ส.อ.ท. ร่วมผลักดัน “ไทยฮับผลิตเอทานอล”

ส.อ.ท. ร่วมผลักดัน “ไทยเป็นฮับผลิตเอทานอล” ตามโมเดล BCG เดินหน้าประเทศสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน พร้อมช่วยสร้างรายได้เกษตรกรผู้ปลูกอ้อย-มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบ

นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) นำเสนอแนวทางขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG (BCG Economy Model : Thailand Ethanol Hub) เพื่อสนับสนุนนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ผ่านการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งน้ำมันอากาศยานยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel : SAF) ไบโอเอทิลีน (Bio ethylene) สำหรับไบโอพลาสติก ตลอดจนอุตสาหกรรมสมุนไพรสกัด อุตสาหกรรมยา เครื่องสำอาง และผลิดภัณฑ์ทำความสะอาด เป็นต้น เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ที่กำหนดในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 หรือ COP26 (Conference of the Parties) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาวิกฤตการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และวิกฤตการณ์โลกเดือด (Global Boiling) โดยมีแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศสู่ธุรกิจ BCG Economy Model และมีการนำแนวทาง ESG (Environmental, Social and Governance) มาใช้เพื่อความยั่งยืน

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ซึ่งเป็นตัวแทนของภาคเอกชน มีการนำเสนอแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมเอทานอลไปยังภาครัฐแล้ว ดังนี้

  1. ปรับเปลี่ยนและเพิ่มวัตถุดิบทางเลือกในการผลิตเอทานอล เพื่อลดต้นทุน เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และสร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกร
  2. เปิดเสรีเอทานอลบริสุทธิ์ เพื่อเปิดโอกาสในการสร้างมูลค่าเพิ่มของเอทานอล สินค้าและอุตสาหกรรมมูลค่าสูงในประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG
  3. ลดการส่งออกสินค้าcommodities ผลิตสินค้ามูลค่าสูง และช่วยลดการปลดปล่อยคาร์บอน นำพาประเทศไปถึงเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero
  4. ส่งเสริมการใช้ E20 เป็นน้ำมันเบนซินพื้นฐาน ในแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan 2567 – 2580)

ดร.เสกสรรค์ พรหมนิช ประธานคณะทำงานย่อยพัฒนาอุตสาหกรรมเอทานอลด้านเชื้อเพลิงเอทานอล ได้นำเสนอแนวทางการส่งเสริมการเปิดเสรีเอทานอล เพื่อเพิ่มโอกาสในการพัฒนาตามห่วงโซ่มูลค่าของอุตสาหกรรมเอทานอลไทย และยังเป็นการส่งเสริมวัตถุดิบจากเกษตรกรไทย ซึ่งเอทานอลสามารถนำไปต่อยอด และนำไปประยุกต์กับให้กับอุตสาหกรรมต่างๆ

นอกจากนี้เอทานอลสามารถนำไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงต่างๆ เช่น

เชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (SAF) : สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) อยู่ระหว่างการศึกษาและดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำมาตรฐานความยั่งยืนของวัตถุดิบของไทย โดยให้ผ่านการรับรองจาก ICAO (International Civil Aviation Organization) สำหรับนำไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF)

น้ำมัน E20 : ส่งเสริมการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 ในแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) ฉบับใหม่ โดยจะเกิดประโยชน์ต่อประเทศดังนี้

เพิ่ม การใช้เชื้อเพลิงเอทานอลเป็น 6.2 ล้านลิตร/วัน หรือ 2,270 ล้านลิตร/ปี

ลด การใช้น้ำมันเบนซิน 1,475 ล้านลิตร คิดเป็นมูลค่า 33,940 ล้านบาท/ปี

ลด การปล่อยก๊าซเรือนกระจก 2.58 mtCO2eq สนับสนุน Carbon Neutrality

ลด การปล่อยมลพิษจากท่อไอเสียทั้ง PM2.5 CO VOCs HCs และ Benzene

สนับสนุน เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยและมันสำปะหลังกว่า 1 ล้านครัวเรือน

เพิ่มมูลค่า อ้อยและมันสำปะหลัง เศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศกว่า 174,000 ล้านบาท

นางเกศมณี เลิศกิจจา ประธานคลัสเตอร์อุตสาหกรรมสุขภาพและความงาม และประธานคณะทำงานย่อยพัฒนาเอทานอลเกรดอุตสาหกรรม ได้นำเสนอการใช้ประโยชน์จาก
เอทานอลในปัจจุบัน นอกเหนือจากการนำไปเป็นพลังงานแล้ว สามารถใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอื่นได้หลายสาขา เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ยา สมุนไพร น้ำยาทำความสะอาดเครื่องมือแพทย์และเครื่องสำอาง รวมทั้งงานวิจัยต่อยอดและนวัตกรรมในกลุ่มเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio-Economy) เป็นต้น

ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 (COVID-19) ทำให้เกิดวิถีการดำเนินชีวิตใหม่ที่เปลี่ยนไปจากเดิม โดยมีความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคที่มีส่วนผสมของเอทานอลมากขึ้น ซึ่งความต้องการใช้เอทานอลของภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ 76.37 ล้านลิตรต่อปี เพื่อนำไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตยา ผลิตภัณฑ์สมุนไพร เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ และใช้ชะล้างทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรค เป็นต้น ซึ่งโรงงานเอทานอลเกรดเชื้อเพลิงหลายแห่งในปัจจุบัน สามารถผลิตเอทานอลเกรดอุตสาหกรรมดังกล่าวป้อนสู่ตลาด ทดแทนการนำเข้าได้ทันที ทั้งนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมทั้งหมดเล็งเห็นว่าความต้องการใช้เอทานอลได้กลายเป็นความต้องการถาวร และมีโอกาสเติบโตในระยะยาว และหากเป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ผู้ประกอบการจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าเอทานอลเป็นหลัก ในขณะที่ไทยมีความสามารถและกำลังการผลิตมาสนองความต้องการเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

ดังนั้น ภาครัฐจะต้องอำนวยความสะดวก (Ease of doing Business) โดยการทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้องตามข้อเสนอของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เพื่อให้สามารถสนับสนุนและตอบสนองต่อความต้องการของตลาด และพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการของไทย

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password