอกชนที่ใช้เป็นที่จอดรถ ร้อยละ 8 และเก็บเข้ากลุ่มร้อยละ 7 นอกจากนี้ ยังมีรายได้จากการจำหน่ายรองเท้าผ้าสำหรับสวมทับเพื่อใส่เดินบนพื้นกระจกสกายวอล์ค ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2563 ถึงวันที่ 6 มกราคม 2564 (คู่ละ 30 บาท) รวมเป็นเงินมากกว่า 6.6 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น ต้นทุนในการซื้อรองเท้า คู่ละ 20 บาท นำเข้ากลุ่ม คู่ละ 2 บาท และนำส่งเป็นรายได้ให้ทางราชการ คู่ละ 8 บาท (ระหว่างวันที่ 20 พฤศจิกายน 2563 ถึงวันที่ 28 มกราคม 2564) เป็นจำนวนเงิน 1.2 ล้านบาท และหลังจากนั้นยังไม่มีการนำส่งเงินจนถึงวันที่ สตง. เข้าตรวจสอบ คิดเป็นจำนวนเงินอีกกว่าหนึ่งล้านบาท

รายงานการตรวจสอบของ สตง. ระบุเพิ่มเติมว่า ในช่วงระยะเวลาเพียงสามเดือน (ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2563 ถึงมกราคม 2564) ปรากฏข้อมูลเอกสารการจัดหารองเท้าผ้ามากกว่า 300,000 คู่ คิดเป็นเงินมากกว่า 6 ล้านบาท ทั้งที่ในพื้นที่ท่องเที่ยวดังกล่าวได้วางภาชนะสำหรับใส่รองเท้าผ้าที่ใช้แล้วไว้บริเวณจุดสิ้นสุดทางเดินสกายวอล์ค และนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะทิ้งรองเท้าผ้าไว้ในภาชนะที่จัดเตรียมไว้ ประกอบกับได้ปรากฏเอกสารการเบิกจ่ายเงินค่าจ้างเหมาซักรองเท้าผ้า จึงน่าเชื่อว่ามีการหมุนเวียนการนำรองเท้าไปทำความสะอาดเพื่อนำมาจำหน่ายให้นักท่องเที่ยวใหม่  จากข้อเท็จจริงดังกล่าวจะเห็นได้ว่าหากมีการนำรองเท้าไปทำความสะอาดแล้วนำกลับมาใช้ใหม่จะเป็นการลดต้นทุนในการบริหารจัดการ รวมถึงเป็นการลดค่าใช้จ่ายให้กับนักท่องเที่ยวได้อีกด้วย 

“แม้จะปรากฏข้อเท็จจริงว่า กลุ่มบุคคลดังกล่าวได้ให้บริการรถรับส่งประชาชนไปยังแหล่งท่องเที่ยวก่อนที่จะมีสิ่งปลูกสร้าง  แต่เมื่อทางราชการได้ใช้งบประมาณดำเนินโครงการเพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว และต่อมาได้อนุญาตให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าใช้และบริหารพื้นที่และสิ่งปลูกสร้าง ดังนั้น หน่วยงานดังกล่าวจึงมีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 มาตรา 112 แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560  ประกอบกับระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ข้อ 212 โดยจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ต้องพิจารณาประโยชน์ของรัฐและประชาชน ความคุ้มค่า และความประหยัด ต้องกระทำด้วยความรอบคอบระมัดระวัง และมีการบริหารความเสี่ยงอย่างเหมาะสมและต้องไม่เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินนั้น  ใช้และบริหารให้เหมาะสม คุ้มค่า และเกิดประโยชน์มากที่สุด รวมถึงจัดให้มีผู้ควบคุมดูแลให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานได้ตลอดเวลา และจัดให้มีแผนการซ่อมบำรุงที่เหมาะสม ตลอดจนปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอื่นเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ  การที่หน่วยงานที่รับผิดชอบและหน่วยงานที่กำกับดูแลซึ่งมีหน้าที่และอำนาจบริหารจัดการดูแลรักษาทรัพย์สินของแผ่นดินปล่อยให้กลุ่มบุคคลเข้าไปบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวโดยไม่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ถือเป็นความบกพร่อง ไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ และไม่ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐอย่างเคร่งครัด ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าว

ทั้งนี้ จากข้อตรวจพบข้างต้น สตง. จึงได้มีหนังสือแจ้งผลการตรวจสอบพร้อมข้อเสนอแนะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ใช้และบริหารพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตให้ทำประโยชน์ และออกข้อบัญญัติเกี่ยวกับการบริหารจัดการพื้นที่ตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถจัดหาประโยชน์ และส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่มีรายได้เพิ่มมากขึ้น และดำเนินการให้กลุ่มบุคคลที่เข้ามาจัดหาผลประโยชน์โดยไม่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ดำเนินการให้ถูกต้องตามมาตรา 20 (2) มาตรา 21 และ มาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยแจ้งผลการดำเนินการให้ สตง. ทราบภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ต่อไป.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password