“ก้าวไกล” ฉะ! นายกฯ ควร นำเรื่อง ยุบ กอ.รมน.เข้าสภาฯ ไม่ใช่ตัดสินใจด้วยตัวเอง
“รอมฎอน ปันจอร์” สส.ก้าวไกล ผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.ยุบ กอ.รมน. ซัด นายกฯ ควรให้สภาถกเถียงเรื่องยุบ กอ.รมน. ไม่ใช่ปัดทิ้ง จี้ “ประชาชาติ – สส.ใต้” ทำไมเงียบกริบ
วันที่ 1 พ.ย.66 นายรอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (กก.) ผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติยกเลิกกฎหมายกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) หรือ ร่าง พ.ร.บ.ยุบ กอ.รมน.โพสต์ข้อความผ่าน เฟซบุ๊ก Romadon Panjor ระบุว่า…
นายกฯ เศรษฐาระบุว่า หากจะดันกฎหมาย #ยุบกอ.รมน จะต้อง #เข็น กันเอาเอง แต่การเข็นขึ้นหรือไม่ขึ้นนั้น ตอนนี้อยู่ในมือของนายกฯ ที่ชื่อเศรษฐาเองนะครับ ร่าง พ.ร.บ.ยุบ กอ.รมน. นั้นถูกประธานสภาฯ ตีความว่าเป็นร่างกฎหมายเกี่ยวด้วยการเงิน ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 133 #นายกรัฐมนตรี จะต้องใช้ดุลพินิจให้ #คำรับรอง ต่อร่างกฎหมายโดยเปิดทางให้สภาผู้แทนราษฎรได้อภิปรายและถกเถียงกัน
การตัดสินใจเรื่องนี้ของเศรษฐาในโมเมนต์นี้จึงสำคัญ มากกว่าคำให้สัมภาษณ์หรือคำแถลงใด ๆ การจะ #ยุบไม่ยุบ กอ.รมน. นั้นอาจเห็นแตกต่างกันได้ แต่ละพรรคการเมือง ก็มีนโยบายแตกต่างกัน แต่การเปิดโอกาสให้มีการให้เหตุผลโต้แย้งกันอย่างสร้างสรรค์ เป็นสิ่งที่ควรกระทำครับ
ผมคิดว่าท่านนายกฯ ไม่ควรต้องกังวลใจหรือหวั่นเกรงต่ออำนาจและอิทธิพลใด ๆ เพราะอย่างน้อย ๆ คะแนนโหวตในสภานั้นจะเป็นตัวตัดสินครับ
แต่ถ้านายกฯ เศรษฐาตัดสินใจตัดตอนโดยการ #ไม่ให้คำรับรอง ตามความเห็นของ กอ.รมน. ที่เสนอมาเป็นการภายในนั้น ภาพลักษณ์ของนายกรัฐมนตรีพลเรือนที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกองทัพจะโดดเด่นเห็นชัดมากยิ่งขึ้น โจทย์ใหญ่่ยังตกอยู่กับพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลหลายพรรคที่สมาชิกพรรคอาจมีท่าทีแตกต่างกันเกี่ยวกับสถานะของ กอ.รมน.
อย่างน้อย ๆ ก็ประธานวิปรัฐบาลที่ออกตัวชัดเจนว่าจำเป็นต้องโละทิ้งองค์กรที่เป็นรัฐซ้อนรัฐอันเป็นมรดกของสงครามเย็น การยุบ กอ.รมน.ถือเป็น “ให้เกียรติทหาร คืนกลับสู่กรม กอง คืนทหารให้ทหาร คืนเสรีภาพให้ประชาชน คืนอำนาจให้หน่วยราชการ”
คำถามโต ๆ ยังปะทะไปยัง #พรรคประชาชาติ ที่มีฐานเสียงสำคัญใน #จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่าจะมีจุดยืนอย่างไร ชายแดนใต้เป็นพื้นที่ความขัดแย้งที่เป็นทั้งจุดกำเนิดและฐานที่มั่นสำคัญของ กอ.รมน.ในเวอร์ชั่นที่เราเห็นในทุกวันนี้ สิบกว่าปีมานี้และโดยเฉพาะหลังการรัฐประหาร งบประมาณและอำนาจที่ขยายตัวมากขึ้นของกองทัพในนามของ กอ.รมน.ได้สร้างผลกระทบต่อวิถีชีวิตและสิทธิเสรีภาพของประชาชน
ที่สำคัญ แนวทางของ กอ.รมน. ยังได้จำกัดทางเลือกในการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งอย่างสันติวิธีและเปิดกว้าง เป็นเพียงความพยายามสร้างความภักดีแบบบีบบังคับ สกัดกั้นการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกทางการเมือง โดยทึกทักว่าวิธีการเหล่านั้นจะสร้างสันติสุขที่สงบราบคาบได้ — แต่เปล่าเลย ความไม่เชื่อมั่นต่อเจ้าหน้าที่รัฐและความอึดอัดใจของประชาชนแพร่กระจายอยู่เต็มไปหมด นี่คือที่มาของแรงสนับสนุนของผู้คนในพื้นที่ชายแดนใต้ให้ #ยุบกอรมน
หากนายกรัฐมนตรี #ไม่แยแส ต่อความรู้สึกเช่นนี้ และปิดกั้นไม่ให้มีการอภิปรายเรื่องนี้ในสภาผู้แทนราษฎร สส.เขตในพรรคร่วมรัฐบาล 12 คนจากทั้งหมด 13 เขตเลือกตั้ง จะตอบคำถามประชาชนอย่างไร?