กรมศุลฯจับ 2 ต่างชาติ ‘เกาหลี – ยิว’ ลักลอบส่งออกสัตว์มีชีวิต

กรมศุลกากรจับ 2 ต่างชาติ “ชาวเกาหลีใต้ – อิสราเอล” ทำผิด กม.CITES หลังพบพฤติกรรมแอบลักลอบส่งออกสัตว์มีชีวิต ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เผย! สุดรันทด “บึ้ง-อีกัวน่า-เต่า-งู-ต๊ำแก-จิ้งจก-ตะกวด” รวมกว่า 100 ชีวิต ถูกซุกใส่กระเป๋าเดินทางยัดใต้ท้องเครื่องบิน

นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี ในฐานะ โฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2566 ฝ่ายสืบสวนและปราบปราม ส่วนควบคุมทางศุลกากร สำนักงานศุลกากรตรวจของผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ได้บูรณาการร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมประมง และ บมจ.ท่าอากาศยานไทย จับกุมผู้โดยสารพยายามลักลอบนำสัตว์มีชีวิตออกไปนอกราชอาณาจักร จำนวน 2 ราย รายละเอียด ดังนี้

1. ชาย สัญชาติเกาหลี อายุ 24 ปี กำลังจะเดินทางไปกรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี ด้วยสายการบิน Thai Air Asia X เที่ยวบินที่ XJ700 ผลการตรวจค้นพบ สัตว์มีชีวิตประเภท บึ้ง จำนวน 39 ตัว และอีกัวน่า ซึ่งเป็นสัตว์ที่อยู่ภายใต้การควบคุมตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) ชนิดพันธุ์ในบัญชีหมายเลข 2 จำนวน 5 ตัว รวมจำนวน 2 รายการ จำนวนทั้งหมด 44 ตัว โดยของกลางทั้งหมดบรรจุอยู่ในกระเป๋าเดินทางที่ผู้โดยสารจะโหลดในห้องบรรจุสัมภาระใต้ท้องเครื่อง

2. ชาย สัญชาติอิสราเอล อายุ 52 ปี กำลังจะเดินทางไปกรุงเทลอาวีฟ รัฐอิสราเอล ด้วยสายการบิน El Al Israel Airlines เที่ยวบินที่ LY82 ผลการตรวจค้นพบ สัตว์มีชีวิตประเภท เต่า(อนุสัญญาฯ CITES บัญชี 2) จำนวน 29 ตัว งู (อนุสัญญาฯ CITES บัญชี 2) จำนวน 31 ตัว ตะกวด จำนวน 3 ตัว ตุ๊กแก จำนวน 8 ตัว จิ้งจก จำนวน 4 ตัว กิ้งก่า จำนวน 1 ตัว อิกัวน่า (อนุสัญญาฯ CITES บัญชี 2) จำนวน 1 ตัว มังกรโคโมโด (อนุสัญญาฯ CITES บัญชี 1) จำนวน 3 ตัว รวมทั้งหมดจำนวน 80 ตัว โดยของกลาง ทั้งหมดบรรจุอยู่ในกระเป๋าเดินทางที่ผู้โดยสารจะโหลดในห้องบรรจุสัมภาระใต้ท้องเครื่อง

“การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดฐานพยายามส่งออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งของที่ยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร ตามมาตรา 242 ประกอบมาตรา 166 และ 252 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 ประกอบกับสัตว์ดังกล่าวบางรายการอยู่ภายใต้การควบคุมตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) ชนิดพันธุ์ในบัญชีหมายเลข 1 และ 2 ภายใต้พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 มาตรา 23 วรรคแรก และมาตรา 112 ซึ่งอยู่ในบทเฉพาะกาล ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 มาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 และมาตรา 92 วรรค 2 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558” โฆษกกรมศุลกากร ย้ำ.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password