“สภาล่ม” ประเดิม เปิดประชุมนัดแรก หลังถกร่าง “ข้อบังคับสภาก้าวหน้า”
สภาฯล่มประเดิมเปิดประชุม! ‘ก้าวไกล’ ชงถก ‘ข้อบังคับสภาก้าวหน้า’ เพิ่มกระทู้ถามสดนายกฯ – ให้ ‘ฝ่ายค้าน’ เป็นกมธ.ตรวจสอบ ด้าน ‘ฝ่ายรัฐบาล’ รับไม่ได้รุมโหวตคว่ำ 223 เสียง ขณะที่ ‘รองปธ.สภาฯ’ ย้อนเกล็ด อ้างใช้บรรทัดฐาน ‘ยุคชวน’ วินิจฉัย แต่สุดท้ายไปต่อไม่ไหวเสียงข้างมากไม่ครบองค์ประชุม
วันที่ 13 ธ.ค.2566 การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 1 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2 โดยมี นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 เป็นประธาน นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้เสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร หรือ ‘ร่างข้อบังคับสภาก้าวหน้า’ พร้อมอภิปรายว่า มีจุดมุ่งหมายในการปรับปรุงกลไกการทำงานของสภาฯ เพื่อสนับสนุนให้ผู้แทนราษฎรทุกคน ทุกพรรค ทุกชุดความคิด ทำงานได้ดียิ่งขึ้นในการแข่งกันรับใช้ประชาชน และทำให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นพื้นที่ที่ประชาชนฝากความหวังไว้ได้ ระบุถึงเนื้อหาสาระในร่างข้อบังคับสภาก้าวหน้า อาทิ ตัดกลไกให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ดองกฎหมายไว้ 60 วัน เพิ่มกระทู้ถามสดนายกรัฐมนตรีอย่างน้อย 1 ครั้งต่อสัปดาห์ ตามแบบต่างประเทศ ให้ฝ่ายค้านเป็นประธานกรรมาธิการสามัญบางชุด ลดการใช้ดุลยพินิจของประธานสภาฯ
โดย มี สส.จากฝ่ายรัฐบาลหลายคน อภิปรายแสดงความไม่เห็นด้วยกับร่างข้อบังคับ มองว่าการกำหนดให้ สส.ฝ่ายค้าน เป็นประธานกรรมาธิการฯ บางชุด เป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพกัน และไม่ควรให้ สส.ฝ่ายค้าน มีอภิสิทธิ์ในการถามกระทู้มากกว่า สส. ฝ่ายอื่น อีกทั้งเห็นว่าการเพิ่มกระทู้ถามสดนายกรัฐมนตรีมาเพียง 2 นาที ประชาชนจะไม่ได้ประโยชน์อะไร
หลังอภิปรายกันอย่างกว้างขวางจนพอสมควรแล้ว นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.)ได้ลุกขึ้นเสนอให้นำร่างข้อบังคับดังกล่าวเข้าสู่กรรมาธิการกิจการสภาฯ เพื่อศึกษาก่อนเป็นเวลา 60 วัน ก่อนจะส่งมายังที่ประชุมสภาฯ อีกครั้ง ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันทุกฝ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ
แต่นายศรัณย์ ทิมสุวรรณ สส.เลย พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะเลขานุการวิปรัฐบาล ได้คัดค้านว่าไม่จำเป็นต้องส่งไปยังกรรมาธิการฯ แต่ให้สมาชิกลงมติรับหรือไม่รับหลักการร่างข้อบังคับดังกล่าวเลย จากนั้นที่ประชุมได้มีมติเสียงข้างมาก ไม่เห็นชอบให้ส่งร่างข้อบังคับไปยังกรรมาธิการฯ
จากนั้น นายปดิพัทธ์ ประธานที่ประชุม ได้สั่งให้มีนับองค์ประชุมเพื่อลงมติว่า จะรับหลักการร่างข้อบังคับดังกล่าวหรือไม่ โดยมีองค์ประชุมแสดงตน 332 คน มีจำนวนผู้ลงมติจำนวน 228 เสียง มีมติเห็นชอบ 1 เสียง ไม่เห็นชอบ 223 เสียง งดออกเสียง 0 เสียง และไม่ลงคะแนน 4 เสียง โดยประธานฯ ได้กล่าวว่า ไม่ครบองค์ประชุม
ทำให้ สส.ฝั่งรัฐบาล เช่น นายภราดร ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ประท้วงว่าได้นับองค์ประชุมครบแล้วก่อนลงมติ ประธานฯ ควรวินิจฉัยให้ดี ก่อนที่ นายณัฐพงษ์ จะลุกขึ้นอีกครั้ง ระบุว่า ในสมัยของ นายชวน หลีกภัย อดีตประธานสภาฯ เคยเกิดเหตุการณ์เช่นนี้มาแล้ว โดย ชวน ได้กำหนดบรรทัดฐานว่า แม้องค์ประชุมก่อนลงมติจะครบ แต่การลงมติเพื่อรับหลักการร่างกฎหมายระดับ พ.ร.บ.ต้องอาศัยเสียงเกินกึ่งหนึ่ง ไม่สามารถใช้เสียงข้างมากเท่านั้นได้
จากนั้น นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ไม่ได้ตั้งใจจะล่มองค์ประชุม แต่เนื่องจากเรื่องที่กำลังพิจารณาอยู่มีความสำคัญ จึงอยากให้ สส.ฝ่ายรัฐบาลใส่ใจ และมาแสดงตนเป็นองค์ประชุม นายปดิพัทธ์ จึงได้วินิจฉัยว่า ไม่ครบองค์ประชุม และสั่งปิดการประชุมทันทีในเวลา18.47น.
ผู้สื่อข่าวสรายงานว่า สำหรับเหตุการณ์สภาฯล่มครั้งนี้ ถือเป็นการล่มครั้งแรก ประเดิมการเปิดสมัยประชุมสภาฯครั้งที่2 ประจำปี2566