อาหารเจแพงขึ้น – ราคาวัตถุดิบพุ่ง! คาดคนกรุงฯกินน้อยลง แต่เม็ดเงินโต 3.5%  

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดคนกรุงเทพกินเจลดลง แต่เพราะสารพัดปัญหา “ผักและวัตถุดิบแพง” จากปมน้ำท่วม-ฝนตกหนัก และกลุ่มโปรตีนเกษตรปรับขึ้นราคา ดันราคาอาหารเจพุ่งตามกัน เป็นเหตุให้เชื่อว่าเม็ดเงินช่วง 9 วันเทศกาลกินเจเติบโต 3.5% เผย! โจทย์ท้าทายผู้เกี่ยวข้อง ทำไง? จะกระตุ้นยอดขาย – ขยายฐานลูกค้านอกเทศกาลได้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานสถานการณ์เทศกาลกินเจปี 2566 ที่จะเริ่มขึ้นวันที่ 15-23 ตุลาคม 2566 รวมเป็นเวลา 9 วัน โดยมองว่า ในปีนี้ราคาอาหารเจน่าจะยังคงปรับสูงขึ้น เนื่องจากต้นทุนการผลิตอาหารเจหลายรายการมีแนวโน้มจะขยับขึ้นจากช่วงเทศกาลกินเจปีก่อน ได้แก่ ผักบางชนิด (อาทิ คะน้า ฟักทอง เต้าหู้) และข้าว จากสภาพอากาศแปรปรวนฝนตกหนักและน้ำท่วมในบางพื้นที่ซึ่งกระทบกับปริมาณผลผลิต นอกจากนี้ กลุ่มโปรตีนเกษตรก็น่าจะปรับขึ้นตามความต้องการที่เพิ่มในช่วงกินเจ รวมถึงราคาพลังงานที่ยังอยู่ในระดับสู

ขณะที่ ล่าสุดเดือน ก.ย. 2566 ภาพรวมเงินเฟ้อหมวดอาหารที่บริโภคในบ้านที่เติบโต 1.5%YoY และหมวดอาหารที่บริโภคนอกบ้านที่เติบโต 1.1%YoY สะท้อนให้เห็นว่า ทิศทางราคาอาหารเจทั้งที่บริโภคในบ้านและร้านอาหารก็น่าจะปรับเพิ่มขึ้นเช่นกันเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ช่วงเทศกาลกินเจ ขณะที่จำนวนคนกินเจในปีนี้คาดว่าจะเพิ่มขึ้น จากความนิยมอาหารเพื่อสุขภาพและการกลับมาใช้ชีวิตปกติ

อย่างไรก็ดี ด้วยทิศทางราคาอาหารเจที่มีอาจปรับสูงขึ้นประกอบกับความกังวลต่อค่าครองชีพที่สูงและกำลังซื้อที่ฟื้นตัวไม่เต็มที่ แม้ว่าภาครัฐจะออกมาตรการลดภาระค่าครองชีพบางส่วน อาทิ มหกรรมลดราคา แต่ผู้บริโภคยังกังวลกับภาระค่าใช้จ่ายอื่นๆ รวมถึงรายได้ในอนาคต สะท้อนจากผลการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่ระบุว่า คนกรุงเทพฯที่วางแผนจะกินเจ พยายามปรับพฤติกรรมการใช้จ่ายเพื่อควบคุมงบประมาณการใช้จ่ายตลอดเทศกาล โดยการลดวันกินเจลง รวมถึงเลือกใช้บริการช่องทางการจำหน่ายที่ราคาไม่สูง อาทิ ร้านอาหารตักขายข้างทางและนั่งทานในร้าน

ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงคาดว่าเม็ดเงินค่าใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯ ช่วงเทศกาลกินเจปี 2566 น่าจะอยู่ที่ 3,100 ล้านบาท หรือขยายตัว 3.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยเป็นผลมาจากระดับราคาอาหารเจที่อาจปรับขึ้นราว 2.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน ขณะที่ปริมาณการบริโภคอาหารเจโดยรวมน่าจะเติบโตเล็กน้อยหรือราว 1.0% เมื่อเทียบกับปีก่อน

ทั้งนี้ หากมองไปข้างหน้า ด้วยคนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ยังคงไม่สนใจบริโภคอาหารเจ ถือเป็นความท้าทายต่อทิศทางการเติบโตของธุรกิจอาหารเจ ดังนั้น โจทย์สำคัญคงอยู่ที่แนวทางในการกระตุ้นยอดขายและฐานลูกค้าให้เพิ่มขึ้นแม้อยู่นอกเทศกาลกินเจ โดยเฉพาะการชูจุดขายความคุ้มค่าด้านราคาเมื่อเทียบกับอาหารทั่วไป รวมถึงพัฒนาความพิเศษให้กับเมนูอาหารเพื่อสร้างประสบการณ์การบริโภคที่ดีและนำไปสู่การกลับมาซื้อซ้ำ อาทิ ใช้วัตถุดิบ พรีเมียมที่มีคุณค่าทางอาหารสูง (โปรตีนทางเลือก ซุปเปอร์ฟู้ด) พัฒนาเมนูแปลกใหม่ที่แตกต่างกว่าอาหารเจเดิมๆ ที่มีจำหน่ายในตลาดรวมถึงการจัดโปรโมชั่นหรือส่วนลดให้กับอาหารเจทั้งในและนอกเทศกาลกินเจ

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password