ก.ล.ต. เปิดให้ บลจ. ยื่นเอกสาร เสนอตั้งกองทุน “Thai ESG” ได้แล้ว
ก.ล.ต. เปิดให้ บลจ. ยื่นเอกสารเสนอตั้งกองทุน Thai ESG ได้แล้ว พร้อมเปิดขายได้ตั้งแต่ ธ.ค. 66 นี้ โดยต้องเป็นหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดดเด่นด้าน สิ่งแวดล้อม และ มีความยั่งยืน
วันที่ 22 พ.ย.2566 นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการกำกับตลาดทุน (ก.ต.ท.) ในการประชุมครั้งที่ 11/2566 เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2566 มีมติเห็นชอบหลักการปรับปรุงหลักเกณฑ์ เพื่อรองรับการจัดตั้ง กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thailand ESG Fund: Thai ESG) ที่สอดรับกับแนวนโยบายของภาครัฐ ซึ่งขณะนี้ ก.ล.ต. ได้ยกร่างประกาศแล้วเสร็จและคาดว่าจะนำลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาประมาณต้นเดือนธันวาคม 2566
โดยในระหว่างนี้ ก.ล.ต. เปิดให้ บลจ. สามารถส่งร่างเอกสารจัดตั้ง Thai ESG ให้ ก.ล.ต. พิจารณาได้ล่วงหน้า เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ บลจ. และ เตรียมพร้อมที่จะเสนอขายกองทุนรวมดังกล่าวให้ผู้ลงทุนได้โดยเร็ว และภายหลังประกาศมีผลบังคับใช้ ก.ล.ต. จะสามารถอนุมัติจัดตั้ง Thai ESG ได้ภายในต้นเดือนธันวาคม 2566 เช่นกัน เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจากการลงทุนในกองทุนรวมดังกล่าวในปีภาษี 2566 ได้ ทั้งนี้ เพื่อให้สอดรับกับแนวนโยบายของภาครัฐ คณะกรรมการกำกับตลาดทุนมีมติเห็นชอบหลักการให้ Thai ESG ลงทุนในทรัพย์สิน ที่ผู้ออกเป็นภาครัฐไทย หรือ กิจการที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ดังนี้
(1) หุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (mai) ที่ได้รับการคัดเลือกจาก SET ว่ามีความโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม (environment) หรือด้านความยั่งยืน (ESG)
(2) หุ้นที่เป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนใน SET และ mai ที่มีการเปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แผนการจัดการ และการตั้งเป้าหมายเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย ที่ผ่านการทวนสอบการจัดทำคาร์บอนฟุตพรินต์โดยผู้ทวนสอบ และหรือ
(3) ตราสารหนี้ที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์การเสนอขายตราสารหนี้ที่เกี่ยวข้องด้านความยั่งยืน* และโทเคนดิจิทัลเพื่อการระดมทุนที่เกี่ยวข้องด้านความยั่งยืนที่มีมาตรฐานในทำนองเดียวกันกับตราสารหนี้ดังกล่าว
โดยThai ESG ต้องเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนของกองทุนรวมตามหลักเกณฑ์กองทุนรวมเพื่อความยั่งยืน (SRI Fund) เพื่อที่ผู้ลงทุนจะได้รับข้อมูลที่เพียงพอประกอบการตัดสินใจลงทุน โดย Thai ESG จะได้รับสิทธิยกเว้นค่าธรรมเนียมคำขอจัดตั้งและแก้ไขโครงการจาก ก.ล.ต. เช่นเดียวกับ SRI Fund ด้วย
อนึ่ง ภาครัฐเห็นความสำคัญที่ประชาชนจำเป็นต้องมีการออมการลงทุนเพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงินในระยะยาว จึงได้สนับสนุนสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้แก่ผู้ลงทุนใน Thai ESG โดยผู้ลงทุนสามารถนำเงินลงทุน มาหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินได้พึงประเมิน เฉพาะในส่วนที่ไม่เกิน 100,000 บาท สำหรับปีภาษีที่มีการลงทุน รวมทั้งเงินหรือผลประโยชน์ที่ได้จากการขายคืนหน่วยลงทุน จะได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษี ถ้าการลงทุนเป็นไปตามเงื่อนไขที่กรมสรรพากรประกาศกำหนด โดยผู้มีเงินได้ต้องถือหน่วยลงทุนใน Thai ESG ไม่น้อยกว่า 8 ปี นับตั้งแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุน.