โรงไฟฟ้าพลังงานลม ในเวียดนาม เดินเครื่องจำหน่ายไฟฟ้าแล้ว
ราช กรุ๊ป แจ้งโรงไฟฟ้าพลังงานลมอีโค่วิน 29.7 เมกะวัตต์ในเวียดนาม เดินเครื่องเชิงพาณิชย์จำหน่ายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าเวียดนาม ระยะเวลา 20 ปี
บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) แจ้งว่า โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมอีโค่วิน ขนาดกำลังผลิตติดตั้ง 29.7 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย เสากังหันลมขนาด 3.3 เมกะวัตต์ จำนวน 9 ชุด ดำเนินงานโดยบริษัท อีโค่วิน เอ็นเนอร์จี้ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งบริษัทฯ ร่วมถือหุ้น ร้อยละ 51 ได้เริ่มเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าเชิงพาณิชย์แล้ว เมื่อวันที่ 29 กันยายน ที่ผ่านมา กระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จะจำหน่ายให้กับการไฟฟ้าเวียดนาม (Vietnam Electricity: EVN) ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้า ระยะเวลา 20 ปี โรงไฟฟ้าพลังงานลมอีโค่วินแห่งนี้ เป็นโครงการพลังงานลมติดตั้งบนบก (onshore wind farm) ตั้งอยู่ทางทิศใต้ห่างจากเมืองโฮจิมินห์ ประมาณ 180 กิโลเมตร ในประเทศเวียดนาม โดยก่อนหน้านี้ได้ทำการทดสอบเดินเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Trial run) และทดสอบความน่าเชื่อถือของการเดินเครื่องเป็นระยะเวลาต่อเนื่อง (Reliability test) ตามมาตรฐานของเวียดนามเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
นางสาวชูศรี เกียรติขจรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โรงไฟฟ้าพลังงานลมอีโค่วิน ถือเป็นโครงการพลังงานทดแทนแห่งที่สามของบริษัทฯ ในประเทศเวียดนามที่ผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ นอกเหนือจากโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำซองเกียง 2 และค๊อคซาน รวมกำลังการผลิตตามสัดส่วนถือหุ้นทั้งสามโครงการ 49.63 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีโครงการอยู่ระหว่างการพัฒนาและก่อสร้างอีก 2 โครงการ ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังน้ำซองเกียง 1 และโรงไฟฟ้าพลังงานลมเบ็นแจ รวมกำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้น 65.15 เมกะวัตต์ ซึ่งทั้งสองโครงการมีกำหนดจะเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ในปี 2567 และ ปี 2568 ตามลำดับ
เวียดนามถือเป็นประเทศเป้าหมายตามแผนยุทธศาสตร์ของบริษัทฯ เนื่องจากมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และยังมีการกำหนดแผนการพัฒนาไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนไว้อย่างชัดเจน ทั้งพลังงานน้ำ พลังงานลมบนบก พลังงานลมนอกชายฝั่ง และพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งบริษัทฯ มองเห็นศักยภาพในการขยายการลงทุนต่อยอดธุรกิจพลังงานทดแทนในประเทศเวียดนามได้ โดยดำเนินการผ่านบริษัทฯ เอง หรือผ่านบริษัทร่วมทุน เน็กส์ซิฟ ราช เอ็นเนอร์จี อินเวสเมนต์ (NEXIF RATCH Energy Investment : NREI) ทั้งนี้ บริษัทฯ มีเป้าหมายที่จะขยายกำลังผลิตจากพลังงานทดแทนให้ได้ถึง 4,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2578” นางสาวชูศรี กล่าว
ปัจจุบัน บริษัทฯ มีการลงทุนโครงการพลังงานทดแทน รวมกำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้น 2,933 เมกะวัตต์ คิดเป็นร้อยละ 27 ของกำลังผลิตรวม 10,807 เมกะวัตต์ โดยเป็นกำลังการผลิตเดินเครื่องเชิงพาณิชย์สร้างรายได้แล้ว 1,566 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างการพัฒนาและก่อสร้างอีก 1,367 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ ประเทศออสเตรเลีย ถือเป็นฐานธุรกิจหลักด้านพลังงานทดแทนของบริษัทฯ ด้วยกำลังการผลิตตามการถือหุ้นรวม 1,379.69 เมกะวัตต์ รองลงมาได้แก่ สปป.ลาว 669.10 เมกะวัตต์ ประเทศฟิลิปปินส์ 549.83 เมกะวัตต์ ประเทศอินโดนีเซีย 123.05 เมกะวัตต์ ประเทศเวียดนาม 114.78 เมกะวัตต์ ประเทศไทย 94.76 เมกะวัตต์ และญี่ปุ่น 2.02 เมกะวัตต์