ซีพี ออลล์ พาบุกดูนวัตกรรมเลี้ยง ‘ไข่ผำ’ ผลงานยุวเกษตรกรไทยแลกเปลี่ยนที่ญี่ปุ่น จาก ‘ผู้รับ’ สู่ ‘ผู้ให้’ หนึ่งในบัณฑิตจากรั้ว PIM
“กมลวรรณ รุ่งประเสริฐวงศ์” บัณฑิตจากรั้ว PIM เยาวชนหนึ่งเดียวผู้นำรุ่นใหม่ด้านเศรษฐกิจชุมชน จ.กาญจนบุรี ชูนวัตกรรมเลี้ยง “ไข่ผำ” ส่งต่อสู่เด็กรุ่นใหม่ พร้อมเป็นตัวแทนยุวเกษตรกรไทยไปแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิด ณ ญี่ปุ่น เพื่อสานต่อโอกาสต่อยอดตลาด“ผำ” ให้กับชุมชนและประเทศไทย
จากโอกาสที่รับ ในการเข้ามาศึกษา คณะการจัดการโลจิสติกส์และการคมนาคมขนส่ง สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM)ได้เปลี่ยนมุมมอง ความคิดของเด็กหญิงในครอบครัวเกษตรกร “กมลวรรณ รุ่งประเสริฐวงศ์” ให้เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชุมชนบ้านเกิด
กมลวรรณ หรือ น้องแสบ เกษตรกรรุ่นใหม่ เจ้าของ “ไร่แสงสกุลรุ่ง” จ. กาญจนบุรี ศิษย์เก่าคณะการจัดการโลจิสติกส์และการคมนาคมขนส่ง สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ เล่าถึง สวนเกษตรอินทรย์แบบผสมผสานที่มีกลิ่นไอของความรัก ความผูกพันของครอบครัว “รุ่งประเสิฐวงศ์” ว่า “ไร่แสงสกุลรุ่ง” เป็นไร่ที่สานต่อความรักในอาชีพเกษตรกรของครอบครัว เกิดจากการเป็น “ผู้ที่ได้รับโอกาสดีๆ” สู่ “การเป็นผู้ให้ส่งต่อสู่ชุมชนบ้านเกิด” โดยหลังจากที่มีโอกาสเข้าเรียนในสาขาโลจิสติกส์ที่ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ เมื่อปี 2559 และได้รับทุนการศึกษาจากซีพี ออลล์ ก็ได้นำความรู้มาต่อยอดสานต่องานของครอบครัว สร้างเศรษฐกิจให้กับชุมชนจนสำเร็จ
“ไร่แสงสกุลรุ่ง” มีเป็นการปลูกพืชไร่ พืชสวน แบบผสมผสาน บนพื้นที่กว่า 15 ไร่ ไม่ว่าจะเป็น มะม่วง มะพร้าว กล้วย ผักสวนครัว ชะอม มะกอกน้ำ และการเพาะเลี้ยงสาหร่าย “ผำ” และต่อยอดการแปรรูปผลิตภัณฑ์ ไปพร้อมๆ กับการทำการตลาด หาช่องทางในการขาย ซึ่งเป็นความรู้ที่เราได้รับจากการเรียนนำมาประยุกต์และปรับใช้ให้สินค้าทางการเกษตรของไร่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น เช่น มะกอกน้ำแช่อิ่ม/อบแห้ง, ข้าวเกรียบผำ, โจ๊กผำมัทฉะ, เครื่องดื่มผำ และสบู่ล้างหน้าจากผำ เป็นต้น โดยเฉพาะการเลี้ยง “ผำ” พืชน้ำที่มีประโยชน์และคุณค่ามหาศาลแต่คนทั่วไปอาจจะยังไม่ทราบ โดยทางไร่ได้ทดลองเลี้ยง “ผำ” ด้วยจุลินทรีย์พิเศษที่อุดมไปด้วยธาตุอาหารและน้ำที่มีคุณภาพ ทำให้ไข่ผำของไร่มีกลิ่นพิเศษเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวแห่งเดียวในเมืองไทย
น้องแสบ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันไร่แสงสกุลรุ่งคิดค้นการเพาะเลี้ยงไข่ผำจนทำให้ได้ “ผำ” ที่มีคุณภาพดีที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย จากนั้นได้เผยแพร่องค์ความรู้ในการเพาะเลี้ยงไข่ผำให้กับชุมชนได้มีรายได้ เพราะตลาดมีความต้องการสูงมาก ตนรับซื้อในกิโลกรัมละ 60 บาท นอกจากนี้ ก็ได้นำความรู้ที่เรามีส่งต่อสอนน้องๆ ในชุมชนและในโรงเรียนบ้านทุ่งมะขามเฒ่า ในโครงการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ การเรียนรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงผำเป็นหลักสูตรเฉพาะของโรงเรียนทุ่งมะขามเฒ่า เด็กๆ สามารถนำไปต่อยอดเป็นอาชีพเสริมสร้างรายได้
