ชัด! ทำไมต้อง ‘ร้านสะดวกซื้อ’ ร่วมดิจิทัล วอลเล็ต 1 หมื่นบาท

รายงานพิเศษ :

ที่สุด! สังคมไทยได้รู้ความจริง? เหตุใดต้องเป็น “ร้านสะดวกซื้อ” ไม่ใช่ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ เข้าร่วมโครงการดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท เผย! เม็ดเงินใช้จ่ายในโครงการฯ ซีกของการซื้อสินค้าใน “ร้านสะดวกซื้อ” ล้วนไหลเข้ากระเป๋า…เจ้าของสินค้า แรงงานผู้ผลิต พนักงานขาย คนขนส่งสินค้า และเกษตรกรทั่วไทย

กลายเป็น…หัวข้อสนทนาใหญ่มาก! ทั้งใน “วงถก” ฝั่งออนไลน์และออฟไลน์ เมื่อรัฐบาล ภายใต้การนำของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง เตรียมจะเปิดช่องให้ ร้านค้าต่างๆ ได้เข้าร่วมโครงการดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท ซึ่งมีแผนจะเริ่มแจกเงินให้กับประชาชนในช่วงไตรมาส 4 (ต.ค. – ธ.ค.2567) ของปีนี้

ก่อนหน้านี้ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ตั้งเป้าว่า…จะมีร้านค้าสูงถึงกว่า 8-9 ล้านรายทั่วประเทศ รวมถึงร้านสะดวกซื้อแบรนด์ต่างๆ เข้าร่วมโครงการฯนี้

ที่เป็นประเด็นให้สังคมไทยต้องถกเถียงกันก็คือ…ทำไมต้องมี “ร้านสะดวกซื้อ” ด้วย???

มี นักวิจารณ์หลายคน ทั้งในซีก…นักการเมือง นักวิชาการ สื่อมวลชน และ “คนดัง” ที่ต่างก็ออกมาแสดงความคิดเห็นในลักษณะ “พุ่งเป้า” ไปเลยว่า…สิ่งนี้จะเอื้อประโยชน์สุดๆ ให้กับบรรดา “เจ้าสัว” เบอร์ต้นๆ ของประเทศ โดยเฉพาะ “เจ้าสัว – ร้านสะดวกซื้อ” ที่มีเครือข่ายสาขามากกว่า 1.4 หมื่นแห่ง อย่าง “เซเว่น อีเลฟเว่น”

หากคนกลุ่มนี้…มองข้อเท็จจริงให้รอบด้านมากกว่านี้ ก็จะรู้ว่า…เหตุที่ต้องมี “ร้านสะดวกซื้อ” (ซึ่งก็ไม่ได้มีแค่ร้าน “เซเว่น อีเลฟเว่น” หากยังมีแบรนด์ดังอื่นๆ อีกมากมาย อาทิ โลตัส เอ็กซ์เพรส, มินิ บิ๊กซี, ซีเจมอร์, แฟมิลี่มาร์ท-ท็อปเดลี่, โลว์สัน 108, TURTLE, Jiffy, MAX Mart เป็นต้น) นั้น…เกิดจากหลักคิดหรือตรรกะใด?

และเหตุผลใด? ที่รัฐบาลจึงปล่อยผ่านให้กับ “ร้านสะดวกซื้อ” ในขณะที่ ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ กลับไม่ได้สิทธิ์เข้าร่วมโครงการฯ

หนึ่งในแกนนำ “เจ้าของไอเดีย” โปรเจ็คต์นี้ อย่าง… “ดร.อ๊อฟ” นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้เหตุผลถึง “หลักคิดหรือตรรกะ” ข้างต้นว่า…การจะพิจารณาให้ร้านค้าใด? เข้าร่วมโครงการดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท จะต้องพิจารณาจากตัวสินค้าที่นำมาวางจำหน่ายในร้านค้านั้นๆ ว่ามีสัดส่วนของวัตถุดิบที่นำมาใช้ในการผลิตสินค้าอย่างไร?

หากมี สัดส่วนวัตถุดิบนำเข้าจากต่างประเทศมากเกินครึ่ง ก็จะไม่ได้รับสิทธิ์เข้าร่วมโครงการฯ เพราะมันไม่ก่อประโยชน์ใดๆ ต่อเกษตรกรไทย…ผู้เป็นผู้ผลิตสินค้าวัตถุดิบ รวมถึงยังไม่ก่อให้เกิดการจ้างงานในประเทศ และที่สำคัญ…ไม่เป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศแต่อย่างใด

เกณฑ์การพิจารณานี้ เรียกว่า…Import Contents  

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อเท็จจริง ระหว่าง…“ร้านสะดวกซื้อ” และ ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ พบว่า…สินค้าที่วางจำหน่ายอยู่ใน “ร้านสะดวกซื้อ” เกือบทั้งหมดเป็นสินค้าที่สัดส่วน Import Contents (ใช้วัตถุดิบนำเข้าจากต่างประเทศสูง) ต่ำมากๆ

ต่างจาก ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ที่มักจะพบว่า…สินค้าที่วางจำหน่ายส่วนใหญ่นั้น หากไม่ใช่สินค้านำเข้าจากต่างประเทศ ก็จะเป็นสินค้าที่มีสัดส่วน Import Contents สูงมาก ไม่ว่าจะเป็น…เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า เครื่องครัว เครื่องใช้ไฟฟ้า ของกินของใช้…สารพัด ทั้งหมดล้วนนำเข้ามาจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่

ที่สำคัญ มันจะเป็นเรื่องยากมาก หากจะไปนั่งชี้ว่า “สินค้าไหนขายได้หรือขายไม่ได้” ดังนั้น เพื่อตัดปัญหาให้ขาด! จึงต้องปรับให้ ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ตกไป!!!

นั่นคือเหตุผลที่ว่า…เหตุใดรัฐบาลจึง “ปล่อยผ่าน” ให้ “ร้านสะดวกซื้อ” ได้เข้าร่วม โครงการดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท ในขณะที่ ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ต้องถูกบล็อก!

กลับมาสู่ประเด็น “เจ้าสัว – ร้านสะดวกซื้อ” โดยเฉพาะร้าน “เซเว่น อีเลฟเว่น” จะได้ประโยชน์จากโครงการนี้มากสุด?

แม้ร้าน “เซเว่น อีเลฟเว่น” จะมีสาขามากสุด! ในกลุ่มร้านสะดวกซื้อ…เหนือคู่แข่งอีกหลายๆ ราย แต่ข้อเท็จที่จะต้องพิจารณาตามมาก็คือ

หนึ่งลูกค้าตัดสินใจได้เอง ว่าจะเลือกใช้จ่ายเงินในร้านค้าใด? นอกจากร้านสะดวกซื้อที่เข้าร่วมโครงการฯนี้ ก็ยังมี ร้านค้า-โชห่วยทั่วไป, ร้านสหกรณ์ต่างๆ และร้านค้าอื่นๆ ที่ภาครัฐมีส่วนร่วมจัดตั้งขึ้นมา รวมถึง ร้าน “ธงฟ้า” ที่เข้าร่วมโครงการบัตรประชารัฐ อีกว่า 8.4 หมื่นแห่งทั่วประเทศ

สอง…ในกลุ่มร้านสะดวกซื้อ คนที่ไม่รู้สึกพิสมัยกับร้าน “เซเว่น อีเลฟเว่น” ก็ยังมีทางเลือกให้ใช้จ่ายเงินกับร้านสะดวกซื้ออื่นๆ อีกเกือบ 10 แบรนด์

สาม…ไม่ว่าจะเป็นร้าน “เซเว่น อีเลฟเว่น” หรือร้านสะดวกซื้อแบรนด์อื่นๆ เม็ดเงินที่จับจ่ายใช้สอยผ่านแอปพลิเคชั่น “ทางรัฐ” (ภายใต้การดูแลของ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA) ไปนั้น ส่วนใหญ่จะไหลเข้าสู่กระเป๋าของเจ้าของสินค้า ไม่ว่าจะเป็น…ผู้ผลิตสินค้าในกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs, กลุ่มวิสาหกิจชุมชน, กลุ่มผู้ผลิตสินค้า OTOP ซึ่งต่างก็มีลูกจ้างแรงงานของตัวเองอีกเป็นจำนวนมาก รวมถึงกลุ่มชาวบ้านและเกษตรกรทั่วไป หาได้เข้ากระเป๋าของ “เจ้าสัว” ทั้งหมดแต่อย่างใด?

