คมนาคมสุดสปีด! ‘สุริยะ’ ควง ‘มนพร’ เร่งสารพัดโครงการฯขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

ว่าการฯ-ช่วยฯ” กระทรวงคมนาคม เกาะติดสารพัดโครงการสำคัญของทุกหน่วยงานในสังกัด ประกาศเร่งสปีดโครงการสำคัญ “รถไฟฟ้า 20 บาท” ตอบโจทย์ผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 26.99 % เตรียมเพิ่ม Feeder เชื่อมโครงข่ายรถไฟฟ้าเร่งด่วน อีก 30 เส้นทาง คืบหน้ารถไฟทางคู่ นครปฐม – ชุมพร พร้อมเร่งรัดรถไฟความเร็วสูงฯ กรุงเทพฯ – นครราชสีมา ลั่น! นำสายการบินของไทยกลับไปให้บริการในสหรัฐอเมริกา

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เร่งรัดทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมร่วมขับเคลื่อนโครงการสำคัญ ในการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามผลการดำเนินโครงการสำคัญตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ครั้งที่ 1/2567 โดยมี ผู้บริหารกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานในสังกัดเข้าร่วมประชุม เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2567 ณ ห้องประชุมคมนาคม กระทรวงคมนาคม

รมว.คมนาคม กล่าวว่า วันนี้ได้มีการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามผลการดำเนินงานโครงการสำคัญตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม เพื่อให้ทุกหน่วยงานร่วมกันขับเคลื่อนและติดตามผลการดำเนินงานให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รองรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีการดำเนินงานโครงการสำคัญ ดังนี้

– นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสาย (รถไฟชานเมืองสายสีแดงและรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง) เพื่อลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน พบว่ามีปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 26.99 % ปัจจุบันมีรถโดยสารประจำทางเชื่อมต่อรถไฟชานเมืองสายสีแดง โดยปรับปรุงเส้นทางรถโดยสารประจำทางหมวด 1 ในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดที่มีเส้นทางต่อเนื่องให้เชื่อมต่อกับสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ 15 เส้นทาง เป็นรถโดยสาร ขสมก. 8 เส้นทาง รถบริษัทไทยสมายล์บัสและบริษัทในเครือ 7 เส้นทาง นอกจากนี้ สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) อยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางการจัดเส้นทาง Feeder เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย โดยจะผลักดันดำเนินการระยะเร่งด่วน 30 เส้นทาง ภายในปี 2567 เพื่อรองรับการให้บริการรถไฟฟ้าสายสีม่วงและสายสีแดง ส่วนระยะกลางภายในปี 2568 – 2569 จะผลักดันอีก 15 เส้นทางรองรับการเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สายสีเขียว สายสีชมพู และสายสีส้ม และอีก 66 เส้นทางจะดำเนินการในระยะถัดไปตั้งแต่ปี 2570 เป็นต้นไป

– การก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงนครปฐม – หัวหิน และช่วงประจวบคีรีขันธ์ – ชุมพร มีความคืบหน้าสัญญาที่ 1 ช่วงนครปฐม – หนองปลาไหล มีผลงาน 98.05% สัญญาที่ 2 ช่วงหนองปลาไหล – หัวหิน มีผลงาน 99.12% สัญญาที่ 3 ช่วงหัวหิน – ประจวบคีรีขันธ์ เสร็จแล้ว 100% อยู่ระหว่างส่งมอบงานตามสัญญา สัญญาที่ 4 ประจวบคีรีขันธ์ – บางสะพานน้อย มีผลงาน 95.46% สัญญาที่ 5 ช่วงบางสะพานน้อย – ชุมพร มีผลงาน 99.08% และสัญญาที่ 6 การจัดหาและติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคม มีผลงานสะสม 57.76% คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการทั้งเส้นทางได้ในเดือนสิงหาคม 2567

– โครงการรถไฟความเร็วสูงฯ กรุงเทพฯ – นครราชสีมา งานโยธา ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา มีผลงานสะสม 31.92 % ข้อมูล ณ วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ประชุมได้มอบหมายให้ รฟท. เร่งรัดการก่อสร้างให้เป็นไปตามแผนงาน ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้การก่อสร้างล่าช้า ให้หลีกเลี่ยงการต่อขยายสัญญาออกไปอีก เว้นแต่เป็นกรณีเหตุสุดวิสัยตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง และมอบให้กรมการขนส่งทางราง (ขร.) ช่วยกำกับดูแลการก่อสร้างของ รฟท. ให้เป็นไปตามแผนงาน ตลอดจนเป็นหน่วยงานหลักในการผลักดันการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้อง

– โครงการก่อสร้างบนถนนพระราม 2 ซึ่งจะต้องแล้วเสร็จภายในกลางปี 2568 ได้มอบให้กรมทางหลวง (ทล.) กำหนดตัวบุคคลเพื่อรับผิดชอบดูแลแต่ละสัญญา โดยแผนงานการก่อสร้างฯ ซึ่งปัจจุบันล่าช้ากว่าแผนงาน ให้นำแผนฯ มาทำ recovery plan เพื่อให้โครงการฯ แล้วเสร็จตามระยะเวลาที่กำหนด และผู้รับผิดชอบแต่ละสัญญา ต้องรายงานมายังอธิบดี และรายงานมายังกระทรวงฯ ทราบเป็นรายเดือน

– การเร่งรัดการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตของ ทล. ประกอบด้วย โครงการก่อสร้างขยายช่องจราจร ทล.4027 ช่วง บ้านพารา – บ้านเมืองใหม่ โครงการก่อสร้างทางแยกต่างระดับที่จุดตัด ทล.402 กับ ทล.4027 และ ทล.4025 (ทางลอดท่าเรือ) โครงการก่อสร้างทางแนวใหม่ ช่วง บ้านเมืองใหม่ – สามแยกเข้าสนามบินภูเก็ต (ทางเลี่ยงเมือง) โดยทั้ง 3 โครงการจะแล้วเสร็จภายในปี 2569 สำหรับการดำเนินโครงการก่อสร้างทางแยกต่างระดับที่จุดตัด ทล.402 กับ ทล.4027 และ ทล.4025 (ทางลอดท่าเรือ) ที่ กม. 34+680 (ทล.402) มีความละเอียดอ่อน ทั้งในมิติของการอัญเชิญอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร และการรื้อย้ายสาธารณูปโภค ตลอดจนการบริหารจัดการการจราจรในปัจจุบัน และระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้มอบหมายให้ ทล. นำข้อกำหนดต่าง ๆ ใส่ไว้ตั้งแต่ขั้นตอนการจัดทำ TOR ด้วย นอกจากนี้ ได้มอบหมาย ทล. กำหนดคุณสมบัติผู้รับจ้างเป็นลำดับชั้นพิเศษ เพื่อให้ได้ผู้รับจ้างที่มีมาตรฐาน/เทคโนโลยีสูงสุด และกำหนดบทปรับสูงสุด เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าจะได้ผู้รับจ้างที่มีคุณภาพ สำหรับการแก้ไขปัญหาจราจรในปัจจุบัน และการบริหารการจราจร ได้มอบหมายให้หารือร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด ตำรวจ และ สนข. เพื่อหาแนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าวต่อไป

– การแก้ไขเรือขนาดใหญ่ไม่สามารถผ่านสะพานสารสินได้ โดย ทล. มีโครงการก่อสร้างสะพานสารสินแห่งใหม่ เสนอขอจัดสรรงบประมาณเพื่อออกแบบรายละเอียดในปี 2568 วงเงิน 80 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2572 ส่วนกรมเจ้าท่า (จท.) มีแนวทางขุดลอกร่องน้ำให้มีความลึก 4 – 4.5 เมตร พัฒนาเขื่อนกันทรายและคลื่นร่องน้ำปากพระ – สารสิน จังหวัดภูเก็ต โดยจะใช้งบประมาณศึกษาความเหมาะสมฯ 10 ล้านบาท จากงบประมาณเหลือจ่ายปี 2567 ของ จท.

