ทายาท “เจ้าสัวเจริญ” รีแบรนด์ห้างในตำนาน “พันธุ์ทิพย์” ประตูน้ำ เป็น “ฟีนิกซ์”
ทายาทเจ้าสัวเจริญ กับการเดิมพันครั้งใหญ่! ทุ่มหมื่นล้าน รีแบรนด์ห้างไอทีในตำนาน ‘พันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำ’ เคาะชื่อใหม่ ‘ฟีนิกซ์’ ดีเดย์ เปิดให้บริการ 26 มิ.ย. 2567
“พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า ประตูน้ำ” ห้างไอทีในตำนาน เปิดให้บริการเมื่อปลายปี 2527 ผ่านยุค 90s ข้ามผ่าน Y2K ยาวนานกว่า 36 ปี ก่อนปิดฉากอย่างเป็นทางการ รีแบรนด์สู่ชื่อใหม่ “AEC TRADE CENTER – PANTIP WHOLESALE DESTINATION” จัดพิธีเปิดเมื่อปลายปี 2563 วางเป้าหมายศูนย์กลางการค้าส่งแบบวันสต็อปเซอร์วิส กลางกรุงเทพฯ บนทำเลทองใจกลางย่านประตูน้ำ รายล้อมห้างร้านค้าปลีกและค้าส่งสินค้าแฟชัน
ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ยังระบาดในช่วงนั้น ประกอบกับคอนเซ็ปต์ของศูนย์การค้ายังไม่ลงล็อกอย่างใจหวัง ทำให้ วัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC ทายาทคนที่ 2 ของ “เจ้าสัว” เจริญ สิริวัฒนภักดี กลับมาทบทวนคอนเซ็ปต์อีกครั้ง ปรับไปใช้ชื่อ “AEC FOOD WHOLESALE PRATUNAM” หรือ “AFP” พัฒนาให้เป็นศูนย์กลางค้าส่งอาหารระดับโลก ตอบรับกระแสความสนใจของผู้ประกอบการในภาคธุรกิจค้าส่งอาหาร ที่มีการเติบโตสูง กับแพลตฟอร์มการค้าส่งอาหารครบวงจรเชื่อมต่อออนไลน์และออฟไลน์ครั้งแรก กำหนดเคาะฤกษ์เปิดให้บริการในวันที่ 26 มิ.ย. 2567
“คุณเอ๋” วัลลภา ไตรโสรัส แม่ทัพใหญ่ AWC ได้พบจุดเปลี่ยนสำคัญ! นั่นคือการตัดสินใจเปลี่ยนชื่ออีกครั้ง เป็น “ฟีนิกซ์” (Phenix) หลังได้พูดคุยกับ ภูษิต ศศิธรานนท์ ผู้ร่วมก่อตั้ง โคโลญเมสเซ่ ประเทศไทย (บริษัท เอ็กซ์โปลิงค์ โกลบอล เน็ทเวอร์ค จำกัด) ผู้จัดงานแสดงสินค้าระดับโลกอย่าง THAIFEX – ANUGA Asia ผลงานสร้างชื่อด้านอาหาร เฉพาะงานนี้เมื่อปลายเดือน พ.ค. 2567 ทุบสถิติใหม่ด้วยจำนวนผู้เยี่ยมชมจากทั้งในและต่างประเทศรวมกว่า 8.5 หมื่นรายทะลักเข้า อิมแพ็ค เมืองทองธานี
สำหรับชื่อ ฟีนิกซ์ มาจาก บุญทักษ์ หวังเจริญ (รองประธานกรรมการ AWC) นำมาตั้งชื่อแพลตฟอร์มออนไลน์ของศูนย์ค้าส่งแห่งนี้ว่า PhenixBox เพื่อเชื่อมต่อระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายและผู้ประกอบการระดับคุณภาพจากทั่วโลก ก่อนตัดสินใจเอาชื่อเดียวให้เรียกง่ายๆ ซึ่งชื่อ ฟีนิกซ์ ก็เป็นสิริมงคล สื่อถึงความรุ่งเรือง ไม่มีวันดับสูญ เหมือนกับนกฟีนิกซ์
“พอได้ชื่อใหม่ว่า ฟีนิกซ์ เลยเอาเรื่องตั้งชื่อนี้ไปเล่าให้คุณพ่อ (เจ้าสัวเจริญ) ฟัง ว่าตกลงเขาเรียกโครงการนี้ว่า ฟีนิกซ์ แล้วนะ ” หลังจากได้ชื่อใหม่ถอดด้าม งานด่วนงานร้อนก็ตามมา “วัลลภา” เล่าว่า “เราใช้เวลาในการออกแบบโลโก้ใหม่ของศูนย์ค้าส่งแห่งนี้ภายใน 2 วัน”
