วิบากกรรม 7 อรหันต์ กกต. บนสังเวียนเลือกตั้ง 200 สว. จนป่านนี้ยังไม่กล้า ประกาศรับรอง!

ภายหลังการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ระดับประเทศ เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2567 จนได้ สว. 200 คน และสำรองอีก 100 คน ทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ประชุมเพื่อพิจารณาคำร้องประเด็นต่าง ๆ ก่อนที่จะประกาศรับรอง ส.ว. ไปแล้ว 3 ครั้ง แต่ก็ยังไม่ได้ข้อยุติ ท่ามกลางคดีร้องเรียนที่พุ่งไปยังทั้ง อัยการสูงสุด ศาลปกครอง และอาจไปถึง ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลอาญา

สำหรับกระบวนการพิจารณาของ กกต. ก่อนที่จะประกาศรับรอง สว.นั้น มีรายงานว่า เมื่อวันศุกร์ที่ 5 ก.ค.2567 นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. ได้หอบแฟ้มคดีทีมีผู้ร้องเรีนนเรื่องการเลือกตั้ง สว.ไม่สุจริต-ขัดเจตนารมย์รัฐธรรมนูญ จำนวน 250 คดี รายงานต่อที่ประชุมใหญ่ กกต. 7 คน

โดยบันทึกภายในฝ่ายกฎหมาย ฝ่ายจัดการเลือกตั้ง เสนอให้ กกต. ยกคดี “ปล่อยผี” ทั้งหมด รับรองไปก่อนแล้วตามสอยภายหลัง เพื่อจะได้รับรอง สว. 200 คน และ สำรอง 100 คน ให้ทำหน้าที่ในสภา โดยกกต. 7 คน ถกเถียงกันอย่างหนัก มี กกต. 1 คน เสนอให้ยกคดีหลุดแบบยกยวงตามที่ฝ่ายเลขาฯ เสนอ และ มี กกต. 1 คน ไม่ยอม ซัดทุกเม็ด ยืนยันในหลักการ เมื่อมีข้อร้องเรียน ฝ่ายเลขาฯ ต้องสอบสวนทุกกรณี หากไม่มีการตั้งเรื่องสอบสวนแล้วปล่อยคดีไปตามข้อเสนอ ยืนกรานว่าจะไม่ยอมรับมติ แม้จะทอดยาวออกไปเชื่อว่าสังคมรับได้

สุดท้ายต้องตัดสินด้วยการโหวต ปรากฏว่า “มติเสียงส่วนใหญ่” ให้ไปตั้งเรื่องสอบทุกคดี แล้วเสนอให้ กกต.ใหญ่พิจารณา ต่อมาวันที่ 8 ก.ค. 2567 กกต.ทั้ง 7 คน ได้ประชุมกัน ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม มีรายงานว่า ที่ประชุมยังไม่ได้มีการพิจารณารับรองรายงานผลการเลือก สว. แม้เรื่องดังกล่าว จะอยู่ในระเบียบวาระการประชุม โดยมีรายงานว่า กกต.แต่ละคน ยังคงมีความเห็นที่แตกต่างกันถึงการรับรองผลการเลือก สว. จึงมีเพียงการพูดคุยถึงงานที่ต้องดำเนินการให้ชัดเจนก่อน

ถัดมาวันที่ 9 ก.ค. 2567 กกต.ได้ประชุมกัน และมีรายงานว่าพิจารณายังไม่จบ ต้องประชุมกันต่อในวันถัดไป อย่างไรก็ตาม ก่อนการประชุมของ กกต. ได้มีรายงานข่าวถึงทิศทาง ของ กกต. คือ จะมีการรับรองไปทั้ง 200 คน เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานไว้ เมื่อเดือน เม.ย. 2543 เรื่องที่ประธานรัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 266 กรณีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภา

โดยตอนนั้น กกต.จัดเลือกตั้ง สว. 200 คน เมื่อ 4 มี.ค. 2543 แต่รับรองผลเพียง 122 คน ทำให้เกิดปัญหาในการปฏิบัติหน้าที่ และมีความเห็นแย้งกัน 2 ฝ่าย ระหว่าง สว.ที่ครบวาระ แต่ต้องรักษาการจนกว่าจะได้ สว.ใหม่ครบ กับอีกฝ่ายคือ สว.ใหม่ ที่เห็นว่า จำนวน สว.เท่าที่มีก็สามารถทำงานได้

ประธานสภาจึงส่งศาลวินิจฉัย ว่า ฝ่ายไหน ควรเป็นผู้ทำหน้าที่ แล้วหากเป็น สว.ใหม่ ที่ยังไม่ครบจำนวนจะสามารถประชุมเพื่อปฏิบัติหน้าที่ได้หรือไม่ ศาลพิจารณาวินิจฉัยว่า 1.สว.ที่ได้รับเลือกยังไม่ครบ 200 คน ไม่อาจดำเนินการให้มีการประชุมเพื่อปฏิบัติหน้าที่ สว.ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญนี้ได้ และ 2.ในระหว่างที่ สว.ที่ได้รับเลือกยังไม่ครบ 200 คนนั้น สว.ที่สมาชิกภาพสิ้นสุดลง เมื่อวันที่ 21 มี.ค.2543 ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่วุฒิสภาตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญนี้ได้

สำหรับ กกต.ชุดปัจจุบัน มีอยู่ด้วยกัน 7 คน ประกอบด้วย 1.นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน (อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์) 2.นายสันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์ (อดีตศาสตราจารย์ระดับ 10 ประจำสาขาเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี) 3.นายปกรณ์ มหรรณพ (อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา) 4.นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ (อดีตปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์) 5.นายฐิติเชฏฐ์ นุชนาฏ (อดีตทนายความ) 6.นายชาย นครชัย (อดีตอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม) 7.นายสิทธิโชติ อินทรวิเศษ (อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา)

ก่อนหน้านั้น เมื่อ 27 มิ.ย. 2567 กกต.แถลงเกี่ยวกับการเลือก สว. มีเรื่องร้องเรียน 614 เรื่อง เป็นคำร้องเรื่องคุณสมบัติให้ลบชื่อ 65% , คำร้องการเลือกไม่สุจริต 14% (การให้ทรัพย์สินตาม มาตรา 77), คำร้องจ้างลงสมัคร, คำร้องเรียกรับเงินแทนให้ลงคะแนน และ คำร้องมีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองช่วยเหลือ 3% คดีที่มีผู้ร้องในเรื่องการเลือกตั้ง สว. ไม่สุจริต-ขัดเจตนารมย์รัฐธรรมนูญ จำนวน 250 คดี สำหรับการตัดสินใจของ กกต. ในเรื่องการับรอง สว.นั้น มี 2 แนวทาง คือ

1.ประกาศรับรองสว.ชุดใหม่ 2.ไม่ประกาศรับรอง สว. จนกว่าผลสอบในคดีที่ร้องเรียนจะได้ข้อสรุป ซึ่งจะตกราวสิ้นเดือน ก.ค. หรือ สัปดาห์แรกของเดือนสิงหาคม2567

ทั้งนี้ ในอดีตที่ผ่านมา กกต. เคยมีคดีจากการปฏิบัติหน้าที่เกิดขึ้น จนส่งผลให้ กรรมการ กกต. ต้องถูกศาลตัดสินมาแล้ว โดยเมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2549 ศาลอาญาได้ตัดสินตามคำฟ้องของโจทย์คือ นายถาวร เสนเนียม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ในข้อหาการปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบของ กกต. เนื่องจากเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคไทยรักไทย ตามมาตรา 24 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2541 มีโทษตามมาตรา 42 พ.ร.ป.ฉบับเดียวกัน

ศาลมีคำตัดสินว่า ให้คณะกรรมการ กกต. 3 คน ได้แก่ พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ ประธาน กกต. นายปริญญา นาคฉัตรีย์ นายวีระชัย แนวบุญเนียร จำคุก 4 ปี โดยไม่รอลงอาญา ส่งผลให้ต้องพ้นจากตำแหน่ง กกต. เนื่องจากขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ ต่อมาศาลฎีกา ได้มีคำพิพากษายกฟ้อง