 – การอนุญาต Super Yacht เข้าในราชอาณาจักร โดย จท. ได้จัดทำข้อมูลเรื่องการดำเนินการรองรับนักท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ตที่เดินทางโดยเรือสำราญ Yacht/Super Yacht รวมทั้งศึกษาความจำเป็นของขั้นตอนแนวทางการปฏิบัติและระยะเวลาการขออนุญาตตามกฎหมาย กรณีการนำเรือ Super Yacht เข้ามาในประเทศไทย เพื่อที่จะอำนวยความสะดวกในขั้นตอนการขออนุญาตให้มีความรวดเร็ว และสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ประเทศเพิ่มขึ้น

– การพัฒนาท่าเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) ตามนโยบายสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวของรัฐบาล จท. ได้วางแผนพัฒนาท่าเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ครอบคลุมเส้นทางเดินเรือฝั่งอ่าวไทยรองรับการเดินเรือในเส้นทางจากท่าเรือต้นทางที่สิงคโปร์และท่าเรือปลายทางที่ฮ่องกง โดยจอดที่อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี และท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี สำหรับฝั่งอันดามันรองรับการเดินเรือในเส้นทางจากท่าเรือต้นทางที่สิงคโปร์ แวะเข้าจอดที่เกาะภูเก็ต และจังหวัดกระบี่ ปัจจุบันโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) ณ ท่าเรือแหลมฉบัง และบริเวณฝั่งอันดามันอยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสม ความคุ้มค่า รูปแบบการลงทุนพัฒนารวมถึงวิเคราะห์การดำเนินการตามแนวทาง พ.ร.บ. การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 สำหรับโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือฯ อำเภอเกาะสมุย ศึกษาความเหมาะสมฯ แล้วเสร็จ

– การติดตามความคืบหน้าด้านกฎหมายสำคัญ อาทิ ความคืบหน้าการผลักดัน (ร่าง) พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การขนส่งทางราง พ.ศ. …. ปัจจุบันอยู่ระหว่างกระทรวงฯ เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติในหลักการ หลังจากนั้น ขร. จะขอรับการสนับสนุนเพื่อผลักดันในประเด็นการเร่งรัดและติดตามการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ของฝ่ายนิติบัญญัติเพื่อให้สามารถบังคับใช้ได้โดยเร็ว ซึ่งหาก พ.ร.บ. การขนส่งทางราง พ.ศ. …. มีผลบังคับใช้จะทำให้มีกฎหมายที่จะช่วยคุ้มครองผู้โดยสารและผู้ใช้บริการระบบขนส่งทางราง รวมทั้งมีบทกำหนดโทษผู้ที่กระทำการใด ๆ ที่ฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขใด ๆ ตามที่กฎหมายนี้กำหนด เช่น กรณีเกิดอุบัติเหตุระบบรางจะมีบทลงโทษและบทบัญญัติที่เข้มข้นขึ้น ส่วน (ร่าง) พ.ร.บ. ตั๋วร่วม พ.ศ. …. ขณะนี้คณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการนโยบายระบบตั๋วร่วมเห็นชอบในหลักการแล้ว อยู่ระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายระบบตั๋วร่วม (คนต.) พิจารณา จากนั้นจะนำเรื่องเข้า ครม. พิจารณาอนุมัติต่อไป  ทั้งนี้ พ.ร.บ. ทั้ง 2 ฉบับ คาดว่ามีผลบังคับใช้ได้ภายในปี 2568

สำหรับความคืบหน้าการเตรียมความพร้อมผลักดันให้ประเทศไทยกลับเข้าสู่มาตรฐานการบินขององค์การบริหารการบินแห่งสหรัฐอเมริกา (FAA CAT1) เพื่อให้สายการบินของไทยกลับไปให้บริการในประเทศสหรัฐอเมริกาได้ โดยปัจจุบันประเทศไทยมีความพร้อมในทุกด้าน ซึ่ง สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) จะได้ประสานงาน FAA เพื่อเข้าตรวจภายในปี 2567