ขณะที่ “ภูษิต” เสริมว่า “ผมมาช่วยคุณเอ๋ เนื่องจากคุณเอ๋มีแนวคิดที่ดีมาก ต่างจากงานแสดงสินค้า หรือ อีเวนต์ที่มีระยะเวลาแน่นอน ไม่ใช่ถาวร แต่คุณเอ๋ต้องการสร้างความยั่งยืน เป็นแพลตฟอร์มให้กับอุตสาหกรรมอาหารของไทย เราเห็นว่า AWC เปิดตัวคอนเซ็ปต์ใหม่นี้มา 1-2 ปีแล้ว เหมือนคิวบิกที่ยังไม่ลงตัว พอมาเจอเรา (โคโลญเมสเซ่ : Koelnmesse บริษัทผู้จัดงานแสดงสินค้าชั้นนำระดับโลกจากเยอรมนี) ซึ่งเข้ามาเป็นพันธมิตร มีส่วนช่วยเพียงนิดเดียว หลักๆ เป็นความมุ่งมั่นของคุณเอ๋ที่ผนึกความร่วมมือกับหน่วยงานมากมายทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งเป็นกุญแจความสำเร็จ มองว่าในระยะอันใกล้จะสำเร็จแน่นอนด้วยโมเดล Partnership ร่วมกันสร้างเมืองไทยเป็นเดสติเนชันด้านอาหาร”
“ผมคิดว่าการพัฒนาโครงการนี้ ไม่เกี่ยวกับว่าเร็วหรือช้า แต่เกี่ยวกับความลงตัว Right Time, Right Place มากกว่า พอผมเห็นคุณเอ๋ทำโครงการนี้แล้ว อยากให้ทุกคนมีไฟ มีถ่านอัลคาไลน์ในตัวเหมือนคุณเอ๋”
คุณเอ๋ วัลลภา เล่าต่อว่า การลงทุนปรับโฉมใหม่จากพันธุ์ทิพย์ พลาซ่า ประตูน้ำ สู่คอนเซ็ปต์ล่าสุด… การเป็นศูนย์กลางการค้าส่งด้านอาหารระดับโลก มองว่าเรื่องอาหาร ไม่ได้มีแค่เรื่องรสชาติความอร่อยเพียงอย่างเดียว แต่ครอบคลุมไปถึงเทคโนโลยี ความปลอดภัย มาตรฐานต่างๆ รวมไปถึงอาหารแห่งอนาคต เราจะทำให้เรื่องอาหารให้ดูเข้าถึงง่าย เป็นเชิงไลฟ์สไตล์ คนมาเดินกินเดินชอปแล้วรู้สึกสนุก ได้เห็นอาหารไทยเป็น “โชว์เคส” ของทั้งประเทศ ถือเป็นโครงการน่าตื่นเต้น และก้าวสู่ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ด้านกลุ่มธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งของ AWC
อย่างตอนเป็นห้างไอที ก็ทำสำเร็จมาแล้ว เราไม่ทิ้งส่วนนี้ จะมีโซนไอทีบนชั้น 3 เป็น Legacy หรือมรดกตกทอด ซึ่งจะเป็นการให้บริการด้านไอทีที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย เช่น แอปพลิเคชัน โซลูชัน ไลฟ์สตรีมมิง รองรับอินฟลูเอนเซอร์ด้านอาหารทั่วโลกมารีวิวอาหารที่นี่ ขณะเดียวกันผู้ประกอบการร้านค้าเดิมบางส่วนยังต้องการเช่าพื้นที่ แสดงว่ายังมีลูกค้าต้องการใช้บริการไอทีที่นี่
“โฉมใหม่ของศูนย์การค้า ฟีนิกซ์ มีมูลค่าโครงการรวมลงทุนปรับปรุงกว่า 1 หมื่นล้านบาท เรามองถึงความพร้อม ไทม์มิงที่เหมาะสมหลังหมดยุคโควิด จึงได้เตรียมโมเดลนี้เมื่อปีที่แล้วเพื่อโปรโมตความ WOW เรื่องอาหารของกรุงเทพฯ สร้างเดสติเนชันให้ตอบโจทย์ทั้งด้านการท่องเที่ยว การค้า และเสริมธุรกิจให้กับประเทศ”