“เจ้าสัว – ร้านสะดวกซื้อ” เป็นเพียงเจ้าของเครือข่าย/ช่องทางการตลาดในการนำสินค้าและบริการไปส่งถึงมือผู้บริโภคเท่านั้น จะมีสินค้าหรือแบรนด์ของตัวเองบ้าง ก็คงไม่มาก และส่วนใหญ่ก็เป็นสินค้าเฉพาะกลุ่มที่ผลิตมาเพื่ออุดช่องว่างทางการตลาด สำหรับกลุ่มสินค้าที่ยังไม่มีวางจำหน่าย

สี่…นอกจากกลุ่มผู้ผลิตสินค้า และเกษตรกร…ผู้เป็นเจ้าของวัตถุดิบในการผลิตสินค้าแล้ว ยังจะมี…พนักงานภายในร้านสะดวกซื้อที่มีนับแสนคน, กลุ่มคนที่รับจ้างขนส่งสินค้าให้กับร้านสะดวกซื้ออีกหลายพันคน ที่ล้วนได้ประโยชน์จากการเข้าร่วม โครงการดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท ทั้งสิ้น

ห้าจากผลสำรวจล่าสุด! เมื่อวันที่ 16 เม.ย.2567 ที่ผ่านมา ของ สำนักวิจัยมหาวิทยาลัย นอร์ทกรุงเทพ ก็ระบุชัด! ประชาชนกลุ่มตัวอย่าง 1,400 ราย ที่ถูกสำรวจจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 12–14 เม.ย. ชี้ไปในทิศทางเดียวกัน โดยมีมากถึงร้อยละ 89.4 ที่สนับสนุนให้รัฐบาลเดินหน้าแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทต่อไป

และคนกลุ่มนี้ ต่างก็มีความเข้าใจในตัวโครงการฯมากเสียด้วย  เห็นได้จากผลสำรวจที่ระบุว่า…ร้อยละ 48.1 มีความเข้าใจนโยบายฯในระดับค่อนข้างเข้าใจ และอีก 17.5% ระบุว่า มีความเข้าใจนโยบายฯในระดับเข้าใจมาก

2 กลุ่มรวมกันมากกว่าร้อยละ 65 เลยทีเดียว!!!

เมื่อสอบถามถึงความเหมาะสมเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และมาตรการ รวมถึงประโยชน์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผลสำรวจที่มีออกมา ก็ชี้ชัดว่าในภาพใหญ่ที่ว่า…เหมาะสมและเป็นประโยชน์ต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ

แน่นอนว่า…ในวันที่ประชาชนต้องการเงิน 10,000 บาทอย่างมาก เมื่อมีการสุ่มสำรวจ พวกเขาจำเป็นจะต้องให้ข้อมูลเชิงบวก ซึ่งท้ายที่สุด…ประโยชน์จะตกอยู่กับพวกเขา แต่ในทางวิชาการแล้ว ถือว่า…ผลสำรวจนี้ สามารถนำไปใช้อ้างอิงได้เช่นกัน

ถึงบรรทัดนี้ “ทีมข่าวยุทธศาสตร์” ขอสรุปว่า…ร้านสะดวกซื้อ มีความแตกต่างไปจาก ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ด้วยเหตุผลข้างต้น

และการที่ รัฐบาล “เปิดช่อง” ให้ร้านสะดวกซื้อ ซึ่งมีรวมกันราว 10 แบรนด์เข้าร่วม โครงการดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท นั้น ประโยชน์ก็ไม่ได้ตกอยู่ในมือของ “เจ้าสัว” ผู้เป็นเจ้าของร้านสะดวกซื้อเพียงฝ่ายเดียว แต่ยังมี…พนักงานภายในร้านฯ กลุ่มคนผู้ขนส่งสินค้าให้กับร้านสะดวกซื้อ, เจ้าของสินค้า ซึ่งมีทั้ง…ผู้ประกอบการ SMEs, กลุ่มวิสาหกิจชุมชน, กลุ่มผู้ผลิตสินค้า OTOP รวมถึงกลุ่มชาวบ้านและเกษตรกรทั่วไป ที่จะได้ประโยชน์ และมีส่วนร่วมในการกระตุ้น ผลักดัน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ไปด้วยกัน.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password