ทั้งนี้ ในปี 2566 ตนเองได้รับคัดเลือกเป็นหนึ่งใน 6 ตัวแทนเยาวชนไทยเข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนยุวเกษตรกรไทยกับประเทศญี่ปุ่น (Young Smart Farmer) ของกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งรู้สึกดีใจมาก เพราะญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีเทคโนโลยีการเกษตรที่ก้าวหน้า และให้ความสนใจเรื่อง “ผำ” เป็นอย่างมาก ดังนั้น เป็นโอกาสอันดีที่จะได้ต่อยอดและสร้างโอกาสในการพัฒนาการเพาะเลี้ยงผำของชุมชนบ้านทุ่งมะขามเฒ่า เป็นประโยชน์กับชุมชนและประเทศชาติต่อไป
ด้าน นายยุทธศักดิ์ ภูมิสุรกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ซีพี ออลล์ ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น และ เซเว่น เดลิเวอรี่ กล่าวว่า ซีพี ออลล์ มีนโยบายในการส่งเสริมการศึกษา พัฒนาเยาวชน ให้โอกาสกับเยาวชน ได้รับการศึกษาที่ดีและมีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาทักษะฝีมือ มีอาชีพและรายได้เลี้ยงครอบครัว โดยในปี 2548 ได้ก่อตั้งสถาบันการศึกษาเพื่อสังคมขึ้นมา 2 แห่ง ได้แก่ วิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ (PAT) ผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพตรงกับความต้องการของตลาดและด้านวิชาชีพในระดับ ปวช.ปวส., รวมถึงก่อตั้ง ศูนย์การเรียนปัญญาภิวัฒน์อีกกว่า 20 แห่งทั่วประเทศ ผ่านระบบ Internet broadcasting for Classrooms และ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) สถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกและแห่งเดียวของประเทศไทยที่มีรูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่เรียกว่า Work-based Education ให้โอกาสเยาวชนได้ต่อยอดทางการศึกษาในระดับอุดมศึกษา
สำหรับในปี 2566 ทางบริษัทฯ ได้มอบทุนการศึกษาหลายประเภท รวมแล้วกว่า 39,000 ทุน เป็นเงินมูลค่ากว่า 1,300 ล้านบาท เพื่อร่วมพัฒนาโอกาสทางการเรียนรู้ให้กับเยาวชนไทย ตามปณิธานองค์กร “ร่วมสร้างสรรค์และแบ่งปันโอกาสต่อกัน” ของซีพี ออลล์
“ซีพี ออลล์ เห็นความสำคัญของการให้โอกาสทางการศึกษา สร้างโอกาสทางอาชีพ สร้างรายได้ และคุณภาพชีวิตที่ดี จึงมีการดำเนินงานและการสนับสนุนโครงการด้านการศึกษาและการเรียนรู้มาโดยตลอด ซึ่ง น.ส.กมลวรรณ รุ่งประเสริฐวงศ์ เป็นหนึ่งในตัวอย่างของเด็กรุ่นใหม่ ที่มีความฝันและลงมือทำจนสำเร็จ ที่สำคัญยังส่งต่อความรู้ ความสำเร็จ ถ่ายทอดความรู้ที่ตนเองค้นคว้าให้กับเด็กๆและคนชุมชนได้นำไปต่อยอดสร้างอาชีพอย่างยั่งยืน นับเป็นความภูมิใจของ ซีพี ออลล์ ที่ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้กับประเทศ” นายยุทธศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย.