“วิษณุ” ชี้! ช่อง พ.ร.บ.กู้เงิน5แสนล้าน ผ่านวาระแรก รัฐบาลลอยตัวได้ แต่ถ้าคว่ำ ต้องลาออก
“วิษณุ เครืองาม” อดีตรองนายกฯ ระบุหลัง สว.อยู่ในตำแหน่ง ครบ5ปี ไม่มีอำนาจเลือกนายกฯ และ พร้อม ชี้ช่องกฎหมายกู้เงิน 5 แสนล้านผ่านวาระ 1 รัฐบาลลอยตัวได้ แต่ถ้าคว่ำก่อน ต้องรับผิดชอบลาออก-ยุบสภาฯ
วันที่ 25 ธ.ค.2566 เวลา 13.00น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ ถึงสภานการณ์การเมืองปี 2567 จะมีอะไรพลิกผันหรือไม่ว่า ไม่ทราบ ตนตอบไม่ถูก เมื่อถามถึงกรณีที่ สว.จะหมดวาระ 5 ปี วันที่ 11 พ.ค.2567 จะมีอะไรเปลี่ยนแปลงหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า สว.ชุดนี้ไม่อยู่ ก็มีสว.ใหม่มา บทบาทเขาก็เล่นอีกแบบหนึ่ง ในส่วนนี้คงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมาก เพียงแต่ว่าอาจมีเปลี่ยนเรื่องอื่นๆ เช่นเรื่องการเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญ ส่วนรัฐบาลจะปรับคณะรัฐมนตรีหรือไม่นั้นตนไม่ทราบอยู่ที่รัฐบาลและนายกฯถือว่าเป็นช่วงเวลาที่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงจริงๆ
เมื่อถามย้ำว่า หากพ้นวันที่ 11 พ.ค. ไปแล้วสว.ชุดเดิม จะไม่มีส่วนเกี่ยวกับการเลือกนายกฯแล้วใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่มีอำนาจเลือกนายกฯ แต่เรื่องอื่นยังมีอำนาจอยู่ จนกว่าจะมีสว.ชุดอื่นเข้ามาคาดว่าจะใช้เวลา 2 เดือน
เมื่อถามถึงปี 2567 รัฐบาลจะเสนอร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทผลักดันโครงการดิจิทัลวอลเล็ต หากไม่ผ่านสภาฯนายกฯ ต้องรับผิดชอบด้วยการลาออกหรือไม่ นายวิษณุ ตอบว่า ถ้าไม่ผ่านสภาฯ วาระที่ 1 เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาล ด้วยการยุบสภาฯ หรือ ลาออก แต่ถ้าไม่ผ่านในวาระ 2 หรือ 3 หรือในชั้น ส.ว.ไม่เป็นไร เพราะถ้าสภาฯรับหลักการวาระหนึ่ง แล้วกฎหมายนั้นก็ถือเป็นกฎหมายของสภาฯเพราะมีการไปแก้ไขแล้ว หลังจากนั้นจะผ่าน หรือ ไม่ผ่านก็ไม่เกี่ยวกับรัฐบาล แต่ช่วงวาระหนึ่งถือเป็นเรื่องของรัฐบาลที่เสนอเข้าไปถ้าไม่ผ่านก็เท่ากับไม่ไว้ใจรัฐบาล เรื่องนี้ไม่มีกฎหมายบังคับแต่ธรรมเนียมปฏิบัติเป็นเช่นนั้น ขณะที่วาระสองวาระสามไม่มีธรรมเนียมด้วยซ้ำไป
เมื่อถามย้ำว่าหากกฎหมายไม่ผ่านตั้งแต่วาระหนึ่งก่อนรับหลักการ นายกฯไม่ออกได้หรือไม่ เพราะไม่มีกฎหมายบังคับ นายวิษณุ กล่าวว่ามันเป็นธรรมเนียมประเพณี มิเช่นนั้นจะถูกตำหนิ เช่นส มัยจอมพล.ป. กฎหมายไม่ผ่านก็ลาออก สมัยพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกฯ เมื่อกฎหมายไม่ผ่านก็ยุบสภาฯ ในอังกฤษในญี่ปุ่นก็เป็นชั่นนั้น เป็นธรรมเนียมไม่ได้เขียนเป็นกฎหมายไว้ที่ไหน
ส่วนกรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ต้องการขอพระราชทานอภัยโทษ จะต้องดำเนินการอย่างไร ว่า หนึ่งต้องเข้ามา สองมอบตัวเป็นนักโทษแล้วถึงจะถวายฎีกาได้ ถ้ายังไม่รับโทษยังไม่สามารถถวายฎีกาได้ ไม่เรียกว่าฎีกา สำหรับฎีกา คือสิ่งที่นักโทษเด็ดขาดเป็นผู้ถวายขึ้นไป ส่วนจะโปรดเกล้าฯ หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับพระมหากรุณาธิคุณ.