“เศรษฐา” เปิดใจ! หลัง “ทำงานครบ 60 วัน” ลั่นลุยงานหลายมิติ ชีวิตเปลี่ยนไปเยอะ

“เศรษฐา” ออกรายการพิเศษ Chance of Possibility หลังทำงานครบ 60 วัน ลุยหลายมิติ แก้ปัญหาปากท้อง หนี้ครัวเรือน กระตุ้นท่องเที่ยว ยันหาเสียงไม่เคยบอกยุบ กอ.รมน. เผยชีวิตเปลี่ยนไปเยอะ เมื่ออาสาเข้ามาทำงาน ต้องไม่มีสิทธิ์บอกว่าเหนื่อย ยอมรับภาวะเศรษฐกิจไทยไม่ค่อยดี ต้องรุกกระตุ้นเศรษฐกิจ

วันที่ 9 พ.ย. 2566 เวลา 20.10 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ออกรายการพิเศษ “Chance of Possibility จากนโยบายสู่การลงมือทำจริง 60 วัน ภายใต้รัฐบาลนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน” ทางช่อง NBT2HD, NBT11 และทางออนไลน์ Facebook, YouTube หรือ Facebook เศรษฐา ทวีสิน – Srettha Thavisin ใช้เวลา 42 นาที

โดยนายกฯ กล่าวถึงการทำงานในช่วง 60 วันที่ผ่านมา หลังจากแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ทั้งมาตราการระยะสั้น เร่งด่วน ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส ทำอะไรไปแล้วบ้าง ส่วนรายจ่ายลดอะไรไปแล้ว ว่า ลดรายจ่ายนี่ชัดเจนในเรื่องของค่าไฟ จาก 4 บาทกลางๆ มาเป็น 4.10 แล้วก็เป็น 3.99 ซึ่งมีการลดสองขยัก อันนี้เป็นการบ่งบอกถึงวิธีการทำงานของรัฐบาล อะไรทำได้ เราทำก่อน ถ้าทำได้อีก ก็จะทำให้อีก จะทำเพิ่มเติมต่อไป ไม่ต้องคอยเสร็จหมดแล้วค่อยทำ เพราะว่าเราตระหนักดีว่าพี่น้องประชาชนเดือนร้อนมาโดยตลอด ถ้าต้องคอยให้ทุกอย่างครบหมดบางทีอาจช้าเกินไป ส่วนเรื่องลดราคาค่าน้ำมันดีเซลเราก็ลด ตอนนั้นเบนซินยังศึกษายังไม่ดีพอเราก็ยังไม่ลด จนกระทั่งจะลดวันที่ 10 เดือนนี้ ซึ่งอาทิตย์ที่ผ่านมาท่านรองนายกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ก็ได้ประกาศไปแล้วอันนี้ก็คือการลดรายจ่ายส่วนหนึ่ง

อีกส่วนหนึ่งคือการลดรายจ่ายในเรื่องดอกเบี้ย มีการพักหนี้เกิดขึ้น นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นหัวใหญ่ทำงานกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในแง่ของการพักหนี้เกษตรกร ตรงนี้เป็นเรื่องที่เราเพิ่งเริ่มทำกันมา แต่เรื่องจะทำต่อไปคือดูแลเรื่องปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งนี้จะเป็นการลดปัญหาเรื่องหนี้สินแต่อาจจะเป็นระยะกลาง ส่วนการแก้ไขปัญหาระยะกลางจะเป็นการลดหนี้นอกระบบ ซึ่งพึ่งมีการพูดคุยกันเป็นครั้งแรกเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมากับหน่วยงานที่เกี่ยวว่าเรื่องหนี้นอกระบบเป็นปัญหาที่กัดกร่อนสังคมไทยมานาน มีผู้ทำผิดกฎหมายเรื่องการชาร์จอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ ทำให้พี่น้องประชาชนต้องจ่ายเงินต้น ซึ่งเงินต้นไม่เคยลดลง ดอกเบี้ยมันเป็นธรรมหรือเปล่ากับพวกเขา ต้องลงไปบูรณาการอย่างชัดเจน และตนคิดว่าภายในอาทิตย์นี้หรืออาทิตย์หน้าน่าจะมีการแถลงข่าวเรื่องนี้เกิดขึ้น และลงไปปฏิบัติการได้ภายในกลางเดือนธันวาคมนี้

นายเศรษฐา ยังกล่าวถึงการเพิ่มรายได้ให้ประชาชนที่มีหลายมิติ โดยเฉพาะเรื่องของดิจิทัลวอลเล็ต ว่า ตนจะแถลง full package เพื่อให้ทุกฝ่ายเข้าใจในวันที่ 10 พ.ย. พร้อมทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหลักการ ที่มาที่ไปของเงิน ใครได้รับบ้าง ใช้กับสินค้าประเภทใดได้บ้าง ระยะทางที่กำหนดไว้ตามบัตรประชาชนเป็นกิโลเมตรหรือเป็นอำเภอหรือเป็นตำบล ซึ่งการเพิ่มรายได้ ขยายโอกาส ให้ความรู้ด้านการเกษตร เป็นเรื่องสำคัญ เพราะประชาชนว่าหลายสิบล้านคนอยู่ในภาคเกษตรกรรมถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งเราจะต้องให้องค์ความรู้เกี่ยวกับเรื่องการทำการเกษตร เรื่องของผลผลิตต่อไร่ของพืชผลหลาย ๆ ชนิด ขณะนี้เรายังเป็นรองบางประเทศอยู่ แต่ไม่ใช่ว่าคนของเราไม่เก่ง เพราะว่าเรื่องขององค์ความรู้ยังไม่มีการใส่เข้าไปให้มันเต็มที่ ตรงนี้ก็เป็นหน้าที่รัฐบาลที่ต้องพยายามทำกลไกลการเปิดการตลาดใหม่ๆ เปิดประเทศใหม่ๆ ที่มีการขยายตัวของประชากรสูงอย่าง เช่น แอฟริกา กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง เป็นต้น ต้องการการส่งออกของอาหารค่อนข้างจะเยอะ เราก็ไปเปิดตลาดใหม่ เป็นการขยายโอกาสขยายรายได้ เพิ่มดีมาน ส่งผลราคาพืชผลก็น่าจะขยับขึ้นมาได้ รวมถึงการให้องค์ความรู้เกี่ยวกับเรื่องการลดค่าใช้จ่ายในการทำเกษตรกรรม ใช้ปุ๋ยอินทรีย์มาแทนปุ๋ยเคมี

ส่วนด้านการท่องเที่ยวภาพรวม เรื่องของภาคการท่องเที่ยวก็ถือว่าเป็นการเพิ่มรายได้อีกส่วนหนึ่ง ล่าสุดเรามีการให้วีซ่าฟรีกับประชาชนคนจีน ไต้หวัน อินเดีย รวมถึงที่ไม่ต้องยกเว้นตม. 6 ที่ภาคใต้ ซึ่งอาทิตย์ที่ผ่านมานักท่องเที่ยวมาเลเซียร์หลั่งไหลเข้ามา โดยทางฝ่ายความมั่นคง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ความดูแลเรื่องนี้ได้อย่างดีเยี่ยม ทาง AOT เองก็อำนวยความสะดวกอย่างดีตั้งแต่เข้ามาท่องเที่ยวในไทยจนกระทั่งกลับ ส่วนการเปิดวีซ่าฟรีให้ประเทศคาซัคสถาน ตนสนใจตรงที่ว่าตอนที่ท่านประกาศวีซ่าฟรีให้กับจีน มันมีประเทศคาซัคสถานเข้ามาด้วย นักท่องเที่ยวคาซัคสถานในความรับรู้ของคนไทยทั่วไปอาจจะไม่ทราบว่าคนคาซัคสถานนั้นประเทศคาซัคสถานอยู่ตรงไหน แล้วก็มีจำนวนนักท่องเที่ยวเวลามาเที่ยวในไทยมากน้อยขนาดไหน อะไรคือสาเหตุให้ออกวีซ่าฟรีให้คาซัคสถาน

และคาซัคสถานคือเป็นส่วนหนึ่งของประเทศรัสเซีย เป็นพื้นที่ที่มีอากาศหนาว แล้วก็เป็นพื้นที่ที่เขามีรายได้สูง เราก็ไปดูที่สถิติว่าในช่วงที่ผ่านมา อย่างเช่น มาที่แถวพังงา คาซัคสถานกราฟกำลังขึ้นมาก บ่งบอกถึงว่าเขาอยากจะเข้ามาเที่ยวเยอะ แล้วเป็นพวก High Spender เพราะฉะนั้นเราก็ประกาศเข้ามาอีกประเทศหนึ่งเหมือนกัน แล้วก็คงจะดูต่อไปว่าสามารถทำตรงไหนได้อีกอย่างเช่น รัสเซียเนี่ยเข้ามาอยู่ได้ฟรีด้วยซ้ำ 30 วัน

อย่างไรก็ตาม เราต้องมีโครงสร้างพื้นฐานรองรับด้านการท่องเที่ยว ในอดีตเน้นแต่ที่เราพูดกันตลอดเวลา เพื่อที่จะให้พี่น้องประชาชนมีความสบายใจ ว่าประเทศเราการท่องเที่ยวกำลังขึ้นอย่างดี พูดถึงจำนวนนักท่องเที่ยว จำนวนนักท่องเที่ยวเป็นแค่หนึ่งในปัจจัย แต่ตนอยากเน้นเรื่องการใช้จ่ายต่อหัวสำคัญกว่า รวมถึงระยะเวลาในการอยู่ก็สำคัญ ซึ่งรัฐบาลสนับสนุนให้เกิดการท่องเที่ยวเมืองรองเกิด ไม่ใช่มาแค่กรุงเทพฯ ภูเก็ต เชียงใหม่ พัทยา หัวหิน เราอยากให้ไปที่น่าน กาฬสินธุ์ สุโขทัย อยุธยา บ้าง ซึ่งทำให้การอยู่ระยะเวลายาวขึ้น การใช้จ่ายเยอะขึ้น ทำให้เม็ดเงินที่เขาลงไปใช้จ่ายไม่ใช่แค่กระจุตัวอยู่ที่หัวเมืองใหญ่อย่างเดียว อยากให้ลงไปที่เมืองรองด้วยเหมือนกัน ดังนั้นต้องดูความพร้อมของสนามบินด้วย ขณะที่สนามบินสุวรรณภูมิ ได้มีการขยาย Z1 เปิดไปแล้ว

นายกฯ ยังกล่าว ถึงเรื่องสนามบินเชียงใหม่ และไอเดียสนามบิน International สนามบินเชียงใหม่เองซึ่งปัจจุบันนี้ก็มีความหนาแน่น แล้วก็ยังมีปัญหาอยู่ตอนที่เข้ามา เราก็รู้ว่านักท่องเที่ยวที่มาจากเกาหลี ญี่ปุ่น จีน เขาอยากจะเที่ยวให้เต็มที่ แล้วก็อยากจะบินออกตอนหลังเที่ยงคืนกลับไปถึงประเทศเขาก็เช้าพอดีทำงานต่อได้ใช่ไหม แต่สนามบินเชียงใหม่ก่อนวันที่ 1 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ไม่อนุญาตให้มีการบินหลังเที่ยงคืนเราเข้าใจได้ เพราะมันจะมีเสียงรบกวนพี่น้องประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณนั้น แต่เพราะการทำงานเชิงลึกของ AOT ผู้ว่าราชการเชียงใหม่เองกับการท่องเที่ยวเองก็มีการประสานงานอย่างดี ว่ามันมีความจำเป็นว่าเราจะต้องขยายเวลาที่ทำให้เครื่องบินขึ้นลงได้เพื่อเสริมกับนโยบายการท่องเที่ยวของเราตรงนี้เขาก็ไปเจรจากับคนที่อยู่ในพื้นที่ ว่าใครเดือดร้อนตรงไหนอะไรยังไงมีการให้ผลตอบแทน หรือถ้าใครเอฟเฟคเยอะมากก็มีการให้ให้เงินแล้วย้ายออกไป ส่งผลให้พื้นที่เนี่ยเห็นชอบในการที่จะขยายเวลาเป็น 24 ชั่วโมงทำให้เครื่องบินสามารถบินมาลงได้ทำให้เพิ่มนักท่องเที่ยวได้นะครับตรงนี้ก็ถือว่าเป็นการทำงานเชิงลึก แล้วก็ในระยะยาวเราก็จะไปสร้างสนามบินเชียงใหม่ International แต่เพราะว่านโยบายหลักของเรานั้นไม่ใช่จะให้แค่เมืองหลักอย่างเช่นเชียงใหม่เป็นเมือง Destination ของท่องเที่ยวอย่างเดียว เราอยากให้ภาคเหนือ อยากให้ลำปาง ลำพูน เชียงราย เป็นด้วย เราก็คิดว่าก่อนที่จะคอยชื่อ Official เราก็จะตั้งว่าเป็นล้านนา International เช่นกันภูเก็ตเองก็มีคนต้องการจะมาเยอะแต่ว่าไม่ใช่แค่ภูเก็ตอย่างเดียว พังงา กระบี่ ระนอง ก็เป็นจังหวะยุทธศาสตร์เหมือนกัน ภูเก็ต International เราก็จะไปตั้งอยู่ตอนเหนือของภูเก็ต อยู่ในในพื้นที่ของจังหวัดพังงา เราก็จะตั้งชื่อว่า อันดามัน International ตรงนี้เราได้เริ่มคิกออฟโครงการเหล่านี้ไปแล้ว เพื่อที่เราจะรองรับนักท่องเที่ยวต่อไปในอนาคต

ส่วนด้านคมนาคม เรื่องรถไฟความเร็วสูง ว่า เรื่องการคมนาคมเชื่อมต่อไปทั่วประเทศถือเป็นเรื่องสำคัญ เมื่อ 2 อาทิตย์ที่แล้วตนก็เดินทางไปประชุมที่ประเทศจีนในเมืองปักกิ่งมา ซึ่งเป็นเรื่องของการเชื่อมโยง Logistic ทั้งภูมิภาค ซึ่งดำริมาโดยท่านประธานาธิบดีสีจิ้นผิง 10 ปีแล้ว วันนี้เราก็ไปประชุมครั้งที่ 3 แล้วก็ทุกประเทศที่อยู่ในแผนงานได้ยืนยันตามเจตนารมณ์ว่าเราจะเดินต่อตรงนี้ถ้าติดตรงไหนก็มาพูดคุยกัน ตนเรียนว่าเรื่องรถไฟความเร็วสูงเป็นเรื่องสำคัญ อย่างเช่นที่เรามีการก่อสร้างจากกรุงเทพฯไปถึงโคราช มี 14 สัญญามี 14 ผู้รับเหมา เราก็จะต่อจากโคราชไปถึงขอนแก่น ขอนแก่นไปถึงหนองคายหนองคายข้ามไปลาว แล้วก็ลาวไปถึงประเทศจีนได้ เรื่องโลจิสติกส์เป็นสำคัญ ประเทศไทยมีศักยภาพสูงทางด้านเกษตรกรรม พืชผลต่าง ๆ ที่เราส่งไปบางทีได้ จะมีประโยชน์มากถ้าเรามีรถไฟความเร็วสูงเพราะเราก็ทราบดีอยู่ว่าพวกผลไม้ต่าง ๆ ต้องใช้เวลาในการที่จะเก็บเกี่ยวแล้วก็ส่งออกไปถ้าเกิดเวลานานเกินไปในการขนส่ง เรื่องของคุณภาพก็จะถูกด้อยลงไป เพราะฉะนั้นเรื่องนี้เรายืนยันว่าเราจะดำเนินการต่อ แต่ว่าขั้นแรกระหว่างที่จะมีการทำเรื่องรถไฟความเร็วสูงบางอย่างต้องมีทำรางคู่ก่อน บางจุดต่าง ๆ ต้องมีจุดยุทธศาสตร์สำคัญอย่างเช่น สะพานข้ามจากหนองคายไปลาวก็เป็นเรื่องสำคัญ ต้องมีการสร้างอีกสะพานหนึ่งซึ่งก็ต้องมีการตกลงกันที่ตนไปที่เดินทางไปที่ สปป.ลาวมาเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ก็มีการพูดคุยเรื่องนี้ มีการสร้างสะพานเชื่อมต่อไปได้ ตรงนี้ตนอยากจะเน้นย้ำว่าเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด

นายกฯ กล่าวอีกว่า เรื่องตลาดทุเรียนในประเทศจีน เพราะว่าพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ที่เรารู้กันอยู่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาทุเรียนเป็นผลไม้ที่คนจีนชอบมาก การบริโภคทุเรียนในประเทศจีนเฉลี่ยจุด 7 กิโลกรัมต่อคนที่ประเทศไทย 5 กิโลกรัมต่อคน ที่มาเลเซีย 11 กิโลกรัมต่อคน เอาแค่ประชาชนคนจีนสามารถเข้าถึงทุเรียนได้แล้วก็รับประทานเท่ากับประชาชนคนไทยได้คือ 5 กิโลกรัม ต่อคนจะขึ้นไปประมาน 7 เท่า ปัจจุบันนี้ส่งออกประมานสองแสนกว่าล้าน 7 เท่าก็เป็นล้าน ๆ เพราะฉะนั้นต้องเน้นเรื่องขนส่งซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ตรงนี้ก็เป็นจุดหนึ่ง ที่เราต้องพยายามแก้ไขให้ได้

เรื่อง Logistic ที่ Easy to do business ที่เหนือกว่านั้นคือว่าถ้าเราสร้างความเร็วสูงแล้วรถไฟความเร็วสูงมาแล้ว เรื่องของ Border Control เนี่ยก็ต้องทำให้ทันสมัยเรื่องของ Single Windows ที่ของที่จะส่งผ่านจากไทยไปลาวเนี่ย การอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการเนี่ย เป็นเรื่องสำคัญปัจจุบันนี้ต้องมีการผ่านหลายโต๊ะเหลือเกิน ทั้งศุลกากร ทั้งเกษตรกร ทั้งตม. ทั้งอะไรเนี่ย กว่าจะมีการผ่านเรื่องงานเอกสารไปได้เนี่ยใช้เวลานาน ถ้าเกิดใช้เวลานานเกินไป ผลไม้ก็อาจจะเสียได้ใช่ไหม ตนว่าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต้องควบคู่ไปกับการทำงานเพื่อที่จะให้ Easy to do business ง่ายขึ้น ฉะนั้นรัฐบาลนี้ก็ต้องทำควบคู่กันไป เมื่ออาทิตย์ที่แล้วตนไปที่หนองคาย ไปสั่งการว่าตนจะลองใช้จังหวัดหนองคายด่านนี้ให้เป็นด่านในการทดลองที่จะทำให้ Single Windows, Single From ที่จะเกิดขึ้นได้ ทำให้เอื้อประโยชน์และเวลาให้กับผู้ประกอบการในการที่จะขนถ่ายสินค้าจากเราข้ามไปฝั่งนั้นได้ หากการทำงานตรงนี้ยังไม่รวดเร็วต้องมีการผ่านหลาย ๆ โต๊ะ ถ้าเกิดเกินเวลาไปแล้วบางทีรถไฟต้องวิ่งไปถึงฝั่งนู้นบางทีผลไม้ไปถึงตอนกลางคืน เขาจะไม่รับก็ต้องมีการเก็บไว้ในห้องแช่แข็ง ห้องเย็นซึ่งก็เป็นการเพิ่มภาระให้กับผู้ประกอบการเองกำไรที่จะได้ลดน้อยลงไป รายได้ที่จะได้ก็ลดน้อยลงไป ที่จะไปจ่ายเกษตรกรได้ก็ลดน้อยลงไป คือมันเป็นผลกระทบที่มันตกไปในเชิงลึกหมดเลย เพราะฉะนั้นการแก้ไขปัญหาทางด้านทางด้านโลจิสติกส์ไม่ใช่การทำงานภาคส่วนเดียว ถ้าเกิดแก้ไขรถไฟความเร็วสูงแล้ว มันติดตรงด่านหนองคายความเร็วสูงก็ไม่มีประโยชน์ เพราะคุณเซฟเวลาได้หลายชั่วโมง แต่ก็มันติดตรงวินโดว์ในการที่จะต้องโอนถ่ายสินค้าออกไป มันมีมันมีการทำงานในแง่ของเชิงลึกเนี่ยมากมาย อย่างไรก็ตามรัฐบาลเราก็ตระหนักดีว่าเรื่องของการขยายเส้นทางคมนาคมทั้งหลายเนี่ยถือว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนแล้วต้องทำโดยเร็ว

นายเศรษฐา กล่าวถึงการเดินทางไปต่างประเทศว่า เริ่มจากไปสหรัฐอเมริกา ตนอยากจะใช้คำว่าไป UNGA ไปสหประชาชาติ ก็ถือเป็นโอกาสดี เพราะก็เพิ่งรับตำแหน่ง และก็ถือโอกาสไปเจอผู้นำทั้งหลาย ซึ่งในปัจจุบันเนี่ยเรื่องของภูมิศาสตร์เองก็มีความร้อนแรงอยู่เยอะมากมีคู่กรณี มีการเห็นต่างกันในแง่ของการค้า จีน-สหรัฐก็มีขัดแย้งเรื่องการค้าใช่ไหม ยูเครน-รัสเซีย สหประชาชาติเองก็ตระหนักถึงสิ่งที่เกิดขึ้น การที่เขาจัดประชุมทุก ๆ ปี อาทิตย์ที่ 3 ของเดือนกันยายน เขาก็ต้องหาสิ่งที่นำมาพูดคุยกัน ปีนี้ธีมใหญ่ก็คือเรื่องของพลังงานสะอาด SDG ซึ่งจริง ๆ แล้วอันนี้เป็นเรื่องที่ทุกคนเห็นตรงกันหมดว่าเป็นเรื่องที่ต้องบริหารจัดการให้ดี เพราะเรื่องของอนาคตของลูกหลานเราก็ขึ้นอยู่กับตรงนี้ ซึ่งทุกคนก็เต็มใจที่ไปแล้วก็ไปพูดกัน กับประเทศไทยเราเองก็ได้ไปพูดในหลาย ๆ เวที ไม่ว่าจะเป็นการออกหุ้นกู้สีเขียว ซึ่งจะมีการ Raise Fund เกิดขึ้น ก็เป็นการแสดงเจตจำนงให้ชาวโลกรู้ว่าประเทศไทยเราเป็นห่วงเรื่องนี้ เราใส่ใจเรื่องนี้ เรามีเป้าหมายที่ชัดเจนในการที่จะทำให้เป็น Net Zero Carbon ให้ได้ เป็นเรื่องที่สำคัญซึ่งเราส่งผลต่อในเรื่องของฐานอุตสาหกรรมการผลิต

นายกฯ กล่าวต่อว่า เรื่องบริษัทต่างประเทศมาลงทุนในไทย ตรงนี้ไปพบปะกับผู้นำต่างประเทศแล้วก็ถือโอกาสนี้พบปะกับบริษัทใหญ่ ๆ ที่สนใจที่จะมาลงทุนในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นโรงงานผลิต ไม่ว่าจะเป็น Data Center พวกนี้เหล่านี้ต้องใช้ทรัพยากรทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของทรัพยากรน้ำ ซึ่งตรงนี้เพียงพอ พลังงานสมัย ก่อน 20 ปีที่แล้วผู้จัดมีพลังงานพอมีไฟฟ้าพอ ปัจจุบันนี้พูดถึงเรื่องพลังงานสะอาด ต้องมีให้เพียงพอด้วย ซึ่งตรงนี้เราเองเราก็ต้องไปพูดคุยกับเขา ก็เป็นเรื่องน่ายินดี แต้ถ้าขอไม่เอ่ยนามแล้วกันว่าอาทิตย์หน้าที่จะไปที่ซานฟรานซิสโกไปที่ APEC เนี่ยก็จะมีการไปเจรจาต่อแล้วก็จะมีการเซ็น MOU ด้วย ตรงนี้ก็จริง ๆ แล้วก็คือไปค้าขายนั่นเอง ซึ่งเห็นตามหน้าสื่อต่างๆ ที่ตนพูดไปที่บอกว่า เราก็เป็นเซลล์แมน เราก็ต้องไปบอกว่าประเทศไทยเปิดแล้ว ไม่มีเวลาไหนที่จะดีเท่าเวลานี้ที่จะมาลงทุนที่ประเทศไทย เรามีความพร้อมไม่ว่าจะเป็นมาตรการสนับสนุนทางภาษีโดย boi ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของพลังงานสะอาด ที่เรามีเหนือสิ่งอื่นใดค่าครองชีพของเราเมื่อเปรียบเทียบกับเพื่อนบ้านก็ถือว่าดี แล้วก็มีสิ่งอำนวยความสะดวกในชีวิตที่ดีด้วย ถ้าเกิดจะมีคนย้ายเข้ามาฐานผลิตเข้ามาเขาจะมีครอบครัวมาอยู่ เรื่องของการ Health Care Service ของเราก็ระดับ World Class โรงเรียน International ของเราก็มีให้ลูกหลานเขาอยู่อย่างเพียงพอ เพราะฉะนั้นเรามีความครบในการที่จะเสนอตัวว่าประเทศไทย จะเป็น Hub ของการผลิตในอุตสาหกรรมต่าง ๆ อย่างมากมายนี่ก็คือเป็นที่มาที่ไปของที่เราเดินทางไปต่างประเทศแล้วก็ล้อไปกับเรื่องของที่เดินทางไปเยี่ยมประเทศในอาเซียนไม่ว่าจะเป็นกัมพูชา บรูไน ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย สิงคโปร์ ฮ่องกงด้วย ก็เป็นการไปพบปะแนะนำตัวเองกับท่านผู้นำทั้งหลาย แล้วก็ไปพูดคุยถึงเรื่องโอกาสในการทำธุรกิจ แล้วก็รับฟังปัญหาที่เรามีกับเขา ที่เขาอยากให้เราช่วยเหลือก็ มีก็มีไปพูดคุยกันเหล่านี้ไปหลาย ๆ ประเทศมา