สำหรับคำร้องที่ร้องเรียนไปยังศาลให้ตรวจสอบการทำผิดกฎหมายจากการเลือก สว. 2567 ที่เกิดขึ้นนั้น ประกอบด้วย เมื่อ 27 มิ.ย. 2567 นายสนธิญา สวัสดี ผู้สมัคร สว. แต่สอบตกรอบจังหวัด ได้เข้ายื่นหนังสือต่ออัยการสูงสุด ขอให้พิจารณาตรวจสอบ และส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยการเลือก สว. 2567 ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 วรรคสอง หรือไม่ กรณีที่กำหนดห้ามผู้สมัครในแต่ละกลุ่มเลือกผู้สมัครในกลุ่มเดียวกัน แต่ กกต.ดำเนินการโดยให้ผู้สมัครในกลุ่มเดียวกัน ลงคะแนนให้กลุ่มเดียวกัน ในทุกรอบทั้งระดับอำเภอ จังหวัด และ ระดับประเทศ

นายสนธิญา กล่าวว่า การกระทำของ กกต.ที่อาศัย พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. 2561 ขัดกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 107 (2) ทั้งนี้หากอัยการสูงสุดไม่ตอบใน 30 วัน ก็จะยื่นร้องตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2567 นายจาตุรันต์ บุญเบ็ญจรัตน์ อดีตผู้สมัคร สว.กลุ่มที่ 20 (กลุ่มอื่น ๆ) ยื่นฟ้อง กกต. ต่อศาลปกครองสูงสุด โทษฐานปล่อยปละละเลยการตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ จึงขอให้ศาลเปิดไต่สวนฉุกเฉินเพื่อพิจาณาสั่งระงับการประกาศรับรองผลการเลือก สว. เป็นการชั่วคราว จนกว่าจะมีการตรวจสอบคุณสมบัติผู้ที่ได้รับการคัดเลือกเป็น สว. 200 คน และผู้อยู่ในบัญชีสำรองอีก 100 คน ว่ามีคุณสมบัติถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่

ถัดมาวันที่ 8 ก.ค. 2567 ที่ศาลปกครองกลาง ถนนแจ้งวัฒนะ กทม. นายจักรพงษ์ คงปัญญา อดีตผู้สมัคร สว.กลุ่ม 12 อุตสาหกรรม ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลปกครองไต่สวนคุ้มครองชั่วคราว เพื่อไม่ให้ กกต. รับรอง สว. ทั้ง 200 คน และสำรอง 100 คน เนื่องจากมีกระบวนการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย “การประกาศรับรองไปก็ไม่มีประโยชน์ เพราะจะเป็นโฆฆะอยู่ดี”นายจักรพงษ์ ระบุ

ขณะที่วันที่ 8 ก.ค. 2567 นายภัทรพงศ์ ศุภักษร หรือ ทนายอั๋น ได้ ยื่นคำร้องต่อ กกต. ขอให้ขยายผล และเอาผิด ส.ส.รายหนึ่งนัดทานข้าวกับผู้สมัคร สว. ที่ จ.ขอนแก่น อาจเข้าข่ายฮั้วการเลือก สว.

นายภัทรพงศ์ กล่าวด้วยว่า ในอีก 2-3 วันข้างหน้าจะยื่นหลักฐานเพื่อสอย สว. ในกลุ่มสื่อสารมวลชน 3-4 คน หลังจากที่มีการประกาศรับรองแล้ว และ ยังเตือนกกต.ที่หากประกาศรับรอง สว. 200 คน ก็ขอจองกฐินดำเนินคดีกับ นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. ตามมาตรา 157

ดังนั้น การจะตัดสินใจรับรอง หรือ ไม่รับร้อง สว.ครั้งนี้ สร้างความลำบากใจให้กับ กกต. ค่อนข้างมาก เพราะหาก “รับรอง” ไปแล้ว ภายหลังศาลมาตัดสินให้เป็น “โมฆะ” ก็อาจนำมาซึ่งการฟ้องร้องดำเนินคดีกับ กกต.ทั้ง 7 คนได้

ที่สำคัญ บทเรียนที่ กกต.เคยถูกดำเนินคดี ก็มีให้เห็นมาแล้ว !!!

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password