‘นภินทร’ ดันSME ไทยนำเทรนด์ ‘สินค้ารักษ์โลก’ ใช้ FTA เป็นแต้มต่อ สร้างรายได้เข้าประเทศ
รมช.พาณิชย์ เปิดโครงการ “เพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG สู่ตลาดการค้าเสรี” ปี 3 พร้อมมอบโล่รางวัลผู้ประกอบการที่นำเสนอแผนธุรกิจยอดเยี่ยม 10 ราย เตรียมนำผู้ประกอบการบุกเกาหลีใต้ สำรวจตลาดไฮเปอร์มาร์เก็ต เจาะเทรนด์การบริโภคสินค้ารักษ์โลก BCG ปลายเดือนกรกฎาคมนี้
นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยหลังเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ “เพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG สู่ตลาดการค้าเสรี” หรือ ThEP for FTA Market ที่จัดโดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ณ ห้องประชุมมโนปกรณ์นิติธาดา กระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2567 ที่ผ่านมา ว่า “กระทรวงพาณิชย์มีความมุ่งมั่นส่งเสริม ยกระดับศักยภาพของ SME ไทยให้เติบโตมากขึ้น โดยตั้งเป้าผลักดัน SME ของไทย ที่มีอยู่ 99.5% ของผู้ประกอบการทั่วประเทศซึ่งมีมากกว่า 3 ล้านกว่ารายนั้น มีมูลค่าทางเศรษฐกิจคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 35.2 ต่อ GDP ในปัจจุบัน ให้เพิ่มเป็นร้อยละ 40 ต่อ GDP ภายในปี 2570 โดยในวันนี้เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่จะช่วยผลักดันผู้ประกอบการ SME ให้มีความรู้ในการใช้ประโยชน์จาก FTA เพื่อนำสินค้า BCG เข้าสู่ตลาดใหม่ โดยมีการคัดเลือกบริษัท SME 10 ราย ภายใต้โครงการดังกล่าว ที่มีแผนธุรกิจยอดเยี่ยม และมีความพร้อมที่จะไปเปิดตลาดที่มีศักยภาพอย่างเช่น เกาหลีใต้ ที่เป็นตลาดไฮเปอร์มาร์เก็ต ในช่วงเดือนกรกฎาคมปีนี้ โดยหวังว่า ผู้ประกอบการทั้ง 10 ราย จะได้ใช้ประโยชน์จาก FTA เปิดตลาดสินค้าBCG ที่เป็นสินค้าไทย ในตลาดเกาหลีใต้ได้”
โดยในครั้งนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 3 ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2564 เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการสินค้า BCG ให้มีความรู้ความเข้าใจเรื่อง โมเดลเศรษฐกิจ BCG และเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการส่งออกสินค้า BCG โดยใช้ประโยชน์จาก FTA ที่มุ่งการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืนและกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้มีการส่งเสริมผู้ประกอบการ SME ติดอาวุธความรู้เรื่องการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี หรือ FTA 15 ฉบับ 19 ประเทศ ส่วนใหญ่ได้ลดภาษีนำเข้าสินค้าให้ไทยเหลือ ร้อยละ 0 แล้ว ซึ่งโครงการดังกล่าว สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการสนับสนุนผู้ประกอบการมีส่วนร่วมในโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่รัฐบาลใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าใน 3 มิติ คือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจ สีเขียว ที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและเกิดความคุ้มค่า โดยภาครัฐและภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งสอดรับกับเมกกะเทรนด์และมีเป้าหมายเดียวกันคือ การปกป้องสิ่งแวดล้อมและลดปัญหาโลกร้อน รวมถึงการแก้ไขปัญหาการกีดกันทางการค้า โดยเฉพาะเรื่องมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม
“สุดท้ายนี้ ต้องขอชื่นชมกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่จัดโครงการต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 3 นำสิ่งดีๆ มาให้กับผู้ประกอบการ และผมเชื่อว่าปีหน้า เราจะสามารถคัดเลือกบริษัทเข้ามาอบรมได้มากขึ้น และ นำพาไปเข้าสู่ Business matching ได้มากขึ้น การเจรจาการค้าจะประสบความสำเร็จและการนำพาผู้ประกอบการไปปักหมุดสินค้า BCG และสินค้าไทย จะช่วยขยายโอกาสสินค้าไปยังต่างประเทศ นอกจากนี้ ผมมั่นใจว่า ผู้ประกอบการจะเดินทางไปสำรวจศักยภาพตลาดและจับคู่ธุรกิจกับคู่ค้าในตลาดเกาหลีใต้ในปลายเดือนกรกฎาคมนี้ ผู้ประกอบการจะสามารถขยายการส่งออกสินค้า BCG ไปในตลาดเกาหลี และสัดส่วนการใช้สิทธิประโยชน์ FTA อาเซียน-เกาหลี และ RCEP เพิ่มขึ้น” รมช.พาณิชย์ กล่าวทิ้งท้าย
นายนภินทร กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการในวันนี้จะช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการมีส่วนร่วมในโมเดลเศรษฐกิจ BCG และพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ ผลิตสินค้าให้มีคุณภาพมาตรฐาน ตอบโจทย์เทรนด์โลกและความต้องการของผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าได้ โดยอยากให้นักธุรกิจรุ่นใหม่ เข้าใจเทรนด์ดังกล่าว และพัฒนาสินค้าของตนเอง เพราะนับว่าสินค้าBCG เป็นสินค้าแห่งอนาคต ที่จะพาไปสู่การเจริญเติบโตของธุรกิจและผมเชื่อว่า 10 บริษัทนั้นจะสามารถนำสินค้า BCG ไปสู่ตลาดโลกได้
โดยการคัดเลือกผู้ประกอบการในโครงการฯ ที่นำเสนอแผนธุรกิจยอดเยี่ยม 10 บริษัท ไปต่อยอดธุรกิจ และทำ Business Matching ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ช่วงปลายเดือน กรกฎาคม 2567 ทั้ง 10 บริษัทได้แก่ (1) บริษัท คีนน์ ไบโอเทค กรุ๊ป จำกัด (2) บริษัท นวล อนันต์ จินเจอร์ ฟู๊ด จำกัด (3) บริษัท เฟรช แอนด์ เฟรนด์ลี่ฟาร์ม จำกัด (4) บริษัท ยูนีค โกลด์ อินเตอร์ฟู้ด จำกัด (5) บริษัท ลีฟ ครีเอชั่น จำกัด (6) บริษัท เวก้าเนเจอรัล จำกัด (7) บริษัท สยาม คอนซูมเมอร์ โปรดักส์ จำกัด (8) บริษัท สยาม ดีไลท์ กรุ๊ป จำกัด (9) บริษัท แอลไลแอนซ์ ฟู้ด เอ็กซ์เพิร์ท จำกัด และ (10) ห้างหุ้นส่วนจำกัด เนเชอรัล โปรเจกต์ สตูดิโอ.