กฟผ. โชว์นวัตกรรมระบบวิเคราะห์และสั่งการระบบไฟฟ้าข้ามประเทศแบบอัตโนมัติ

กฟผ. โชว์ระบบวิเคราะห์และสั่งการระบบไฟฟ้าข้ามประเทศแบบอัตโนมัติผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตสาธารณะและไอโอที ตัวช่วยเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า ย้ำความพร้อมเป็นศูนย์กลางระบบไฟฟ้าของภูมิภาค และ 6 ผลงาน นวัตกรรมด้านพลังงาน ในงานวันนักประดิษฐ์ 2-6 ก.พ. นี้ พร้อมส่ง 8 ผลงานเด่นจากเวทีนานาชาติ ร่วมประกวด IPITEx 2024

นายวฤต รัตนชื่น ผู้ช่วยผู้ว่าการวิจัย นวัตกรรม และพัฒนาธุรกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นำทีมนักประดิษฐ์ กฟผ. ร่วมนำเสนอผลงานเด่นด้านนวัตกรรมในงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2567 (Thailand Inventors’ Day 2024) ซึ่งจัดโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ณ Event Hall 100-102 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ โดยมีหน่วยงานภาครัฐ เอกชน นักวิจัย นักประดิษฐ์ ทั้งชาวไทยและต่างชาติ เข้าร่วม

นายวฤต รัตนชื่น ผู้ช่วยผู้ว่าการวิจัย นวัตกรรม และพัฒนาธุรกิจ กฟผ. กล่าวว่า การพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านงานวิจัยและนวัตกรรม ถือเป็นปัจจัยสำคัญในยุคการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) ช่วยส่งเสริมและผลักดัน การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้สังคมและประเทศ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่อนาคตอย่างยั่งยืน ที่ผ่านมา กฟผ. ให้ความสำคัญ สนับสนุน และส่งเสริมการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมพัฒนาการทำงานด้านการผลิตและส่งไฟฟ้าควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงในระบบไฟฟ้าของประเทศ

ภายในงาน กฟผ. ยังได้นำ 6 ผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม ซึ่งได้รับรางวัลจากเวทีระดับประเทศและนานาชาติร่วมจัดแสดงเพื่อเผยแพร่ความรู้แก่บุคคลที่สนใจและนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงส่งต่อแรงบันดาลใจและจุดประกายให้ผู้ที่เข้าชมงานเห็นถึงความสำคัญของการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาประเทศ ดังนี้

1) ระบบวิเคราะห์และสั่งการระบบไฟฟ้าข้ามประเทศแบบอัตโนมัติผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตสาธารณะและไอโอที ควบคุมการรับส่งไฟฟ้าข้ามประเทศ เนื่องจากระบบส่งไฟฟ้าของไทยบางส่วนเชื่อมต่อกับ สปป.ลาว หากเกิดเหตุการณ์ผิดปกติอาจทำให้เกิดไฟฟ้าดับเป็นบริเวณกว้างได้ทั้งสองประเทศ กฟผ. จึงนำนวัตกรรมนี้มาใช้ สร้างความมั่นคงในระบบไฟฟ้าของทั้งสองประเทศ

2) เครื่องช่วยขึ้น-ลงที่สูงสำหรับช่างสาย ซึ่งพร้อมต่อยอดให้บริการแก่โครงข่ายระบบไฟฟ้าในประเทศเพื่อนบ้าน 3) ระบบบริหารจัดการพลังงาน (ENZY One Platform) ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในสถานที่ใช้ไฟฟ้า ซึ่งจะมีการทดสอบในประเทศเพื่อนบ้านด้วย

4) EGAT EV Business Solutions นวัตกรรมรองรับยานยนต์ไฟฟ้าที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในอนาคตแบบครบวงจร ทั้งสถานีชาร์จ Elex by EGAT Application: EleXA และระบบ BackEN EV ตัวช่วยบริหารจัดการสำหรับผู้ที่สนใจลงทุนซึ่งมีสถานีชาร์จในประเทศเพื่อนบ้านในเครือข่ายแล้วในปัจจุบัน 5) Water Solution Drone การบริการตรวจวัดคุณภาพน้ำอัตโนมัติโดยอากาศยานไร้คนขับ และ 6) ระบบการตรวจจับเพลิงไหม้ด้วยการประมวลผลภาพ

นอกจากนี้ กฟผ. ยังได้นำ 8 ผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมที่ได้รับรางวัลจากการประกวดสิ่งประดิษฐ์ในเวทีนานาชาติประจำปี 2566 เข้าร่วมประกวด 2024 Bangkok International Intellectual Property, Invention, Innovation and Technology Exposition (IPITEx 2024) ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพด้วย เช่น การพัฒนาต้นแบบหอฟอกอากาศสำหรับชุมชน ด้วยเทคนิคพลาสมา เครื่องผลิตไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กแบบปรับความเร็วรอบ (ต้นแบบ) ขนาด 100kW เทคนิค การตรวจสอบคุณภาพรอยต่อสายพานขนส่งถ่านหิน และเครื่องมือ ชุด Slide Pump เป็นต้น.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password