นอกจากนี้เรื่องความต้องการวัวของจีนและซาอุดีอาระเบีย ก็เป็นส่วนหนึ่งของที่เราประกาศไปว่าเราจะเพิ่มรายได้ 3 เท่าให้กับพี่น้องเกษตรกรภายในเวลา 4 ปี ตรงนี้ทั้งประเทศจีนและประเทศซาอุดิอาระเบียมีความต้องการวัวอย่างมาก ซึ่งก็ล้อไปกับนโยบายของรัฐบาลที่จะสนับสนุนให้มีการเลี้ยงวัวเกิดขึ้น แต่ว่าต้องไปลงรายละเอียดอีกที พอไปซาอุดิอาระเบียมาก็ทราบว่าจริง ๆ แล้วสิ่งที่เขาอยากได้ เขาไม่ได้อยากได้วัวที่เราส่งออกวัวออกมาเป็นตัว ๆ เขาอยากได้วัวที่ชำแหละแล้ว แล้วเขาก็บอกมาว่า วัวที่ชำแหละแล้วจะเพิ่มรายได้ให้กับคนที่เลี้ยงวัว 40% นะ จากการที่ขายวัวเป็นตัวออกไป ตรงนี้เราก็ต้องมานั่งดู ว่าประเทศเราเองมีความสามารถในการที่จะมีโรงเชือดได้มากน้อยขนาดไหนอย่างไร

ทางเราเองก็ไปศึกษามาว่าโรงเชือดที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทยอยู่ที่ชุมพร เชือดได้วันละ 200 ตัว ซึ่งบางคนบอกว่า 200 ตัวนี่ก็เยอะแล้ว ตนวาดภาพให้เห็นแล้วกันว่าไปคุยที่ซาอุมาไปคุยกับองค์กรทางด้านรัฐวิสาหกิจซึ่งลงทุนไปทั่วโลกที่เกี่ยวกับทางด้านความมั่นคงทางอาหารของเขา ทั้งเรื่องปศุสัตว์ เกษตรกรรม เขาไปลงทุนในประเทศบราซิลกับองค์กรที่เลี้ยงวัว แล้วเค้าส่งออกวัวมาเพราะประเทศเขามีแต่ทะเลทราย แทนที่เค้าจะเลี้ยงวัวเอง เขาก็ไปลงทุนในบริษัทต่างๆ เพราะเขามีกำลังเงินที่สูงมาก เพราะเขาขายน้ำมันและมีรายได้ดี เขาบอกว่าที่บราซิลกำลังผลิตในการเชือดวัววันละ 45,000 ตัว แล้วอย่างเช่นถ้าเราสนับสนุนให้คนเลี้ยงวัวที่ประเทศไทยเนี่ย 200 ตัวต่อวันที่ชุมพรเพียงพอไหม และการที่เราจะขนส่งวัวจากที่เชียงรายมาที่ชุมพรเนี่ย มันคุ้มค่ามั้ย อาจต้องสนับสนุนให้มีโรงเชือดไหม ต้องมีเทคโนโลยีไหมในการที่จะเชือดและ แยกส่วนเพื่อให้ดีด้วย แล้วก็ต้องคำนึงถือเรืองของศาสนาด้วยเหมือนกัน เพราะต้องมีฮาลาล การเชือดต้องให้ ถูกต้องถ้าจะส่งไปขายกับเขาเพราะมีประชากรมุสลิมอยู่เยอะ เราก็ต้องคำนึงถึงจุดนี้ด้วยเหมือนกัน ตรงนี้ก็เป็นเกร็ดที่ไม่ใช่ว่าจะส่งออกอย่างเดียว ต้องมาลงรายละเอียดจริงว่าต้องทำอะไรบ้าง

นายกฯ กล่าวถึงปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ว่า มี 3 เรื่องหลัก ถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะพวกนี้หลอกลวงประชาชน ตรงนี้ก็จัดการให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ทำงานร่วมกับตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อกวาดล้างตรงนี้ให้เด็ดขาด เรื่องการปิดบัญชีม้าต่าง ๆ เนี่ยต้องทำอย่างเข้มแข็ง ประสานงานไปที่ดีเอสไอ ถ้าเกิดเป็นแอคเคาท์ที่ใหญ่เพราะถือว่าเป็นคดีพิเศษ แล้วก็ประสานงานที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อให้มีการยึดทรัพย์เกิดขึ้นโดยรวดเร็วตรงนี้เป็นการตัดต้นตอ ให้ความสำคัญตลอด มีการประชุมสั่งการไป ตรงนี้ นายประเสริฐ จันทรวงทอง รมว.ดิจิทัลฯ ได้ตระหนักดีถึงเรื่องนี้ และเป็นเรื่องที่พี่น้องประชาชนระหว่างที่ลงหาเสียงไป ก็มีการร้องเรียนมาเยอะพอสมควร

ขณะเดียวกันยังกล่าวถึงปัญหาหนี้สินครัวเรือนว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หนี้ครัวเรือนขึ้นต่อจีดีพี ขึ้นจาก 76 มาเป็น 91 ซึ่งถือว่าเป็นอันดับ 20 ของโลก ซึ่งถือว่าสูงมาก เราต้องมีการลดตรงนี้ลงไปให้ได้ ลดมี 2 อย่างคือ ลดหนี้ กับเพิ่มรายได้ เราทำทั้ง 2 ทาง เรื่องการลดหนี้จริงๆ แล้ว ทางสถาบันการเงินของประเทศไทยไทยถูกกำกับโดยธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่แล้ว ตรงนี้ก็มีการช่วยกันบริหารจัดการ ทำงานใกล้ชิดกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กับทางธนาคารพาณิชย์ทั้งหลาย แต่ปัญหาใหญ่กว่านั้นก็คือหนี้นอกระบบที่อยู่ตามเพื่นที่ต่างๆ ที่เวลาทุกครั้งที่ออกไปหาเสียงเนี้ย เราจะได้ถูกฟีดแบล็กมาตลอดเวลาว่าเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก เป็นเรื่องที่ทำมาก็ใช้หนี้ไม่หมด ดอกเบี้ยก็ใช้ไม่หมด ดอกเบี้ยจริงๆ แล้วทางการมีมาตราฐานกำหนดไว้ชัดเจน แต่หนี้นอกระบบใช่กันแบบโหดมาก ร้อยละ 10ต่อเดือน ซึ่งปีนึงก็เกินเงินต้น ทั้งนี้ ที่ตนประกาศจะใช้หน่วยงานความมั่นคงเข้ามาช่วยเหลือกัน นายอำเภอ ผู้กำกับ เจ้าหน้าที่กระทรวงการคลัง เรียกเจ้าหนี้กับลูกหนี้มาแล้วก็มาคุยกัน

ส่วนเรื่องปัญหายาเสพติดว่า ถือว่าเป็นปัญหาวาระแห่งชาติ ทุกเวลาตอนหาเสียงเราก็บอกว่าเป็นเรื่องที่ทำอย่างบูรณาการ นายกรัฐมนตรีต้องนั่งหัวโต๊ะในการบริหารจัดการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการยึดทรัพย์ ซึ่ง process นี้ยังช้าอยู่ คนที่ค้ายาเสพติดไม่ได้กลัวติดคุก กลัวเรื่องการถูกยึดทรัพย์ ขณะที่ปัญหาสังคม ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ตามที เรามีการตั้งคณะกรรมการมาแล้ว ทาง นายภูมิธรรม เวชชัย รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ ได้เขียนไทม์ไลน์ที่ชัดเจน

ด้านความคืบหน้าเรื่องสมรสเท่าเทียม ตนได้สั่งการไปอีก 2 อาทิตย์ต้องทำเรื่องของการสอบถามความเห็นของทุกภาคส่วน แล้วเอาเข้าคณะรัฐมนตรีให้ได้ น่าจะเป็นจดหมายฉบับแรกที่ยื่นเข้าไปที่เปิดสภาครั้งต่อไป คือต้นเดือนธันวาคม เรื่องสมรสเท่าเทียมก็เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดเรื่องนึงเหมือนกัน สุราชุมชน ก็ต้องทำเหมือนกัน ก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับทุก ๆ ฝ่ายด้วยเหมือนกัน

