ค่ายกสิกรชี้ประเด็นโอกาสการตลาด ‘อาหาร/เครื่องดื่ม’ ผู้สูงวัยปี’67
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองตลาดอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพของผู้สูงอายุปี 2567 อาจพุ่งทะลุ 3.4 หมื่นล้านบาท เผย! กลุ่มใหญ่คือ ผู้สูงวัยทั่วไปมากถึง 92% ระบุ! ตลาดใหญ่แต่มีความท้าทายสูง คาดปี 2580 ตลาดในกลุ่มผู้ป่วยภาวะพึ่งพิง (ติดเตียง/ติดบ้าน) อาจพุ่งเป็น 2 เท่าตัวจากปี 2564 จนแตะที่ระดับ 8.3 แสนคน
ตลาดอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพของผู้สูงอายุในไทยมีแนวโน้มเติบโตจากฐานประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มแต่ด้วยกำลังซื้อผู้สูงอายุส่วนใหญ่ที่ไม่ได้สูงมาก ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพจึงควรปรับกลยุทธ์รับความท้าทายดังกล่าว
เบื้องต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า มูลค่าตลาดอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพของผู้สูงอายุปี 2567 อาจอยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 34,000 ล้านบาท ขยายตัวราว 6%YoY ซึ่งตัวเลขดังกล่าวให้ภาพการเติบโตแบบระมัดระวัง โดยเป็นผลจากการขยายตัวของฐานประชากรกลุ่มผู้สูงอายุที่มีศักยภาพเป็นหลัก
โดย ตลาดอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพของผู้สูงอายุ แบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก คือ…
1) อาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุทั่วไป คิดเป็นสัดส่วน 92% ของมูลค่าตลาดอาหารเพื่อสุขภาพของผู้สูงอายุ ซึ่งเหมาะต่อการเจาะตลาดในระยะแรก เพราะเข้าถึงกลุ่มผู้สูงอายุที่มีความเต็มใจจ่ายและต้องการอาหารที่เข้ามาช่วยส่งเสริมสุขภาพและคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้ไม่ยาก อาทิ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อาหารออร์แกนิก อาหารที่ปรับปริมาณสารอาหารให้เหมาะสมกับวัยกับโรค (ไขมัน น้ำตาล โซเดียมต่ำ) โดยเน้นชูคุณภาพวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ปัญหาสุขภาพผู้สูงอายุ ภายใต้ราคาที่เข้าถึงง่าย
2) อาหารทางการแพทย์สำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (กลุ่มติดเตียง คือ ผู้สูงวัยที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเอง ต้องการผู้ดูแลใกล้ชิด และ กลุ่มติดบ้าน คือ ผู้สูงวัยที่ช่วยเหลือตนเองได้ ต้องการความช่วยเหลือบางส่วน) แม้จะมีสัดส่วนในตลาดเพียง 8% แต่มีแนวโน้มเติบโตจากจำนวนผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงที่จะเพิ่มขึ้นจาก 4.1 แสนคนในปี 2564 คาดเพิ่มเป็นเท่าตัวที่ 8.3 แสนคน ภายในปี 2580 กลุ่มนี้ต้องการอาหารที่เฉพาะเจาะจง เหมาะสมกับโรค สภาพร่างกายและการรักษา ซึ่งโอกาสอาจอยู่ที่การร่วมมือกับสถานพยาบาล ในการผลิตหรือหาช่องทางจำหน่ายร่วมกันโดยกลุ่มอาหาร
มองไปข้างหน้า ตลาดอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพของผู้สูงอายุ ยังเติบโตได้แบบค่อยเป็นค่อยไป ตามการเพิ่มขึ้นประชากรผู้สูงอายุไทย ซึ่งหากผู้ประกอบการมีการขยายการลงทุนและรุกตลาดมากขึ้น จนทำให้มีสินค้าหลากหลาย และทำราคาให้เข้าถึงได้ง่าย ก็ยังมีโอกาสขยายฐานลูกค้าผู้สูงอายุไปยังกลุ่มอื่นๆ เช่น ผู้สูงอายุในต่างจังหวัด รวมถึงโอกาสในการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศที่มีจำนวนผู้สูงอายุมาก อาทิ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป เป็นต้น
อ่านบทวิเคราะห์ฉบับเต็มได้ที่ : https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-social-media/Pages/Food-CIS3446-KR-22-12-2023.aspx.