‘บางจาก’ ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ในงาน Norway-Asia Business Summit 2023
นายรวี บุญสินสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานพัฒนาธุรกิจใหม่และนวัตกรรม บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ นายโกมุท มณีฉาย ผู้อำนวยการ บริษัท บีซีพีอาร์ จำกัด รับเชิญเป็นวิทยากรและร่วมเสวนาภายในงาน Norway-Asia Business Summit (NABS) ประจำปี 2566
ภายใต้แนวคิด‘Norway: Navigating the Green Transition’ จัดโดยหอการค้าไทย-นอร์เวย์ ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน ถึง 1 ธันวาคม 2566 ณ โรงแรมอวานี พลัส ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพฯ โดยมีนักธุรกิจจากนานาประเทศ หน่วยงานสนับสนุนของรัฐบาลนอร์เวย์ และคณะทูตานุทูตนอร์เวย์จากประเทศต่าง ๆ ในเอเชีย ร่วมงานกว่า 500 คน
โดยในช่วงเสวนาเกี่ยวกับ Electric Vehicle Landscape นายรวี ได้นำเสนอภาพรวมธุรกิจของจักรยานยนต์ไฟฟ้า Electric Vehicle 2 Wheelers (EV2W) ในประเทศไทย และการเติบโตในธุรกิจ EV2W ที่เป็นโอกาสในการพัฒนา Winnonie ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพรายแรกของประเทศไทยที่บุกเบิกให้บริการแพลตฟอร์มรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า พร้อมเครือข่ายสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่อัตโนมัติ มีเป้าหมายการเป็นผู้นำการให้บริการแพลตฟอร์ม Battery as a Service (BaaS) สำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อรองรับกับความต้องการใช้งานรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานสะอาดที่จะเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันมีผู้ใช้วินโนหนี้ ประมาณ 1,000 ราย มีโอกาสในการขยายธุรกิจ สอดคล้องกับเทรนด์ของประเทศและของโลก
นอกจากนี้ ในช่วงเสวนาเกี่ยวกับความสำเร็จของธุรกิจในการลงทุนในประเทศนอร์เวย์ นายโกมุท ได้กล่าวถึงการขยายการลงทุนในธุรกิจต้นน้ำในกลุ่มทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งบางจากฯ ได้เข้าลงทุนใน OKEA ASA ผ่านบริษัท บีซีพีอาร์ จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ออสโล ทำให้บางจากฯ สามารถเข้าถึงพลังงาน ทรัพยากรและเทคโนโลยี รวมถึงสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน สร้างประสบการณ์และความรู้ความเชี่ยวชาญในธุรกิจต้นน้ำให้กับกลุ่มบริษัทบางจาก ซึ่งนอกเหนือจากปัจจัยด้านยุทธศาสตร์การเติบโตและเพิ่มศักยภาพทางธุรกิจของบริษัทฯ แล้ว นอร์เวย์เป็นประเทศที่มีน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ มีนโนบายและเป้าหมายด้านพลังงานสะอาด และระบบ นโยบาย (เช่น มาตรการจูงใจด้านภาษี) ที่เอื้อต่อการสร้างการเติบโตของธุรกิจในระยะยาว
ปัจจุบัน OKEA ดำเนินธุรกิจอยู่ในแหล่งสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในทะเลนอร์เวย์จำนวน 6 แหล่ง ปัจจุบันมีกำลังการผลิตปิโตรเลียม 23,700 บาร์เรลต่อวัน โดยแบ่งเป็นน้ำมันดิบร้อยละ 68 ก๊าซธรรมชาติร้อยละ 24 และก๊าซธรรมชาติเหลวร้อยละ 8 ทั้งนี้ ในไตรมาส 1 ปี 2566 OKEA ได้มีการลงนามสัญญาซื้อขายแหล่งปิโตรเลียม Statfjord (สัดส่วน 28%) ภายหลังการโอนสิทธิ์แล้ว OKEA จะมีกำลังการผลิตอยู่ที่ประมาณ 37,500 บาร์เรลต่อวัน