นายเศรษฐา กล่าวถึงนโยบายการเกณฑ์ทหารแบบสมัครใจที่รัฐบาลแถลงไว้ต่อรัฐสภาว่า ตอนนี้ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีการพูดคุยกับผู้บัญชาการเหล่าทัพ เรื่องสรรพกำลังของทหารด้วยว่าต้องลดอย่างไร ซึ่งแน่นอนว่าเราต้องให้เยาวชนเรามีสิทธิเสรีภาพในการเลือกประกอบอาชีพ ถือว่าเป็นเรื่องนึงที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำความไม่สบายใจของสังคม ส่วนจุดยืนของรัฐบาลต่อ กอ.รมน. เรื่องของการยุบหรือไม่ยุบ ซึ่งตนต้องบอกตรง ๆ ตนก็ตกใจที่บอกว่าเอ๊ะเราทำไมท่านไม่ยุบ ตนไปหาเสียงที่ไหนไปเอาเทปมาดูได้ ตนไม่เคยบอกต้องยุบ นโยบายที่แถลงก็ไม่เคยบอกเรื่องนี้ แต่ว่าทุก ๆ องค์กรไม่ใช่ กอ.รมน. อย่างเดียว จะเป็นคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) หรือเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ก็ต้องมีการพัฒนา มีการเปลี่ยนแปลงไปตามการเปลี่ยนแปลงไปกับของสังคม สมัยก่อน กอ.รมน. ก็รับมือเรื่องของความมั่นคง เรื่องของคอมมิวนิสต์ เรื่องของการก่อการร้ายทั้งหลาย วันนี้เรื่องสำคัญที่สุดคือเรื่องของปากท้องพี่น้องประชาชน ทางด้านผู้บัญชาการทหารบก และกองทัพเองก็ตระหนักดีถึงเรื่องนี้ก็จะมีการเปลี่ยนแนวทางในการที่จะใช้ กอ.รมน. เป็นแนวทางในการช่วยทำให้ชีวิตของพี่น้องประชาชนดีขึ้น โดยคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของพี่น้องประชาชน ไม่ให้ไปรุกรานสิทธิ์ ไม่ให้ไปจำกัดสิทธิของเขา ตรงนี้ก็มีการให้นโยบายไปและมีการพูดคุยกัน ก็ขอให้ดูกันไประยะกลางแล้วกัน ปัจจุบันนี้ก็มีที่ดินออกมาแล้วหมื่นกว่าไร่ แล้วก็จะทยอยออกมา คือปัญหาน้ำท่วม เรื่องของภัยแล้ง ที่จะเกิดขึ้น ก็เดี๋ยวคอยดูแล้วกันว่าทาง กอ.รมน. โดยที่ตนนั่งเป็นผู้อำนวยการ จะมีการพัฒนาไปได้มากน้อยขนาดไหนอย่างไร

นายเศรษฐา กล่าวถึงอุปสรรคของการทำงานในช่วง 60 วันที่ผ่านมาและชีวิตเปลี่ยนไปเยอะหรือไม่ ว่า 60 วันที่ผ่านมาในชีวิตเปลี่ยนไปเยอะไหม จริง ๆ แล้วเราอาสาเข้ามาทำงาน ไม่มีสิทธิ์บอกว่าเหนื่อย ไม่มีสิทธิ์บอกอะไร แต่ว่าอุปสรรคสำคัญที่สุดก็คือเวลาไม่พอ เวลาไม่พอทุกอย่าง เวลาไม่พอในการทำงาน เวลาไม่พอในการนอน เพราะต้องมีงานพูดคุย ต้องมีงานทำอะไรหลายๆอย่าง ที่มีการบอกกันว่าอยากให้ 1 วันมีมากกว่า 24 ชั่วโมงนั้น อันนี้เป็นเรื่องจริง แต่ก็เป็นเรื่องที่ต้องมีการบริหารจัดการ แต่ก็มีเรื่องเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ทีมงานเองก็ตระหนักดีถึงความสำคัญที่จะต้องเร่งเข็นผลงานออกมา Quick Win ที่เราจะต้องเร่งเขียนผลงานออกมาคุยเรื่องการมีการพูดคุยกันมีการเชื่อมต่อกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ เพราะว่าจริงๆแล้ว 10 ปีที่ผ่านมาจีดีพีไทยโต 1.8% น้อยกว่าเพื่อนบ้าน

“ผมว่าเหนือสิ่งอื่นใด ทุก ๆ ภาคส่วนต้องเข้าใจก่อนว่าปัจจุบันเศรษฐกิจอยู่ในภาวะที่ไม่ค่อยดี เพราะฉะนั้นการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นเรื่องสำคัญ เราเองเราคำนึงถึงความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน แล้วก็ทุก ๆ กระทรวง ทบวง กรม รวมถึงข้าราชการทั้งหลาย ได้พยายามทำงานกันอย่างเต็มที่ แล้วยังทำงานหนักต่อไป ขอให้มีความอดทนแล้วก็รับฟังความคิดเห็นของทุก ๆ ภาคส่วน รัฐบาลนี้ก็จะพยายามเขียนงานออกไปให้ได้โดยเร็วที่สุดเท่าที่สามารถทำได้ แล้วก็ขอบคุณที่มีโอกาสมาพูดคุยกับพี่น้องประชาชนวันนี้ อยากจะขอให้จัดรายการอย่างนี้เยอะขึ้น แล้วก็อาจจะชวนรัฐมนตรี หรือภาคส่วนอื่น ๆมาพูดคุยกัน” นายกฯกล่าว.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password