“พาณิชย์” เรียกถกด่วน! สัปดาห์หน้า หลังทะเลแดงเดือด “กบฎฮูตี” โจมตีเรือสินค้า ไม่เลือกหน้า
“ขนส่งโลก” ป่วน หลัง “กบฎฮูตี” โจมตีเรือสินค้า ทีใช้สินทางลัดผ่านคลองสุเอซ ส่งสินค้าระหว่าง “ยุโรป-เอเชีย” “พาณิชย์” นัดหารือด่วน สัปดาห์หน้า หวั่นกระทบการส่งออกไทย
ทะเลแดงเดือด “กลุ่มกบฏฮูตี” ในเยนโจมตีเรือสินค้าในทะเลแดงเขย่า “เศรษฐกิจโลก” เผย 13 บริษัทใหญ่ขนส่งสินค้าทะเล ยกเลิกเดินเรือผ่านเส้นทางทะเลแดง ดันค่าระวางพุ่งเท่าตัว โดยสถานการณ์ ที่ กลุ่มกบฏฮูตี ตั้งเป้าโจมตีเรือสินค้า ที่มุ่งสู่ท่าเรือของ “อิสราเอล” และ เดินเรือผ่านช่องแคบ Bab al-Mandab กลายเป็นเหตุการณ์ใหญ่ปลายปีที่เขย่าเศรษฐกิจโลก เนื่องจากเป็นเส้นทางขนส่งที่สำคัญ เชื่อมกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียน โดยคลองสุเอซ ถือเป็นเส้นทาง “ขนส่งสินค้าสั้นที่สุด” ระหว่าง ยุโรปกับเอเชีย โดยการขนส่งสินค้าราว 12% รวมถึงกว่า30% ของตู้คอนเทนเนอร์ ของโลกผ่านเส้นทางนี้ ทำให้เกิดความกังวลว่า จะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจโลก
จากข้อมูลล่าสุด บริษัทขนส่งทางทะเล 13 รายประกาศเลี่ยงเส้นทางทะเลแดง หันไปใช้เส้นทางอ้อมแหลมกู๊ดโฮปทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกาแทน ได้แก่ ZIM, Maersk, MSC, OOCL, CMA CGM, Hapag-Lloyd, Yang Ming, HMM , ONE, EURONAV, WILHELMSEN, Evergreen และ Wan Hai เพื่อลดความเสี่ยงในการโจมตีของกลุ่มกบฏฮูตี ทำให้ต้องเดินทางไกลขึ้น และ ค่าเบี้ยประกันสูงขึ้น บางบริษัทอาจขึ้นราคาสินค้าเพื่อชดเชยค่าใช้จ่ายที่มากขึ้น และผู้ที่ต้องรับเคราะห์ก็คือผู้บริโภค
ในส่วนของประเทศไทยที่ต้องส่งสินค้าออกไปยังยุโรปก็ใช้เส้นทางนี้ซึ่ง “ชัยชาญ เจริญสุข ” ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ไทยส่งออกสินค้าไปยุโรป 8% ของการส่งออกทั้งหมด สินค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอาหาร ยางล้อรถยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ แม้ว่าขณะนี้ยังไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทย เพราะไทยส่งออกสินค้าไปยังยุโรปก่อหน้านี้แล้ว แต่หากว่าสถานการณ์ยืดเยื้อออกไปอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในเดือน ม.ค.ปี2567 พราะเส้นทางนี้เป็นเส้นเลือดใหญ่ของการส่งออกไทยไปยุโรปและตะวันออกกลาง ซึ่งไม่เพียงกระทบต่อไทยแต่กระทบไปกับการค้าทั่วโลก
อย่างไรก็ตามขณะนี้ สายเดินเรือได้ปรับขึ้นค่าธรรมเนียม และค่าระวางเรือแล้วกว่า 1 เท่าตัว จากเดิม 1,000-1,500 ดอลลาร์ต่อตู้คอนเทนเนอร์ 20 ฟุต มาอยู่ที่ 3,000-4,000 ดอลลาร์ต่อตู้ ซึ่งถือเป็นภาระของผู้ส่งออก เพราะในการขายสินค้า ได้คิดค่าใช้จ่ายต่างๆ ไว้แล้ว แต่พอมาเกิดการณ์เช่นนี้ ทำให้ผู้ส่งออกต้องรับภาระส่วนนี้ไว้เอง แม้ไม่มากนัก เมื่อเทียบกับช่วงโควิดที่ค่าระวางเรือเพิ่มขึ้น 7-10 เท่า แต่ก็ถือว่า เป็นการเพิ่มขึ้นมากภายในเวลาเพียง 1 สัปดาห์
ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ ประชุมด่วนร่วมกับภาคเอกชน และทูตพาณิชย์ไทยในตะวันออกกลาง และยุโรป เพื่อติดตามสถานการณ์และผลกระทบการส่งออกสินค้าไทยเมื่อวันที่ 21 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยประเมินว่าในระยะสั้น ไม่กระทบต่อการส่งออกไทยและไม่น่าจะยืดเยื้อยาวนาน เพราะประเทศใหญ่ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ พยายามแก้ไขปัญหาอยู่ ทั้งนี้ในสัปดาห์หน้า กระทรวงพาณิชย์ จะเชิญสายเดินเรือมาหารือ หากเหตุการณ์ยืดเยื้อ และจะต้องขึ้นค่าระวางเรือเพิ่ม
สำหรับ ทะเลแดง เป็นน่านน้ำที่คับคั่งไปด้วยเรือพาณิชย์ ที่ลัดเลาะผ่านคลองสุเอซในการขนส่งสินค้าระหว่างทวีปเอเชียและยุโรป เพราะเป็นเส้นทางที่ร่นระยะเวลาเดินทางที่จะไปอ้อมเส้นทาง แหลมกู๊ดโฮป ซึ่งเชื่อมระหว่างยุโรปและเอเชีย 10-15 วัน และลดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง หากสถานการณ์ยืดเยื้อออกไป ไม่เป็นผลดีต่อการค้าและเศรษฐกิจโลกที่กำลังเผชิญกับปัญหาต่างๆทั้งปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ เงินเฟ้อ ดอกเบี้ยสูง เอลนีโญ ก็เท่ากับเป็นซ้ำเติมปัญหาเพิ่มขึ้นไปอีก.