AWC ตั้งเป้าดึงทราฟฟิก 20,000 คนต่อวัน เข้ามาใช้บริการอาคาร 6 ชั้นแห่งนี้ ซึ่งมีพื้นที่ใช้สอยทั้งหมด 69,000 ตารางเมตร เฉพาะพื้นที่ค้าส่ง (Wholesale) กว่า 26,000 ตารางเมตร จะมีสินค้าอาหารใน 8 กลุ่ม ได้แก่ อาหารแช่แข็ง อาหารแช่เย็นและผลิตภัณฑ์จากนม เครื่องปรุงและวัตถุดิบ ข้าวและธัญพืช เครื่องดื่ม กาแฟและชา ขนมขบเคี้ยวและขนมหวาน และนวัตกรรมอาหารและเทคโนโลยี
โดย AWC ได้รวมพลังหลากหลายร้านอาหารและคาเฟ่ระดับมิชลินแนะนำ และร้านอาหารสตรีทฟู้ดชื่อดังรวมกว่า 200 ร้าน อาทิ ร้านผัดไทยไฟทะลุ ร้านเลิศทิพย์ ร้านราดหน้า 40 ปี ร้านหมูกรอบนายไซ ร้านอิ๋วผัดไทยหมี่กระเฉดตลาดพลู ร้านก๋วยเตี๋ยวเรืออัศวินบรรทัดทอง April’s Bakery อาหมงหมาล่า ก๋วยจั๊บมิสเตอร์โจ และ โจ๊กสามย่าน หลังได้รับการพัฒนาขึ้นภายใต้คอนเซ็ปต์ “อร่อยฟินบินได้” (Flavor Gets Its Wing Worldwide) รวบรวมประสบการณ์ความอร่อยระดับโลกมาไว้ในที่เดียว พร้อมร่วมกันจัดกิจกรรมด้านอาหารต่างๆ ส่งความสุขผ่านมื้ออาหารแสนอร่อยตลอดปี เตรียมเปิดโฉมใหม่ของ “ฟีนิกซ์” ให้บริการในวันที่ 26 มิ.ย. 2567
สำหรับฟู้ดเลานจ์ภายในฟีนิกซ์ ได้รับการออกแบบให้เป็น “ฟู้ดเลานจ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด” บนพื้นที่ยุทธศาสตร์ย่านประตูน้ำ ใจกลางกรุงเทพฯ เติมเต็มประสบการณ์ด้านอาหารอย่างครบวงจร ประกอบไปด้วยพื้นที่ Co-Living กว่า 20,000 ตารางเมตร Phenix Grand Ballroom พื้นที่ครัวสาธิต Taste Kitchen พื้นที่ด้านความบันเทิง ห้องประชุม ห้องสัมมนา Phenix Auditorium Hall
พร้อมหลากหลายโซนที่ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ อาทิ Networking Zone มาพร้อมที่นั่งหลากหลายสำหรับนัดประชุมหรือสังสรรค์กับเพื่อนและคู่ค้า Chill Zone สำหรับนั่งทำงาน พร้อมปลั๊กสำหรับชาร์จไฟที่มีอย่างทั่วถึง Family Zone โซนครอบครัวที่รังสรรค์พื้นที่สนามเด็กเล่นให้คุณหนูได้เล่นสนุกและอิ่มอร่อยไปกับเมนูอร่อยสำหรับครอบครัว Dining & Entertainment Zone พื้นที่รับประทานอาหารและแฮงเอาท์ พร้อมดนตรีสด การแสดงโชว์ และสนุกไปกับจอถ่ายทอดสดขนาดยักษ์ รวมถึง Grab & Go Zone จุดรับและสั่งอาหารผ่านแอป
นอกจากนี้ จะมี “ฟู้ด มิวเซียม” เล่าที่มาตำนานอาหารไทย ตั้งแต่การตั้งชุมชนเมือง อาหารชาวบ้าน อาหารชาววัง พัฒนาการในยุครุ่งเรือง จนถึงการส่งออกสู่ครัวโลก (Kitchen of The World) นำเสนอในรูปแบบอิมเมอร์ซีฟ อินโนเวชัน มิวเซียม บนพื้นที่ 1,200 ตารางเมตร มีกำหนดเปิดปลายปี 2567 เป็นโซนที่มีค่าใช้จ่ายเข้าชมมิวเซียม แต่สามารถนำวอยเชอร์ไปซื้ออาหาร เอ็นจอยกับประสบการณ์ในฟีนิกซ์ได้
และนี่คือการเดิมพันครั้งใหญ่ของ คุณเอ๋ วัลลภา ทายาทเจ้าสัวเจริญ กับมูลค่าโครงการฟีนิกซ์กว่า 1 หมื่นล้านบาท ปลุกชีพห้างในมือย่านประตูน้ำ ชิงเม็ดเงินตลาดค้าปลีกค้าส่งใจกลางกรุงเทพฯ ท่ามกลางเกมการแข่งขันอันดุเดือด!