กมธ.แรงงานฯ ชง “รื้อสูตร” คำนวณ “ค่าแรงขั้นต่ำ” ใช้บอร์ด “พหุภาคี” แก้ปัญหาค่าจ้าง

กมธ.แรงงาน สภาฯ เสนอรื้อสูตรคำนวณค่าแรงขั้นต่ำ-ใช้บอร์ดพหุภาคี แก้ปัญหาค่าจ้าง – ชงตั้งสภาแรงงานจังหวัด ‘สส.ก้าวไกล’ ชี้ กก.ไตรภาคี มีอำนาจไม่ทบทวนค่าแรงตามนายกฯสั่ง แนะฝ่ายการเมืองแก้กฎหมายเปลี่ยนเงื่อนไขปรับค่าจ้าง เหตุสูตรคำนวณล้าหลัง

วันที่ 22 ธ.ค.2566 ที่รัฐสภา นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง สส.กระบี่ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.) แรงงาน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีที่ คณะกรรมการค่าจ้าง หรือ บอร์ดไตรภาคี มีมติยืนฐานการปรับค่าจ้างตามเดิม ระหว่าง 2–16 บาท ว่า ปัญหาดังกล่าวเกิดจากกฎหมายการคำนวณค่าแรงของไตรภาคีล้าสมัย ทำให้สูตรการคิดคำนวณหาค่าแรง จำเป็นจะต้องมีการแก้ไข เช่น ในกรณีของพื้นที่จังหวัดปัตตานีนั้น ที่จริงจะต้องปรับลด 1 บาทไม่ใช่ปรับเพิ่ม 2 บาท แต่เนื่องจากจังหวัดนราธิวาส และยะลา ได้ปรับ 2 บาท จึงทำให้ปรับจังหวัดปัตตานีด้วย เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

โดยในอดีตกระทรวงแรงงาน เป็นกรมแรงงาน ในกระทรวงมหาดไทย กฎหมายจึงตามไม่ทัน ทำให้เกิดความขัดแย้งในอำนาจระหว่างรัฐมนตรี ,ปลัดกระทรวง ,อธิบดี และ ตัวแทนไตรภาคีจากฝั่งนายจ้าง เป็นนายจ้างที่บางครั้ง เป็นลูกจ้างที่นายจ้างมอบหมายมา จึงทำให้เป็นการทำงานตามคำสั่งนายจ้าง ทำให้ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น บารมีตัวแทนนายจ้าง ยังเหนือกว่าลูกจ้าง จึงขอเสนอว่า ให้มีการเปลี่ยนระบบไตรภาคี เป็นพหุภาคี หรือ รูปแบบใหม่ ๆ รวมถึงการจัดตั้งสภาแรงงานจังหวัด และจำเป็นจะต้องพิจารณาบริบทอีกหลายมุมว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ควรจะเป็นค่าแรงที่เป็นธรรมหรือไม่ และการขึ้นค่าแรงแต่ละครั้ง ผลลัพธ์ที่ได้ประโยชน์กับแรงงานไทยน้อย เพราะแรงงานไทย ที่ได้รับปรับขึ้น 2-16 บาท แต่ส่วนใหญ่แรงงานต่างชาติได้ประโยชน์ ดังนั้นจึงจำเป็นจะต้องยกระดับฝีมือแรงงานไทย และให้ได้รับใบรับรองด้วย

ส่วนกมธ.จะเสนอรัฐบาลปรับเกณฑ์การขึ้นค่าแรง ทั้งสูตรการคำนวณ และองค์ประกอบบอร์ดไตรภาคีอย่างไรนั้น กมธ.ฯ ได้ตั้งคณะอนุกรรมาธิการขึ้นมาศึกษาแล้ว ทั้งการพัฒนาฝีมือแรงงาน และการบริหารระบบ กฎหมาย การจัดตั้งแรงงานจังหวัด เพื่อเสนอต่อรัฐบาลให้พิจารณาดำเนินการต่อไป

ด้านนายสุเทพ อู่อ้น สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ในฐานะรองประธานกมธ.แรงงาน กล่าวว่า หลายพรรคการเมืองหาเสียง เรื่องค่าจ้างขั้นต่ำไว้ แต่การปรับค่าจ้างขั้นต่ำมีเงื่อนไขกฎหมายเดิมที่มีอยู่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ดังนั้น คณะกรรมการไตรภาคี ที่ถือกฎหมายอยู่มีอำนาจ และมีสิทธิที่จะดำเนินการเต็มที่ ส่วนภาคการเมือง ต้องไปแก้ไขในส่วนของกฎหมายเพื่อให้มีการปรับเปลี่ยนเรื่องของเงื่อนไขการปรับค่าจ้าง ซึ่งชัดเจนว่าสูตรการคิดอัตราค่าจ้างปัจจุบันเป็นสูตรที่ยังล้าสมัย โดยตามหลักสากลเรื่องค่าจ้าง ของ 1 คน ต้องสามารถเลี้ยงครอบครัวได้ 3 คน แต่สูตรของกระทรวงแรงงานปัจจุบัน 1 คน สามารถเลี้ยงครอบครัวได้ 1 คนเท่านั้น อีกทั้งแต่ละคน มีภาระ บ้านเช่า ข้าวซื้อ รถผ่อน ลูกเรียน และเลี้ยงดูพ่อแม่

ดังนั้นจึงเป็นเรื่องดี ที่ กมธ.ฯ จะผลักดันให้เห็นการเปลี่ยนแปลง ให้เกิดความชัดเจน ว่าต่อไปการเมืองจะมายุ่งกับเรื่องค่าจ้างไม่ได้ ถ้ามีกฎหมายมาควบคุมโดยเฉพาะ ซึ่งพรรคก้าวไกล ได้เสนอร่างพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ที่ขณะนี้ผ่านกระบวนการรับฟังความเห็นแล้ว ร่างกฎหมายดังกล่าว มีเนื้อหาปรับค่าจ้างขั้นต่ำให้เป็นไปตามเรื่อง GDP หรือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศและ CPI หรือ ดัชนีราคาผู้บริโภค ที่จะมีการปรับเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งจะเป็นระบบที่นายจ้างและลูกจ้างจะได้รับการปรับตามค่าครองชีพที่สูงขึ้น โดยไม่เกี่ยวกับการเมือง รวมทั้งต้องปรับเรื่องSKILLหรือทักษะแรงงาน เมื่อกำหนดค่าจ้างขึ้นตามค่าครองชีพ ควรจะต้องปรับ1% ที่จะให้สูงกว่าค่าจ้างที่มีการปรับตามค่าครองชีพ เพื่อให้มีเงินค่าจ้างที่เป็นธรรมและมีเงินสะสมในบั้นปลายชีวิต.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password