SCGC เปิดตัวโมเดล ‘มหัศจรรย์ชุมชน’ เดินหน้าสร้างชุมชนเข้มแข็ง

เอสซีจี เคมิคอลส์ ผู้นำธุรกิจเคมีภัณฑ์ครบวงจรระดับภูมิภาค เปิดตัวโมเดล “มหัศจรรย์ชุมชน” (Amazing Community) มุ่งสร้างอาชีพอย่างมีคุณค่า ด้วยหลักพึ่งพาตนเอง โชว์ศักยภาพกลุ่มผู้สูงวัย – สตรี – คนรุ่นใหม่

นางสาวน้ำทิพย์ สำเภาประเสริฐ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารแบรนด์และกิจการเพื่อสังคม บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC เผยว่า SCGC ทำงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนในจังหวัดระยองมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ การส่งเสริมอาชีพและสร้างรายได้ผ่านการพัฒนาวิสาหกิจชุมชน การจัดตลาดนัดชุมชนภายในโรงงาน การใช้บริการต่าง ๆ จากท้องถิ่น ซึ่งมีส่วนช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนในพื้นที่กว่า 56 ล้านบาทในปี 2566 ที่ผ่านมา”

“จากการทำงานร่วมกับชุมชนอย่างใกล้ชิด ทำให้เห็นถึงศักยภาพ วิธีคิด และวิถีการดำเนินชีวิตของชุมชนหลากหลายกลุ่ม จึงนำมาสู่การถอดบทเรียนเพื่อการสร้างอาชีพอย่างมีคุณค่า ภายใต้โมเดล ‘มหัศจรรย์ชุมชน’ ซึ่งประกอบด้วยคุณสมบัติ 1) คิดพึ่งพาตนเอง พร้อมพัฒนาตนเองอยู่เสมอ 2) ประกอบอาชีพด้วยความสุจริต 3) สร้างโอกาส สร้างอาชีพให้กับผู้อื่น 4) ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ SCGC ยังได้นำเรื่องราวการสร้างอาชีพอย่างมีคุณค่าภายใต้โมเดลมหัศจรรย์ชุมชนจาก 3 ชุมชน 3 กลุ่มวัย ได้แก่ ผู้สูงวัย สตรี และคนรุ่นใหม่ มาเผยแพร่เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ และเตรียมขยายโมเดลดังกล่าวสู่วงกว้างต่อไป” ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารแบรนด์และกิจการเพื่อสังคม SCGC กล่าวเพิ่มเติม

ด้านนางประไพ คชรินทร์ ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มส่งเสริมอาชีพผู้เลี้ยงชันโรงบ้านทับมา ตัวแทนพลังมหัศจรรย์จากกลุ่มผู้สูงวัย กล่าวว่า “หลังจากเกษียณอายุราชการ มีความสนใจที่จะหางานอดิเรกทำโดยได้ศึกษาข้อมูลมากมาย กระทั่งได้มารู้จักกับ ‘ชันโรง’ แมลงตัวเล็กที่ให้คุณค่ามหาศาล ให้น้ำผึ้งที่มีความพิเศษ มีสรรพคุณทางยา และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่มีประโยชน์มากมาย จึงตัดสินใจสร้างกลุ่มเครือข่ายผู้เลี้ยงชันโรง จนเกิดรายได้และพัฒนาสินค้าภายใต้แบรนด์ “บ้านมีชันดี” แต่ที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือ สามารถเป็นแรงผลักดันให้ผู้สูงวัยในชุมชนได้หันมาสร้างคุณค่าให้ตนเอง ด้วยการเลี้ยงชันโรง และอาชีพเสริมอื่นๆ เพิ่มรอยยิ้มและเติมกำลังใจให้ผู้สูงวัยกลับมามีชีวิตชีวากันอีกครั้ง สร้างเครือข่ายความสุขในวัยเกษียณได้อย่างแท้จริง”

ปัจจุบันกลุ่มวิสาหกิจฯ มีเครือข่ายผู้เลี้ยงชันโรงมากกว่า 50 ราย สร้างรังให้ชันโรงกว่า 400 รัง โดย SCGCได้นำผู้เชี่ยวชาญมาต่อยอดองค์ความรู้ นำน้ำผึ้งที่ได้ไปทดสอบเตรียมพร้อมที่จะขอรับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ GAP พร้อมทั้งช่วยขยายเครือข่ายและยกระดับผลิตภัณฑ์สู่สินค้าประจำจังหวัดระยอง 

ด้านนางประคอง เกิดมงคล ประธานวิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์จากผ้าชุมชนมาบชลูด ตัวแทนจากพลังมหัศจรรย์ของกลุ่มสตรี กล่าวว่า “จุดเริ่มต้นของกลุ่มฯ มาจากการรวมตัวของแม่บ้านที่มีข้อจำกัดและมีความจำเป็นในการดูแลสมาชิกในครอบครัว โดยรับงานตัดเย็บเสื้อผ้าในชุมชน แต่ก็มีอุปสรรคในเรื่องของการเดินทางมาตัดเย็บชิ้นงานของแต่ละคน จึงเปลี่ยนรูปแบบเป็นการตัดเย็บกระเป๋าผ้าแทน ซึ่งสมาชิกทุกคนสามารถทำที่บ้านได้ และทำได้วันละหลายชิ้นงาน ซึ่งเรามีการจัดสรรรายได้อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม ทำให้กลุ่มแม่บ้านได้กลับมาเห็นคุณค่าในตัวเองอีกครั้ง และที่สำคัญคือช่วยกระจายรายได้ให้กับสมาชิกที่อยู่ภายในชุมชน จนในที่สุดเราได้พัฒนากระเป๋าผ้าออกมาหลากหลายรูปแบบภายใต้แบรนด์ “ชลูด Chalüd” ที่มีสโลแกนว่า “ทุกรอยเย็บ มาจากรอยยิ้ม”

ทั้งนี้ SCGC ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนารูปแบบสินค้า การเสริมทักษะการตัดเย็บและการส่งเสริมองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการ การพัฒนารูปแบบการดีไซน์ที่ตอบโจทย์ความยั่งยืน การทำการตลาดออนไลน์ และการออกร้านในกิจกรรมต่าง ๆ

สำหรับนางสาวรัณยณา จั่นเจริญ ประธานวิสาหกิจชุมชนบ้านรลิณ กรีน ลีฟวิ่ง ตัวแทนพลังมหัศจรรย์คนรุ่นใหม่ กล่าวว่า “ความตั้งใจแรกคือ อยากให้สมาชิกในครอบครัวได้ใช้ของที่มีส่วนผสมจากธรรมชาติ 100% ใช้แล้วปลอดภัยไม่เกิดอาการแพ้ จึงเริ่มศึกษาสูตรการทำผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติอย่างจริงจัง ทั้งผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด น้ำยาล้างจาน และอื่น ๆ เมื่อลองใช้กันเองในครอบครัวแล้วเห็นผลลัพธ์ที่ดี ก็เริ่มแบ่งให้คนรอบตัวได้ทดลองใช้ และเริ่มผลิตขายให้สำหรับผู้ที่สนใจ ภายใต้แบรนด์ “บ้านรลิณ” โดยใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ 100% จึงปลอดภัยต่อผู้บริโภค และน้ำทิ้งจากการใช้ผลิตภัณฑ์ยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย เราพิถีพิถันในการคัดเลือกวัตถุดิบเป็นพิเศษ มีการสร้างเครือข่ายกับเกษตรกรในพื้นที่ รับวัตถุดิบที่ปลูกแบบอินทรีย์ไม่ใช้ยาฆ่าแมลงเพื่อผลิตเป็นสินค้า ซึ่งช่วยกระจายรายได้ให้กับเกษตรกรอีกทางหนึ่งด้วย”

ทาง SCGC ได้เข้ามามีส่วนช่วยเติมเต็มวิสาหกิจชุมชน “บ้านรลิณ” ในเรื่องกระบวนการขอรับการรับรองจากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น องค์การอาหารและยา หรือ อย. การทดสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์ และการร่วมกันพัฒนาสารสกัดธรรมชาติอื่น ๆ รวมถึงเรื่องการสร้างแบรนด์ ออกแบบโลโก้ และทำการตลาด เป็นต้น.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password