จบสวย! เจ้าของ ‘จยย.เถื่อน – คลิปให้ร้าย’ จนท.สรรพสามิต ยอม ‘จ่ายค่าปรับ – ขอโทษ’ แล้ว
กรมสรรพสามิตจับมอเตอร์ไซค์ในร้านขายอุปกรณ์การเกษตรที่บุรีรัมย์ ตรวจสอบพบไม่เสียภาษีสรรพสามิต ด้านเจ้าของรถเถื่อน! รุดขอโทษและรับผิดกรณีครอบครองสินค้าไม่เสียภาษี และปล่อยคลิปสร้างความเสื่อมเสีย พร้อมยอมจ่ายชำระค่าปรับเกือบ 1 หมื่นบาท ขณะที่ จนท.สรรพสามิต “ผู้เสียหาย” ยอมถอนแจ้งความคดีหมิ่นประมาท-พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์แล้ว ด้าน “โฆษกกรมสรรพสามิต” ระบุ! การครอบครองรถที่ไม่ได้มีการชำระภาษีสรรพสามิตถือเป็นความผิดตามกฎหมาย ย้ำ! การซื้อขายรถผ่านช่องทางออนไลน์ ผู้ซื้อต้องตรวจสอบข้อมูลการชำระภาษีสรรพสามิตก่อนทุกครั้ง
ดร.นิตยา โสรีกุล รองอธิบดีกรมสรรพสามิต ในฐานะ โฆษกกรมสรรพสามิต กล่าวถึงกรณีการเผยแพร่คลิปวีดิโอในโลกโซเชียล เกี่ยวกับการเข้าตรวจสอบรถจักรยานยนต์ที่ต้องสงสัยว่าไม่ได้มีการเสียภาษีสรรพสามิตในร้านขายอุปกรณ์การเกษตรที่จังหวัดบุรีรัมย์ ว่า จากการตรวจสอบพบว่าคลิปดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งจากเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้น แต่ผู้ที่ได้รับชมอาจได้รับทราบข้อมูลไม่ครบถ้วนจนทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง ทางกรมสรรพสามิตจึงขอให้ข้อมูลที่ถูกต้อง โดยมีรายละเอียดดังนี้
เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2567 เจ้าหน้าที่สรรพสามิต ฝ่ายปราบปราม สำนักงานสรรพสามิตพื้นที่บุรีรัมย์ ได้รับแจ้งเบาะแสจากประชาชน จึงได้ดำเนินการเข้าตรวจสอบรถจักรยานยนต์ ณ ร้านขายอุปกรณ์ทางการเกษตร ถนนนางรอง – ลำปลายมาศ ตำบลนางรอง อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ พบรถจักรยานยนต์ยี่ห้อ GPX RACING ขนาด 125 ซี.ซี. (สีน้ำเงิน) จำนวน 1 คัน เป็นรถจดประกอบ โดยต้องสงสัยว่าไม่ได้เสียภาษีสรรพสามิต
ดังนั้น เจ้าหน้าที่กรมสรรพสามิตพื้นที่บุรีรัมย์ จึงได้ดำเนินการตามกฎระเบียบด้วยการแสดงบัตรเจ้าหน้าที่สรรพสามิตและเข้าไปทำการขอตรวจสอบรถจักรยานยนต์คันดังกล่าว ซึ่งขณะนั้นได้พบกับ นายภัทร์ธนศักดิ์ มหัทธนโภคจินดา เจ้าของร้านได้มีการนำเอกสารสัญญาซื้อขายรถจักรยานยนต์ และใบเสร็จการชำระภาษีกรมสรรพสามิตพื้นที่สมุทรปราการ 1 ลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2556 มาแสดง ซึ่งเมื่อเจ้าหน้าที่สรรพสามิตได้ทำการตรวจสอบในระบบแล้ว พบว่า เอกสารดังกล่าวมีหมายเลขเครื่องและหมายเลขตัวถังไม่ตรงกัน จึงได้ชี้แจงข้อกฎหมายให้ทราบ พร้อมทำการอายัดรถจักรยานยนต์คันดังกล่าว อย่างไรก็ดี นายภัทร์ธนศักดิ์ ได้มีการโต้แย้งและโต้เถียงกับเจ้าหน้าที่ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ได้แจ้งนายภัทร์ธนศักดิ์ว่า หากมีเอกสารชำระภาษีตามที่กล่าวอ้าง ก็สามารถนำมาสำแดงต่อเจ้าหน้าที่สรรพสามิตภายใน 15 วัน ก็จะไม่ถูกดำเนินการเปรียบเทียบปรับแต่อย่างใด