นอกจากนี้ นายสุริยะ ได้มอบนโยบายแนวทางการดำเนินการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการเพื่อเตรียมประชุมครั้งต่อไป ดังนี้

1. แนวทางการขับเคลื่อนโยบาย Aviation Hub ของรัฐบาล โดยได้มอบหมายให้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) กรมท่าอากาศยาน (ทย.) บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) กพท. และสถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) บูรณาการแนวทางการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมร่วมกัน โดยให้ ทอท. และ กพท. พิจารณาดำเนินการ ดังนี้

1) ให้ ทอท. เร่งดำเนินการ ดังนี้ 

• เร่งรัดศึกษาทบทวน แผนแม่บทท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อให้สามารถรองรับผู้โดยสาร 80 ล้านคนในระยะสั้น 1 – 3 ปีนี้ และ 150 ล้านคนในระยะยาว ตามข้อสั่งการของรัฐบาล

• ศึกษาแนวทางการรับโอนบริหารจัดการท่าอากาศยานในภาพรวม ของ ทย. เพื่อลดปัญหาการลงทุนภาครัฐ การขาดทุนของท่าอากาศยาน และการบริหารจัดการสายการบิน

• จัดทำ Action Plan การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ดอนเมือง และท่าอากาศยานอีก 4 แห่ง และที่จะสร้างใหม่อีก 2 แห่ง ทั้งที่ล้านนาและอันดามัน ให้เป็นรูปธรรม 

• จัดทำ Action Plan การบริการภาคพื้นและภายในอาคารผู้โดยสาร

2) ให้ กพท. เร่งดำเนินการ

• ร่วมกันกับผู้บริหารท่าอากาศยาน และสายการบินในการรื้อปรับเปลี่ยน slot การบินเพื่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศไทยสูงสุด ให้เหมาะสมที่จะดึงสายการบินมาใช้ท่าอากาศยานของประเทศไทย โดยเฉพาะท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในการเป็น Transit Hub

• ปรับปรุงกฎระเบียบในการให้บริการ จดทะเบียน  และอำนวยความสะดวกในการใช้อากาศยานส่วนบุคคล เพื่อให้ ประเทศไทย เป็น Hub ของ Private jet อย่างเต็มรูปแบบ ให้ดี และสะดวกที่สุดในภูมิภาค

• เตรียมระเบียบและกฎหมาย รองรับอากาศยานไร้คนขับ เพื่อควบคุมการใช้ให้ปลอดภัยทั้งกับประชาชนและท่าอากาศยาน

• ศึกษาและวางแผนการใช้ Sustainable Aviation Fuel (SAF) เชื้อเพลิงอากาศยานอย่างยั่งยืน (SAF) ในการจัดทำข้อกำหนดการผสมเชื้อเพลิง SAF สำหรับอากาศยานระหว่างประเทศที่มีการเติมในประเทศไทย โดยคำนึงถึงข้อกำหนดของ ICAO EU และสิงคโปร์ เพื่อให้ประเทศไทยมีการพัฒนาด้าน SAF อย่างเหมาะสม

นายสุริยะ กล่าวต่ออีกว่า การขับเคลื่อนและติดตามโครงการสำคัญของกระทรวงคมนาคมที่ต้องดำเนินการในปี 2567 และปี 2568 ในทุกมิติทั้งทางบก ทางราง ทางอากาศ และทางน้ำ จะเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลและเศรษฐกิจของประเทศ สร้างความสะดวก ปลอดภัย และคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน โดยมีโครงการที่สำคัญรวม 72 โครงการ พร้อมทั้งมอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานโครงการต่าง ๆ ให้สามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดภายใต้กรอบนโยบาย “คมนาคม เพื่อความอุดมสุขของประชาชน” ต่อไป.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password