กรมสรรพากร ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าชดเชยที่ลูกจ้างได้รับจากนายจ้างกรณีถูกเลิกจ้าง
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2567 มีมติอนุมัติหลักการการปรับปรุงการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าชดเชยที่ลูกจ้างได้รับจากนายจ้างกรณีถูกเลิกจ้าง เพื่อช่วยเหลือลูกจ้างที่เดือดร้อนจากการถูกเลิกจ้างให้ได้รับการบรรเทาภาระภาษีเงินได้บุคคลธรรม
ดร.กุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า “กระทรวงการคลังโดยกรมสรรพากรตระหนักถึงภาระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของเงินค่าชดเชยที่ลูกจ้างได้รับจากนายจ้างกรณีถูกเลิกจ้าง จึงได้เสนอร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร เพื่อปรับปรุงการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าชดเชยที่ลูกจ้างได้รับจากนายจ้างกรณีถูกเลิกจ้าง ให้สอดคล้องกันกับกฎหมายคุ้มครองแรงงานและสถานการณ์ปัจจุบันมากขึ้น โดยมีรายละเอียดดังนี้
1.กำหนดให้ค่าชดเชยที่ลูกจ้างได้รับตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน หรือตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ แต่ไม่รวมถึงค่าชดเชยที่ได้รับเพราะเหตุเกษียณอายุหรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง ทั้งนี้ เฉพาะส่วนที่ไม่เกินค่าจ้างของการทำงาน 400 วันสุดท้าย แต่ไม่เกิน 600,000 บาท ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพิ่มจากเดิมที่ค่าชดเชยส่วนที่ไม่เกินค่าจ้าง ของการทำงาน 300 วันสุดท้าย และไม่เกิน 300,000 บาท ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
2.ให้ใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เป็นต้นไป
อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวเพิ่มเติมว่า “เมื่อกฎกระทรวงฯ มีผลใช้บังคับแล้ว หากผู้มีเงินได้ ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีสำหรับค่าชดเชยที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามกฎกระทรวงฯ นี้ไปแล้ว สามารถยื่นปรับปรุงแบบแสดงรายการภาษีเพื่อขอคืนภาษีได้ภายใน 3 ปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษีดังกล่าว”.