เวลาต่อมา นายภัทร์ธนศักดิ์ได้ทำการโพสต์ข้อความ รูปภาพ และวีดิโอของคลิปการเข้าตรวจสอบรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ ซึ่งไม่ได้มีการเบลอหน้าเจ้าหน้าที่สรรพสามิต รวมถึงได้มีถ้อยคำและข้อความในลักษณะทำให้ได้รับความเสียหาย ทางเจ้าหน้าที่สรรพสามิต จึงได้ดำเนินการเข้าร้องทุกข์ ต่อพนักงานสอบสวน สภ. นางรองเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทางสรรพสามิตพื้นที่บุรีรัมย์ ได้มีการพูดคุย รวมถึงการสร้างความเข้าใจ ในข้อกฎหมายให้นายภัทร์ธนศักดิ์ ถึงความผิดฐานครอบครองสินค้าที่ไม่ได้ชำระภาษีสรรพสามิต ซึ่งนายภัทร์ธนศักดิ์ เข้าใจและดำเนินการชำระค่าปรับเป็นจำนวนเงิน 9,920 บาท พร้อมทั้งกล่าวขอโทษเจ้าหน้าที่สรรพสามิต รวมถึงได้ขอให้ทางเจ้าหน้าที่ถอนแจ้งความจากกรณีที่ตนได้นำคลิปวีดิโอบางส่วนจากการเข้าตรวจสอบรถจักรยานยนต์ของเจ้าหน้าที่ และการโพสต์ข้อความในลักษณะที่สร้างความเสียหายให้แก่เจ้าหน้าที่สรรพสามิต ซึ่งเจ้าหน้าที่สรรพสามิตได้ทำการถอนแจ้งความดังกล่าวให้หลังจากที่ได้มีการขอโทษและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่นายภัทร์ธนศักดิ์แล้ว
ดร.นิตยา ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เจ้าหน้าที่สรรพสามิตสามารถทำการตรวจสอบได้ว่ามีการชำระภาษีสรรพสามิตแล้วหรือไม่ โดยใช้หมายเลขเครื่อง/หมายเลขตัวถัง ทำการตรวจสอบในระบบ โดยรถทุกคัน เมื่อทำการชำระภาษี หน่วยที่รับชำระภาษีจะทำการบันทึกข้อมูลในระบบรับชำระภาษี ซึ่งจะเชื่อมมาที่ระบบตรวจสอบการรับชำระภาษี ซึ่งในกรณีรถจักรยานยนต์คันดังกล่าว ทางเจ้าหน้าที่ได้ทำการรวจสอบจากหมายเลขเครื่อง ทำให้ทราบว่ายังไม่มีการชำระภาษีสรรพสามิตแต่อย่างใด จึงได้ดำเนินการอายัดรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวไว้
สำหรับการครอบครองรถที่ไม่ได้มีการชำระภาษีสรรพสามิตจะมีความผิด โดยแบ่งเป็นครอบครองไว้ใช้ หรือมีไว้เพื่อขาย โดย มาตรา 203 ระบุไว้ว่า ผู้ครอบครองสินค้าที่มิได้ชำระภาษีสรรพสามิต จะมีโทษปรับ 2 – 10 เท่าของค่าภาษี และ มาตรา 204 ระบุไว้ว่า กรณีขายหรือมีไว้เพื่อขาย หากตรวจพบการกระทำผิด จะถูกดำเนินคดี โดยกำหนดโทษปรับไว้ที่ 5 – 15 เท่าของค่าภาษี
ดังนั้น ในกรณีที่จะมีการซื้อขายรถจากช่องทางออนไลน์ จึงควรมีการตรวจสอบข้อมูลการชำระภาษีสรรพสามิต เพื่อให้มั่นใจได้ว่าเป็นรถที่ถูกกฎหมาย อย่างไรก็ดี หากไม่มีเอกสารการชำระภาษีสรรพสามิตหรือสงสัยว่ามีการชำระภาษีสรรพสามิตแล้วหรือไม่ สามารถทำการสอบถามข้อมูลได้ที่สำนักงานสรรพสามิตทุกพื้นที่ทั่วประเทศหรือกรมสรรพสามิต
อนึ่ง หากประชาชนท่านใดทราบเบาะแส หรือพบเห็นการกระทำความผิดเกี่ยวกับสินค้าที่ต้องเสียภาษีสรรพสามิต สามารถแจ้งโดยตรงได้ที่กรมสรรพสามิต หรือสำนักงานสรรพสามิตพื้นที่ทุกแห่งทั่วประเทศ หรือสายด่วน 1713 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรืออีเมลล์ excise_hotline@excise.go.th.