SPCG โชว์งบปี 66 กำไร 1,973.9 ล้านบาท จ่ายปันผล 0.65 บาท
SPCG โชว์งบปี 66 กำไรสุทธิ 1,973.9 ล้านบาท เตรียมจ่ายปันผล 0.65 บาท ด้านธุรกิจโซลาร์รูฟรายได้พุ่ง 106% มั่นใจปี 67 รายได้ไม่ต่ำกว่า 3,500 ล้านบาท
ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) “SPCG” ประกาศผลการดำเนินงานของบริษัทและบริษัทย่อย สิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 บริษัทฯ มีรายได้รวม จำนวน 4,125.6 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิจำนวน 1,973.9 ล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้น เท่ากับ 1.74 บาท
นอกจากนั้น ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ได้มีมติอนุมัติให้เสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นพิจารณาอนุมัติจ่ายเงินปันผลจากผลการดำเนินงานประจำปี 2566 และกำไรสะสม ในอัตราหุ้นละ 0.95 บาท ซึ่งบริษัทฯ ได้มีการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลจากผลการดำเนินงานงวดวันที่ 1 มกราคม – 30 มิถุนายน 2566 ไปแล้วในอัตราหุ้นละ 0.30 บาท คงเหลือเงินปันผลที่จะจ่ายในงวดนี้ อัตราหุ้นละ 0.65 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 686,263,500 บาท (หกร้อยแปดสิบหกล้านสองแสนหกหมื่นสามพันห้าร้อยบาท) โดยกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิได้รับเงินปันผล (Record Date) ในวันที่ 12 มีนาคม 2567 และกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 17 พฤษภาคม 2567 ทั้งนี้ สิทธิในการรับเงินปันผลดังกล่าวยังมีความไม่แน่นอนจนกว่าจะได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567
ดร.วันดี เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทและบริษัทย่อย สิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 บริษัทฯ มีรายได้รวมจากการขายและให้บริการ จำนวน 4,125.6 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 5 จากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้อยู่ที่ 4,358.2 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ จำนวน 1,973.9 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 20 จากงวดเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไรอยู่ที่ 2,464.3 ล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้น เท่ากับ 1.74 บาท
ในส่วนของรายได้รวมที่ลดลงเป็นผลอันเนื่องมาจากค่าแอดเดอร์หรือรายได้เงินอุดหนุนส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าที่หน่วยละ 8 บาท ได้สิ้นสุดลง ซึ่งถ้ารวมตั้งแต่ปี 2563 บริษัทมี 22 โซลาร์ฟาร์ม ที่ค่าแอดเดอร์หมดไปจากทั้งหมด 36 แห่ง
ทั้งนี้ถึงแม้ว่าแอดเดอร์จะสิ้นสุดลงแต่ต้นทุนทางการเงิน หรือภาระหนี้ของบริษัทก็จะหมดลงไปด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตามบริษัทฯ ยังคงได้รับเงินจากการขายไฟตามปกติ และยังคงเดินหน้านโยบายปรับลดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการต้นทุนด้านต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ต้นทุน O&M (Operating & Maintenance) สำหรับธุรกิจโซลาร์ฟาร์มทั้งในปัจจุบันและอนาคตลดลงอย่างเป็นนัยสำคัญ เพื่อเป็นการเสริมสร้างสภาพคล่องและรักษากำไรของบริษัท ทั้งนี้คาดว่าในปี 2567 บริษัทฯ จะมีรายได้จากการขายและให้บริการไม่ต่ำกว่า 3,500 ล้านบาท
สำหรับงบการเงินเฉพาะกิจการของ SPCG สิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 บริษัทฯ มีรายได้จากเงินปันผล จำนวน 2,250.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 19 จากงวดเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ จำนวน 2,231.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 22 จากงวดเดียวกันของปีก่อน ปัจจัยหลักมาจากรายได้เงินปันผลที่เพิ่มขึ้นจาก บริษัท โซล่า เพาเวอร์ จำกัด หรือ “SPC” และ บริษัท โซลาร์ เพาเวอร์ รูฟ จำกัด หรือ “SPR” (บริษัทในเครือ SPCG) ซึ่งประกอบธุรกิจ Solar Farm และ Solar Roof ตามลำดับ
ปัจจุบันค่าไฟฟ้าที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับกระแสการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดที่มีความต้องการมากขึ้น ด้วยนโยบายที่ประกาศให้ประเทศไทยจะเข้าสู่การใช้พลังงานในรูปแบบ Carbon Neutral ในปี 2050 และเป็น Net Zero ในปี 2065 อีกทั้งต้นทุนการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ได้ลดลง ถูกกว่าการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน ถ่านหิน ซึ่งนอกจากจะมีราคาสูงแล้วยังมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จากการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมสำคัญของโลกปัจจุบัน ส่งผลให้บริษัท โซลาร์ เพาเวอร์ รูฟ จำกัด หรือ “SPR” (บริษัทในเครือ SPCG) ผู้นำด้านการออกแบบและติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Power Roof System) มีรายได้จำนวน 1,058.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 106 เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีรายได้อยู่ที่ 512.7 ล้านบาท
ซึ่งบริษัทฯ เดินหน้าขยายการติดตั้งอย่างต่อเนื่อง โดยได้มีการติดตั้งไปแล้วกว่า 200 เมกะวัตต์ อย่างไรก็ดี SPR ได้มีการปรับเปลี่ยนแผนการตลาดและกลยุทธ์ในการขายอยู่ตลอด เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและทางเลือกให้กับลูกค้ามากยิ่งขึ้น เพราะเมื่อลูกค้าติดตั้งระบบโซลาร์รูฟของบริษัทแล้ว ต่างเห็นผลลัพธ์ที่ดี สามารถลดค่าไฟได้ทันทีเมื่อติดตั้ง อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนการดำเนินงาน ทำให้กิจการของลูกค้ามีกำไรเพิ่มขึ้น
สำหรับโครงการ Tottori Yonago Mega Solar Power Plant ประเทศญี่ปุ่น ขนาดกำลังการผลิต 30 เมกะวัตต์ ได้ผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ไปแล้ว ตั้งแต่ปี 2018 และบริษัทได้รับผลตอบแทนจากเงินปันผลไปแล้ว 6 งวด หรือ 6 ปีติดต่อกัน ซึ่งเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปี 2566 ได้รับผลตอบแทนในอัตราร้อยละ 6.19% และมั่นใจว่าจะได้รับผลตอบแทนที่ดีต่อเนื่องต่อไป
ในส่วนของโครงการโซลาร์ฟาร์ม Fukuoka Miyako Mega Solar ประเทศญี่ปุ่น ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งรวม 67 เมกะวัตต์ (MW) แบ่งเป็น 2 Phase ได้แก่ North Phase 23 เมกะวัตต์ (MW) และ South Phase 44 เมกะวัตต์ (MW) ได้ดำเนินการจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ครบทั้ง 2 Phase เป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อเดือนกันยายน 2564 และเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ตามลำดับ โดยโครงการดังกล่าวมีงบการลงทุนทั้งสิ้น 3,140 ล้านเยน หรือ ประมาณ 805 ล้านบาท โดย SPCG ถือหุ้นที่ร้อยละ 10 คิดเป็นเงินจำนวน 314 ล้านเยน หรือประมาณ 91 ล้านบาท ซึ่งโครงการดังกล่าวมีอัตรารับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ FiT 36 เยนต่อหน่วย ระยะเวลารับซื้อไฟฟ้า North Phase 18.7 ปี และ South Phase 17.8 ปี โดยมี Kyushu Electric Power Co., Inc. เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้า โดยในปี 2566 ได้รับผลตอบแทนในอัตราประมาณร้อยละ 8%
ด้านโครงการ Ukujima Mega Solar Project ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งรวม 480 เมกะวัตต์ (MW) งบการลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 178,758 ล้านเยน หรือประมาณ 60,000 ล้านบาท ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้น 17.92% หรือคิดเป็นเงินจำนวน 9,000 ล้านเยน หรือประมาณ 2,700 ล้านบาท บริษัทจะชำระเงินงวดที่เหลือภายในไตรมาสแรกของปี 2567 โดยปัจจุบันโครงการดังกล่าวมีความคืบหน้ามากขึ้น อยู่ระหว่างขั้นตอนการก่อสร้าง โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ภายในเดือนกรกฎาคม 2568